สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนฟื้นฟูฯ

กองทุนฟื้นฟูฯ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดเกี่ยวกับการกู้เงินและการปรับปรุงการบริหารหนี้ รวม 4 ฉบับ
ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่  27 มกราคม 2555 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลายประการ โดยเฉพาะพระราชกำหนดฉบับที่สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์เรียกกันว่า เป็นการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
 

คำว่า กองทุนฟื้นฟูฯ อันเป็นคำเรียกอย่างสั้นนั้น ปัจจุบันมีกองทุนเช่นนี้ ตามกฎหมายอยู่สองกองทุน คือ "กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร" ตั้งขึ้นตาม มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร พ.ศ. 2542 มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระราชกำหนดดังกล่าว กองทุนอีกกองทุนหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ตั้งขึ้นตามมาตรา 29 ตรี แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช  2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 พ.ศ. 2528 ด้วยการ เพิ่ม "หมวด 5 ทวิ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน" ขึ้นเป็นอีกหมวดหนึ่งของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 โดยมีเหตุผล คือ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือในทางการเงินเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันทางการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน   
 

ความเป็นมาของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยต่อไปนี้ จะเรียกว่ากองทุนฟื้นฟูฯ และจะขออนุญาตนำคำอภิปรายของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไปเป็นวิทยากรเสวนาเรื่อง การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อเร็วๆ นี้ มาถ่ายทอดโดยสรุป ซึ่งจะทำให้เห็นภาพความเป็นมาของกองทุนนี้ได้ง่ายและชัดเจน คือ ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อสถาบันการเงินมีปัญหารัฐก็ต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้ฝากเงิน ใน ปี 2528 สถาบันการเงินหลายแห่งมีปัญหามาก การเข้าไปช่วยเหลือคือ ให้อัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อให้สถาบันการเงินอยู่ได้ และให้สถาบันมีเงินจ่ายคืนให้ผู้ฝากเงิน เพื่อไม่ให้ผู้ฝากเงินได้รับความเสียหาย แต่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานในการอัดฉีดเงินไม่ได้ เพราะหากเกิดปัญหาหนี้เสียขึ้นมาจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ จะปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญทางเศรษฐกิจเกิดความเสียหายไม่ได้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น จึงเห็นพ้องต้องกันให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานในการเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน โดยการรับหน้าเสื่อเป็นผู้หาเงิน กู้เงิน อัดฉีดเงินให้สถาบันการเงิน ถ้าสถาบันการเงินไหนไปไม่รอด กองทุนนี้ก็ต้องแบกรับหนี้นั้นไว้ จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อตั้งกองทุนนี้ขึ้นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  
 

สถานะของกองทุนฟื้นฟูฯ ตามมาตรา 29 ตรี ของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช  2485 บัญญัติว่า "ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกว่า "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยฝ่ายจัดการกองทุน เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นๆ ในการปฏิบัติงาน" ในทางปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทยถือว่า กองทุนเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยสายการจัดการกองทุนทำหน้าที่ในการบริหารภายใต้กรอบของคณะกรรมการจัดการกองทุน
 

การดำเนินการของทุนฟื้นฟูฯ ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในระยะที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันทางการเงินที่ประสบปัญหา ทำให้ต้องเข้าไปถือหุ้นในสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์หลายแห่ง และได้เข้าไปบริหารสินทรัพย์ ติดตามหนี้สินที่ได้ให้การช่วยเหลือสถาบันการเงิน ในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 2540 กองทุนฟื้นฟูฯ ต้อง เข้าไปมีบทบาทค้ำประกัน จ่ายเงินคืนให้ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศโดยรวม          
 

ผลของการเข้าไปถือหุ้น ในธนาคารเอกชนของกองทุนฟื้นฟูฯ จากการที่กองทุนฟื้นฟูเข้าไปถือหุ้นในธนาคารเอกชนอาจมีผลทำให้ธนาคารนั้นกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีผลถึงการจ้างงานของพนักงานด้วย เรื่องนี้มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาที่น่าสนใจ คือ
 

ในคดีหนึ่ง เดิมจำเลยเป็นสถาบันการเงินและเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ต่อมา กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงกิจการของจำเลยโดยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ฐานะของจำเลยจึงเปลี่ยน
 

เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันดังกล่าวตาม กฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พนักงานของจำเลยที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ย่อมเปลี่ยนจากการเป็นลูกจ้างจำเลยในฐานะบริษัทมหาชนจำกัดมาเป็นพนักงานของจำเลยในฐานะรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันดังกล่าวเช่นเดียวกัน สิทธิของโจทก์ที่ได้รับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างหรือไม่เพียงใดต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ไม่บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงานฯ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 (คำพิพากษาฎีกาที่ 84/2543)
 

อีกคดีหนึ่ง โจทก์เป็นพนักงานของธนาคาร จำเลยที่เป็นเอกชน  โดยธนาคารจำเลย กำหนดระเบียบให้พนักงานชายเกษียณ เมื่ออายุครบหกสิบปี พนักงานหญิงทั่วไปที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย เกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี ต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงกิจการของจำเลยโดยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ฐานะของจำเลยจึงเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ธนาคารจำเลยอาศัยมติ ครม. ยกเว้นให้ยังสามารถใช้ระเบียบที่เกี่ยวกับพนักงานตามระเบียบเดิมได้ และให้โจทก์เกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี จึงฟ้องจำเลยฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติในการกำหนดอายุการเกษียณของพนักงานชายและหญิงไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า ข้อที่เกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างการเกษียณอายุของพนักงานที่เป็นหญิงและเป็นชายตามระเบียบดังกล่าวนั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะมีระเบียบเกี่ยวกับบำเหน็จพนักงาน ให้พนักงานหญิงทั่วไปซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แต่สำหรับตำแหน่งของโจทก์ คือ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนที่เรียกว่าผู้จัดการส่วน ไม่ปรากฏว่าโดยลักษณะหรือสภาพของงานในตำแหน่งนี้ไม่อาจกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อย่างพนักงานชายได้ ในเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยระเบียบนี้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาฎีกาที่ 1486/2549)


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : กองทุนฟื้นฟูฯ

view