จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ผลจากการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารายได้มาใช้หนี้ นอกจากจะกระทบธนาคารพาณิชย์ต้องโดนเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากเพิ่มเป็น 0.47% จากเดิมที่เก็บอยู่ 0.4% เพื่อไปใช้หนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ แล้ว
ในส่วนของธนาคารรัฐก็โดนหางเลขถูกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากเงินฝาก 0.47% หรือเป็นเงินปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท กับเขาด้วย จากที่ไม่เคยจ่ายเงินจำนวนนี้มาก่อน
เงินที่ได้ให้นำส่งคลังเพื่อตั้งกองทุนที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตั้งเป็นกองทุนเพื่อสร้างความมั่งคงธนาคารรัฐ
แม้ว่าการเสนอของ สศค.จะไม่ตรงกับใจของ รมว.คลัง ที่ต้องการให้นำเงินค่าต๋งธนาคารรัฐมาตั้งกองทุนพัฒนาประเทศไทย แต่ รมว.คลัง ก็ต้องยอมเห็นด้วยกับแนวทาง สศค.
เหตุผลสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากไอเดียการตั้งกองทุนพัฒนาประเทศไทย ถูกโจมตีจากหลายฝ่ายว่าเป็นการดำเนินที่ไม่มีวินัยการเงินการคลัง
ที่สำคัญเป็นการซิกแซ็กล้วงเงินคลังไปใช้จ่ายนอกงบประมาณ หนีการตรวจสอบจากสภา ขาดความโปร่งใส ทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า
นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาประเทศไทยก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะไปพัฒนาอะไร และเป็นการใช้เงินซ้ำซ้อนกับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบน้ำ ที่ตอนนี้มีตัวเงินแต่ยังไม่มีความชัดเจนโครงการที่จะมาใช้เงิน
เหตุผลความไม่พร้อมและไม่ชัดเจนต่างๆ นานา ทำให้ รมว.คลัง ต้องยอมถอยล้มพับกองทุนพัฒนาประเทศไทย แปลงร่างมาเป็นกองทุนเสริมความมั่นคงธนาคารรัฐ
เพราะอย่างน้อยก็ตอบคำถามกับสังคมได้ง่ายขึ้นว่า เงินค่าต๋งของธนาคารรัฐ ก็เอากลับไปพัฒนาธนาคารรัฐ ไม่ได้เอาไปลงทุนก่อสร้างให้นักการเมืองนายทุนได้ผลประโยชน์
การยอมถอยของ รมว.คลัง ยังถือเป็นการแก้เกมไม่ยอมพลาดซ้ำสอง จากที่ก่อนหน้านี้ รมว.คลัง เสียท่าให้กับธนาคารพาณิชย์ไล่เบี้ยให้คลังเก็บค่าต๋งธนาคารรัฐ โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน
ซึ่ง รมว.คลัง ถูกวิพากษ์อย่างหนักว่าตกหลุมพรางธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องการตัดแข้งตัดขาธนาคารรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน ที่ระดมเงินฝากให้ดอกเบี้ยสูง แต่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนเสริมความมั่นคงธนาคารรัฐ แม้ว่าจะดูดีขึ้น แต่เป้าหมายการดำเนินการก็น่าเป็นห่วงและไม่ชัดเจนว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่
โดยมีการกำหนดเบื้องต้นว่า เงินของกองทุนจะไปใช้เพื่อการเพิ่มทุนธนาคารรัฐซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของธนาคาร รัฐหลายแห่งที่มีทุนน้อย แต่ต้องสนองนโยบายรัฐเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้เสียสร้างความเสียหายให้กับธนาคารรัฐจำนวนมาก
นโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม ของรัฐบาล ล้วนแล้วแต่ทำให้ธนาคารรัฐทุนหายกำไรหด
จะเห็นตัวอย่างได้ทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการทุจริตเวียนเทียนจำนำข้าวของกลุ่มนายทุนโรงสี ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง
โครงการบ้านหลังแรกของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่บังคับให้ปล่อยดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนเงินที่รับฝากหรือกู้มา
การปล่อยกู้ซอฟต์โลนของธนาคารออมสิน เพื่อช่วยน้ำท่วมจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เป็นการปล่อยกู้ตามนโยบายของรัฐทั้งนั้น
หรืออย่างโครงการล่าสุดที่คลังจะให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ลดดอกเบี้ยลูกหนี้ดีของธนาคารรัฐที่ไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน5 ล้านราย ลง 2% เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะทำให้รายได้ของธนาคารรัฐหายไปอีกนับหมื่นล้านบาท
ทั้งหมดยังไม่รวมการทุจริตการปล่อยสินเชื่อที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งหนีไม่พ้นมาจากนายทุนและนักการเมือง กรณีของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่มีหนี้เสียล้นธนาคารตามสะสางไม่ตกจนถึงทุกวันนี้
หรือจะเป็นการทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอ แบงก์) ที่วันนี้มีการตั้งกรรมการสอบ ก็ทำท่าจะหลุด เพราะผู้บริหารมีความใกล้ชิดฝ่ายการเมือง
จะเห็นว่า ภาระและความเสียหายของธนาคารรัฐจำนวนมากจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะต้องทำตามนโยบายรัฐ พร้อมกันนั้นก็โดยนักการเมือง นายทุนผู้ใกล้ชิดนักการเมือง เข้ามารุมทึ้งสูบเลือดธนาคารรัฐหนักหนาสาหัสทุกหย่อมหญ้าขึ้นทุกวัน
ดังนั้น การตั้งกองทุนไปอุ้มเพิ่มทุนธนาคารรัฐจึงอาจเป็นดาบสองคม ที่ให้ทั้งคุณทั้งโทษ
แน่นอนว่า การเพิ่มทุนให้ธนาคารรัฐเป็นเรื่องดี ทำให้มีฐานะเข้มแข็งขยายสินเชื่อให้กับประชาชนฐานรากได้มากขึ้น
แต่ในทางตรงข้าม การเพิ่มทุนจะเป็นการถมเงินลงทะเล หากต้องใส่เงินไปอุ้มสถาบันการเงินของรัฐที่กลวงโบ๋และอมโรคร้าย เพราะมาจากถูกการเมืองกัดกินสูบเลือดไป โดยที่ประชาขนไม่ได้รับประโยชน์
ในส่วนนี้ ถือว่าอันตรายมาก เพราะต่อไปนักการเมือง รวมถึงนายธนาคารรัฐที่อิงกับอำนาจการเมือง ก็จะมือเติบกว่าเดิม เพราะรู้ว่าจะล้วงจะควักทำให้สถาบันการเงินของรัฐล้มเสียหาย ก็จะมีเงินจากกองทุนเข้ามาอุ้มไม่อั้น เพราะเงินที่ได้แต่ละปีมีจำนวนมากเหลือเฟือที่จะเพิ่มทุนให้ธนาคารรัฐได้ อย่างสบาย
เป็นที่รู้กันว่า ความอ่อนแอของธนาคารรัฐ เพราะถูกฝ่ายการเมืองครอบงำและหาผลประโยชน์ ตั้งแต่การตั้งพวกพ้องของตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการ เป็นฝ่ายบริหาร และพวกฟ้องของตัวเองเข้าไปกู้ ซึ่งมักตามมาด้วยการเป็นหนี้เสีย เพราะปล่อยมากเกินหลักประกัน หรือตีหลักประกันมากกว่าเป็นจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ การมีกองทุนอุ้มธนาคารรัฐ ก็จะกลายเป็นกองทุนอุ้มนักการเมืองให้เสวยสุขหากินอยู่บนซากหักพังของธนาคาร รัฐต่อไปอย่างไม่ลดละ เพราะรู้ว่าธนาคารมีปัญหาแค่ไหนก็ไม่ล้ม
นอกจากนี้ กองทุนธนาคารรัฐยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของสถาบันการเงินรัฐ เพราะสถาบันการเงินตั้งใจทำดี ต้องส่งเงินเข้ากองทุนไม่ได้ใช้เงิน
ส่วนธนาคารรัฐที่มีปัญหา ไม่ต้องส่งเงินแต่กลับได้เงินทางจากกองทุนอีก ทำให้ต่อไปคนทำดีไม่อยากทำดี และคนไม่ดีก็จะแย่จนไม่สนใจทำดี
นอกจากนี้ การตั้งกองทุนอุ้มธนาคารรัฐ ยังสวนทางกับการเก็บเงินค่าต๋งธนาคารรัฐเสียเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทำไปคิดไป ทำให้ทุกอย่างสับสนไม่เป็นระบบ
เพราะอยู่ดีรัฐบาลก็เก็บเงินค่าต๋งธนาคารรัฐ เป็นการดูดเงินและสร้างต้นทุนกับธนาคารรัฐ ที่เป็นแขนเป็นขาในการสนองนโยบายของรัฐบาล
แต่พอได้เงินมา รัฐบาลไม่ยอมใส่เข้าคลังไปใช้พัฒนาประเทศผ่านวิธีงบประมาณ แค่ดันทุรังมาตั้งกองทุนธนาคารรัฐ ใส่เงินคืนให้ธนาคารรัฐ
แต่การใส่เงินแทนที่จะใส่ให้คนดี แต่เป็นกลายใส่ให้คนมีปัญหา เป็นการถมเงินกลบความเสียหาย
เมื่อทุกอย่างทำโดยขอแก้ปัญหาตายไปดาบหน้า ทำให้ปัญหาแก้ไม่จบ และยิ่งเป็นการเพิ่มพูนปัญหาให้มากขึ้น ที่มองเห็นแล้วและยังมองไม่เห็น และพร้อมจะผุดขึ้นมาให้เห็นเร็วๆ นี้
แม้แต่กองทุนอุ้มธนาคารรัฐเองแค่ตั้งไข่ก็ส่อเค้าให้เห็นว่า ยิ่งอุ้มยิ่งเสียเงินยิ่งอ่อนแอลงไปกว่าเดิม
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน