สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โบรกเกอร์ไม่พร้อมเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โบรกเกอร์ประสานเสียง ไม่พร้อมเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ นายกสมาคม บล.เรียกร้องหน่วยงานกำกับมีความชัดเจน ตั้งคำถามกลับได้อะไรจากการเปิดเสรี
กรุงเทพธุรกิจ ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "เปิดเสรีค่าคอมฯ-โบรกเกอร์ ทบทวน หรือเดินหน้า" โดย นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีรภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ได้ปิดกั้นที่จะให้เปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ แต่การที่จะเปิดเสรี ผู้กำกับนโยบายจะต้องตอบโจทย์ให้ชัดเจน และมีแนวทางที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะประเด็นที่พวกเราในอุตสาหกรรมกังวล คือ ผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาไม่ได้ช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งการพัฒนาบุคลากร และการเพิ่มฐานนักลงทุน แต่มุ่งที่จะแข่งขันโดยการซื้อลูกค้า และซื้อคน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม

@ นายกสมาคมบล.ยันไม่ได้ผูกขาด

นางภัทธีรา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโบรกเกอร์ทั้งระบบมีจำนวน 36 ราย แบ่งเป็นถือหุ้นโดยต่างชาติ 50% และอีก 50% เป็นโบรกเกอร์ที่ถือหุ้นโดยธนาคารและกลุ่มเอกชน ซึ่งแต่ละบริษัทมีผู้ถือหุ้นและนโยบายการทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถเข้าไปบังคับการใช้ราคาใดราคาหนึ่งได้ ไม่เช่นนั้นโบรกเกอร์แต่ละแห่งคงไม่สามารถตอบคำถามผู้ถือหุ้นได้ และที่สำคัญที่บริษัทมีบทเรียนราคาแพง และมีสติ ที่จะรู้ว่าจะใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นในระดับไหนที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ยืนยันว่าธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ได้มีการผูกขาดแต่อย่างใด

"ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรมมีจำนวน 36 แห่ง และยังมีใบอนุญาตที่ยังว่างอยู่ประมาณ 4-5 ใบ แต่ก็ยังไม่มีใครที่จะสนใจเข้ามาซื้อเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งเราไม่ได้แคร์ว่าจะที่เป็น discount broker แต่ประสบการณ์ที่เคยเจอจาก discount broker คือ อุตสาหกรรมอยู่ที่เดิม ลงทุนโดยการซื้อคน ซื้อลูกค้า ไม่ได้ช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เพราะขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจ ดังนั้นการเปิดเสรี เราก็อยากได้ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรม และเดินต่อไปได้" นางภัทธีรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นางภัทธีรา ยอมรับว่า สภาพอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรายังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะแม้ว่าโบรกเกอร์จะต้องแข่งขันจนล้มหายตายจากไปเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ก็อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ผลเสียตกอยู่ที่ผู้ลงทุนที่จะต้องซื้อขายโดยไม่มีความรู้ แล้วใครจะการันตีได้ว่าผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาจะไม่เอาเปรียบ

ส่วนกรณีการเรียกร้องให้มีการทบทวนค่าคอมฯ เสรีนั้น ทางสมาคมฯ ได้ต้องการที่จะให้กลับไปตั้งต้นที่เดิม โดยยังคงยอมรับได้ในอัตราค่าคอมมิชชั่นในปัจจุบัน แต่ต้องการให้มีการกำหนดกติกาการเดินที่ชัดเจนเท่านั้น

@ ไส้ในตลาดทุนยังไม่แกร่งพอเปิดเสรี

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัญหาตลาดทุนก็คือการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่หากดูไส้ในกลับพบว่า ธุรกิจเพิ่งจะตั้งหลักได้ไม่นาน โดยเฉพาะฐานจากตัวเลขนักลงทุนมีอยู่ที่ 2 แสนบัญชีมาโดยตลอด โดยที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับโต 1.5 ล้านล้าน ต่างกันถึง 10 เท่าตัว ซึ่งหากภาครัฐพอใจที่ปริมาณบัญชีลูกค้าระดับดังกล่าวและไม่ต้องการให้ตลาดทุนมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ก็เปิดเสรีได้เลย

"ถามกลับไปที่ผู้ทำนโยบายว่าพอใจมั้ยว่าฐานลูกค้าตลาดหุ้นมีบัญชีแค่ 2 แสนบัญชี บจ.ระดมทุนแค่แสนล้านบาท แต่สินเชื่อธนาคารโต 10 เท่าตัวไม่มีใครพูดถึงเลย และที่ต้องการให้ตลาดทุนไปคานอำนาจธนาคารยังอยากเห็นอยู่หรือไม่ ถ้าไม่อยากเห็นก็ให้เปิดเสรีตะลุมบอนไปได้เลย" นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ ยังได้กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือเรื่องของคุณภาพของบทวิเคราะห์ โดยจากตัวเลขของนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้มีจำนวนมากถึง 350-360 คน แต่ตัวเลขสิ้นสุดปี 2554 เหลือแค่ 280 คน สะท้อนให้เห็นว่า หลายโบรกเกอร์ลดต้นทุนโดยการลดปริมาณนักวิเคราะห์ลง ขณะเดียวก็ลดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลลงจากเดิมที่มีการวิเคราะห์ บจ.กว่า 200 บริษัท แต่ล่าสุดลดลงเหลือเพียง 150 บริษัทเท่านั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการลดต้นทุน ก็คือนักลงทุน

@ ยันโบรกฯ ไม่ได้ค้ากำไรเกินควร

ด้าน นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า การที่จะเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องดูว่าเป็นผลร้ายหรือไม่ ซึ่งผู้ดูแลนโยบายจะต้องคิดให้ดี ซึ่งเราไม่ได้อิจฉา หรือขัดขวางคนที่จะเข้ามาในธุรกิจหลักทรัพย์ แต่เราต้องการที่จะรู้ว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา แล้วจะต้องช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งหากดูผลประกอบการที่ผ่านมา จะเห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของโบรกเกอร์ต่ำเมื่อเทียบกับหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่าทำไม เราต้องทำให้คนในอุตสาหกรรมมีจุดยืนร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมันไม่ใช่เป็นการรวมตัวกันเพื่อผูกขาดทางธุรกิจ

"ผมไม่รู้จะโทษใคร เพราะทุกรัฐบาลมีแต่วิชั่นที่วางไว้ แต่ไม่เคยมีการปฏิบัติ ซึ่งธุรกิจหลักทรัพย์อยู่ได้ด้วยเอกชนจริงๆ ซึ่งนโยบายที่กำหนด 10 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าทางการต้องการอะไรแล้วประชาชนจะรู้ได้ยังไง"

ส่วนมุมมองของนักลงทุนสถาบันอย่าง นายสมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน กล่าวว่า จำนวนโบรกเกอร์ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมก็อยู่ในระดับพอใช้ได้ ขณะที่ บลจ.ในอุตสาหกรรมที่มีอยู่จำนวน 20 แห่ง ก็มีการแข่งขันกันเต็มที่ เพื่อที่จะได้เม็ดเงินจากสถาบันใหญ่ๆ มาบริหาร ซึ่งจำนวนผู้ประกอบกับการแข่งขันไม่สามารถเป็นตัวชี้ที่ชัดเจน ซึ่งในแง่ของผู้บริโภค เราก็ไม่อยากเห็นโบรกเกอร์ที่แข่งกันโดยเน้นราคาจนขาดประสิทธิภาพ และคุณภาพ

เขากล่าวว่า ในการพัฒนาตลาดทุนต้องเดินคู่กันไปกับฐานนักลงทุนที่เติบโตตามไปด้วย ซึ่งในมุมของ เราในฐานะที่เป็นนักลงทุนสถาบันก็ต้องสร้างสมดุลให้เหมือนกัน โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยเป็นสำคัญ แม้ว่าราคาค่าคอมมิชชั่นที่ได้อาจจะถูก ทำให้ต้นทุนของบริษัทอยู่ในระดับต่ำ แต่ต้องดูระยะยาวด้วยว่าโบรกเกอร์สามารถอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งหากว่าธุรกิจแข่งขันจนไม่มีคุณภาพทั้งภาพของอุตสาหกรรมก็อาจอยู่ไม่ได้เช่นกัน

"เราอยากเห็นการทบทวน และดูแลการแข่งขันที่สมเหตุสมผล เพราะอุตสาหกรรมไม่มีใครโตได้ด้วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด"

ขณะที่มุมมองของโบรกเกอร์รายใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์ติดอันดับท็อปไฟว์ อย่างนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ คันทรีกรุ๊ป ประสานเสียงด้วยเหมือนกันว่าธุรกิจหลักทรัพย์ยังอยู่ระหว่างช่วงต้องพัฒนา ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องปรับไปแข่งขันแบบเสรี เพราะที่ผ่านมาจากค่าคอมฯ 0.50% การพัฒนาแทบจะไม่มี ทำให้เปิดเสรีรอบแรกโบรกเกอร์จึงล้มเกือบหมด แต่หลังจากที่มาคิดอัตราค่าคอมฯ อยู่ที่ 0.25% เริ่มเห็นการพัฒนาด้านบริการ และงานวิเคราะห์ ซึ่งหลังจากลดค่าคอมฯ มาเป็นขั้นบันไดที่เฉลี่ยทั้งอุตสาหกรรม ที่ 0.16-0.17% ธุรกิจยังรับได้สะท้อนได้จากงานพัฒนาระบบให้รวดเร็วเพื่อตอบสนองลูกค้า และปัจจุบันทั้งอุตสาหกรรมก็ยังยึดอัตราค่าคอมฯ ขั้นบันไดตามสมาคมฯ ซึ่งตนได้ลงไปสำรวจความพอใจของลูกค้า พบว่า 90% พอใจที่ค่าคอมฯ ระดับนี้ มีเพียง 10% ยังอยากให้เปิดเสรีต่อรองเต็มที่ ก็จะเป็นนักลงทุนที่ชอบต่อรองกับทุกโบรกเกอร์

ตบท้ายด้วยมุมมองของนายกิตติชัย เตชะงามเลิศ กรรมการผู้จัดการ โฮมพร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะนักลงทุนในตลาดหุ้น กลับมองว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีการทบทวนอัตราค่าคอมมิชชั่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะมองว่าการเปิดเสรีน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนมากกว่า และหากจะบอกว่าโบรกเกอร์ยังไม่มีความพร้อมคงจะฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องการเปิดเสรีทั้งค่าคอมฯ และเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ นั้นรัฐบาลก็ได้บอกมานานแล้ว และโบรกเกอร์ก็มีเวลานานแล้วในการปรับตัวรับกับการเปิดเสรี

อย่างไรก็ตาม หากทางสมาคมบล. เรียกร้องให้มีการทบทวนค่าคอมฯ ใหม่ มองว่า หากต้องกลับมาใช้อัตราแบบขั้นบันไดเดิม ก็อยากจะเรียกร้องให้มีการปรับเกณฑ์ในส่วนที่จะให้มีการต่อรองเสรีได้ จากเดิมที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่มีการซื้อขายต่อวัน 20 ล้านบาทขึ้นไป ต่อรองได้อย่างเสรี ให้ปรับลดขนาดลงมาเหลือ 5-10 ล้านบาท


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โบรกเกอร์ ไม่พร้อม เปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์

view