จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ต้องจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
เพราะกังวลว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมานี้ อาจย้อนกลับมาสร้างแรงกดดันทางด้าน “เงินเฟ้อ” ในประเทศอีกรอบหนึ่งได้
ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติประกาศไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า แนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้ “ไม่น่ากังวล” มากเท่ากับปีที่ผ่านๆ มา และเชื่อว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3% นั้นน่าจะ “เอาอยู่” ...สาเหตุที่แบงก์ชาติมั่นใจเช่นนั้น เพราะมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอลง ทำให้ “เงินเฟ้อโลก” ชะลอตัวลงตามไปด้วย
แต่จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกล่าสุด ที่ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นราคาที่ “สูงกว่า” ราคาสมมติฐานที่แบงก์ชาติใช้ในการประมาณการเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยทั้งปีของปีนี้
แบงก์ชาติตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ (ตลาดดูไบ) เฉลี่ยทั้งปีของปีนี้ ไว้ที่ระดับ 103.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในจำนวนนี้แบงก์ชาติมองว่า ช่วงครึ่งปีแรกราคาน้ำมันดิบอาจยังทรงตัวระดับสูง จึงให้ราคาเฉลี่ยของช่วงครึ่งปีแรกไว้ที่ 106.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองราคาเฉลี่ยไว้ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบล่าสุด เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 122 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 112 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาสมมติฐานโดยเฉลี่ยทั้งปีและครึ่งปีแรก ที่แบงก์ชาติใช้ในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อตลอดทั้งปีของปีนี้
ผลของราคาน้ำมันดิบที่ออกมานั้น อาจทำให้ แบงก์ชาติ ต้องนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” เพื่อปรับสมมติฐานในเรื่องของราคาน้ำมันดิบตลาดโลกกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อเนื่องไปถึงตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย
แม้ว่า ปัจจุบัน กนง. ยังคงใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงานเป็นตัวอ้างอิงในการดำเนินดอกเบี้ยนโยบาย แต่หากราคาน้ำมันยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าอื่นๆ ให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม สุดท้ายคงหนีไม่พ้นที่เงินเฟ้อพื้นฐานต้องขยับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้ประเมินเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2555 โดยเฉลี่ยไว้ที่ระดับ 3% ซึ่งเป็นระดับที่แตะขอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ดังนั้นแล้วในการประชุม กนง. ครั้งถัดไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 21 มี.ค. 2555 คงต้องติดตามดูเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเห็นของคณะกรรมการ กนง. ทั้ง 7 ท่าน ว่า จะมีความเห็นต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอย่างไรบ้าง และกระทบต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 3% นั้น ยังสามารถคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 0.5-3% ได้หรือไม่ โดยข้อสรุปของความเห็นที่ออกมานี้ จะเป็นตัวบ่งบอกทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน