จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
เสียงตีฆ้องร้องป่าวสารพัดมาตรการอุ้มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ดังอื้ออึงขึ้นทุกที...
พลันที่นโยบายค่าจ้าง 300 บาท เป็นเสมือน “ไม้เรียว” เร่งรัดภาคเอกชนให้ปรับประสิทธิภาพการผลิตรับมือการแข่งขันที่รุนแรงยามนี้ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา
ทว่า ไม้เรียวที่ว่ากลับกลายสภาพเป็น “มีดเล่มคม” ที่กำลังจ่อคอหอยบรรดาเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายเล็กที่ทุนน้อย อำนาจต่อรองต่ำและมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูง ให้มีอันต้องล้มหายตายจากไป
โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็น “ซัพพลายเชน” หรือเอสเอ็มอีที่ผลิตเพื่อการส่งออก ต้อง “เสี่ยง” ปิดกิจการสูงยิ่ง
เพราะลำพังการปรับตัวรับมือกับราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ บรรดาเอสเอ็มอีต่างก็ปรับตัวกันไม่รู้จะปรับอย่างไรแล้ว
และเมื่อถูก “บีบซ้ำ” จากนโยบายค่าจ้าง 300 บาท “ทันที” แทนที่จะเป็นการทยอยปรับค่าจ้าง เพื่อให้มีเวลาปรับตัวหรือหายใจหายคอกันบ้าง
ในขณะที่ตัวเลขค่าจ้าง 300 บาทของรัฐบาล ไม่มีที่มาที่ไปว่าคิดมาจากไหน เพราะตอนหาเสียงรู้แต่ว่าต้อง “เกทับ” บลัฟพรรคคู่แข่งที่ชูนโยบายเพิ่มค่าจ้าง 25% ใน 2 ปี สนองความต้องการพลพรรคแรงงานที่เป็นฐานเสียงใหญ่ให้ได้
คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่า งานนี้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสภาวะ “ลมหายใจรวยริน”
ล่าสุด หอการค้าไทยสำรวจเอสเอ็มอีที่มีการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-25 คน หรือคิดเป็น 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ 2.2 ล้านราย พบว่านโยบายค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการ 2 แสนราย ต้อง “ปิดกิจการ” เป็นตัวเลขที่ไม่เกินความเป็นจริงเลย
เพราะต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นทันทีเฉลี่ย 57% จากต้นทุนค่าจ้างที่ปกติอยู่ประมาณ 4.5%
เพราะมาตรการบรรเทาผลกระทบนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ที่ภาครัฐควรต้องผลักดันออกมาเนิ่นๆ กลับเพิ่งปรากฏให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย...นั่นคือ...
1.การให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่ง ประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือ ธพว. จัดสินเชื่อเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอี 2 หมื่นล้านบาท
2.การให้เอสเอ็มอีนำส่วนต่างค่าจ้างเดิมและค่าจ้างใหม่มาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า
และ 3.การยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายเครื่องจักรเก่า เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ และให้สามารถหักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรก แทนที่จะทยอยหักค่าเสื่อมภายใน 5 ปี
เมื่อพิจารณาแต่ละมาตรการแล้ว พบว่ามาตรการภาษีเหล่านี้ไม่ต่างกับการให้เอสเอ็มอีแบกรับต้นทุนไปก่อนเป็น ปีๆ แล้วค่อยมาขอคืนภาษีทีหลัง หรือเรียกได้ว่า “จ่ายก่อน-ขอคืนทีหลัง”
ตรงนี้จึงแทบไม่ช่วยบรรเทาสถานการณ์เฉพาะหน้าให้กับเอสเอ็มอีเลย เป็นที่รู้กันว่าเอสเอ็มอี “สายป่านไม่ยาว” ทุนรอนส่วนใหญ่ที่จ่ายไปก่อนล้วนมาจากเงินกู้ที่ล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น
ไม่เพียงเท่านั้น กว่ามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ต้องผ่านการทำคลอดจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้รับการอนุมัติและมีผลปฏิบัติจริง คงต้องใช้เวลานานนับเดือน
สถานการณ์ “แนวรบ” ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ แล้วทันที 39.5% เชื่อได้ว่าอีกไม่เกิน 3 เดือน 6 เดือน เอสเอ็มอีจะอยู่ในสภาพไม่ต่างจากคนไข้ป่วยหนักใกล้ตาย หายใจพะงาบๆ บนเตียง กว่าจะถึง “มือหมอ” ก็อาจสายเสียแล้ว
ขณะที่ สมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้มุมมองว่า หากไล่เรียงแต่ละมาตรการพบว่าแทบไม่ได้ช่วยเอสเอ็มอีเลย และไม่ตอบโจทย์การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 40% จากอัตราเดิม
เช่น กรณีการให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาตัวเอง
นัยน่าจะหมายถึงการเพิ่มสภาพคล่อง หรือการให้เอสเอ็มอีมีแหล่งทุนในการซื้อเครื่องจักรใหม่
แต่ถามว่า วันนี้และที่ผ่านมาเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อจริงหรือไม่ และเท่าไหร่
คำตอบคือ มีการปล่อยสินเชื่อน้อยมาก
เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าปล่อยกู้ เนื่องจากลูกค้าเอสเอ็มอีมีข้อจำกัดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือเป็นลูกหนี้ประวัติดี
หากเป็นลูกหนี้ที่ประวัติผลประกอบการขาดทุน 23 ปี อย่างนี้คงกู้เงิน “ลำบาก”
ส่วนมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ขายเครื่องจักรใหม่และซื้อเครื่องจักรใหม่ รวมทั้งให้นำค่าเสื่อมมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 100% ทันที เป็นมาตรการที่ดี แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เพราะการลงทุนเครื่องจักรไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงทันที เช่นเดียวกับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผลทันที
หรือแม้กระทั่งการให้เอสเอ็มอีนำส่วนต่างค่าจ้างเดิมและค่าจ้างใหม่มาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ก็แค่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
เพราะในความจริงตรงนี้ต้องถามกลับไปยังภาครัฐว่า หากเอสเอ็มอี “ไม่มีกำไร” หรือ “ประสบภาวะขาดทุน” แล้วอย่างนี้จะนำกำไรที่ไหนมาหักลดหย่อนภาษี
เงื่อนไขนี้ผู้ที่ขาดทุนจะไม่ได้สักอีแปะเดียว
คำถามที่ตามมาคือ ในสภาวะปัจจุบันมีเอสเอ็มอีกี่รายที่มีกำไร และมีกี่รายที่เจอภาวะขาดทุน คำตอบคือ เกือบครึ่งของเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 2.2 ล้านราย ขาดทุนยับอย่างต่อเนื่อง
สมมาต เสนอว่า มาตรการที่แก้ปัญหาการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่เหมาะสมที่สุดและรัฐบาลควรต้องดำเนินการ คือ การชดเชยค่าจ้างบางส่วนให้เอกชน เช่น ปีแรกรัฐบาลอาจชดเชยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแทนเอกชน 30% ให้เอกชนจ่าย 10% ปีที่ 2 ก็จ่ายคนละครึ่ง ปีที่ 3 รัฐบาลจ่าย 10% และปีที่ 4 เอกชนรับภาระทั้งหมด
นั่นต่างหากที่เป็นหนทางที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับ ทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน ส.อ.ท. ที่มองว่า ทั้งสามมาตรการเป็นมาตรการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่บอกจะให้ ธพว.ปล่อยกู้ 2 หมื่นล้านบาท ก็มีแค่ตัววงเงิน เพราะเอสเอ็มอีไม่มีหลักทรัพย์ที่จะไปค้ำประกันเงินกู้เหลืออยู่แล้ว
หากจะให้มีการปล่อยสินเชื่อจริง ทวีกิจ เสนอว่า ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้กลายเป็น “ไฟต์บังคับ” ของบรรดาเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการทั้งหลายแล้ว การทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ภายใต้นโยบายนี้ มีทางเลือกไม่มากนัก
ส่วนหนทางปฏิบัตินั้นเอสเอ็มอีล้วนต้อง “พึ่งพา” ตัวเองเท่านั้น
แน่นอนว่า ต้องเริ่มที่ตัวเอสเอ็มอีว่า จำเป็นต้องทบทวนหรือปรับปรุงสายการผลิตสินค้าหรือไม่และอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่มีอยู่หรือการเข้าไปแข่งขันกับในตลาดอื่นๆ
เพราะวันนี้สินค้าที่ผลิตจำนวนมากและผลิตเหมือนๆ กันไม่มีทางไปรอด ทางออกคือผลิตสินค้าที่เป็น “นิชมาร์เก็ต” หรือมีตลาดเฉพาะ ผลิตสินค้าที่แตกต่าง มีดีไซน์ พร้อมๆ กับการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางการผลิตสินค้าใหม่ รีดประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตในทุกกระบวนการที่ทำได้
“หากเราเป็นคนป่วยหนัก ต่อให้หมอเอายามาให้ก็ช่วยไม่ได้มาก ตัวเอสเอ็มอีต้องแข็งแรงก่อน ส่วนมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่เพิ่มเข้ามาก็เป็นเสมือนอาหารเสริม” ผู้จัดการบริษัทการ์เมนต์แห่งหนึ่ง ระบุ
ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ส่งกำลังสนับสนุนให้ “ถูกจุด” เข้าในหัวใจของการอยู่รอดของธุรกิจ และผลักดันมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมออกมาให้ได้
ไม่ใช่แค่การหว่านเงินกู้ โปรยมาตรการลดภาษีอย่างที่รัฐบาลทำอยู่นี้
เพราะสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการไม่ใช่เพียงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเท่า นั้น แต่ยังรวมถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญรายสาขาอุตสาหกรรมที่จะมาแนะนำวิธีการเพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรสูงสุดและการลดต้นทุน ซึ่งรัฐบาลแทบไม่ให้ความสนใจเลยก็ว่าได้
หากเป้าหมายสุดท้าย “เอสเอ็มอี” คือ การยกระดับตัวเองให้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”
เมื่อนั้นการผลิตสินค้าในประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่ปัญหา ขณะที่การ “หิ้วกระเป๋า” ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศที่มีค่าจ้างถูกกว่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก
หากเป้าหมาย “ระดับประเทศ” คือ การสลัดตัวให้พ้นการเป็นประเทศที่แข่งขันด้วย “ค่าจ้างราคาถูก”
การลดต้นทุนประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กัน ไป เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน เอกชนเห็นว่ามีผลกระทบ “น้อยกว่า” เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น
หากไทยต้องการหลุดพ้นจากกับดักการปรับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ผลิตสินค้าแล้วขายได้ ส่วน “แรงงาน” ในประเทศมีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องไม่ใช่เพียงการออกมาตรการที่ “ฉาบฉวย” เช่นที่เป็นอยู่นี้
ต้องทำงานไปพร้อมๆ กันอย่างมีบูรณาการ เป็นบูรณาการที่เกิดจากการกระทำ มิใช่ บู ระ นา กาน ที่เป็นการท่องจำ อ่านออกเสียงแบบอาขยานเยี่ยงนกแก้ว นกขุนทอง
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน