จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นฤมล คนึงสุขเกษม
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์จาก 0.5% เป็น 1%
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (16 เม.ย.) ถือเป็นการขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนครั้งแรกนับจากปี 2550
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สามารถเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ภายใน 1% จากอัตรากลางที่ธนาคารกลางจีนกำหนดในแต่ละวัน
ธนาคารกลางจีนให้เหตุผลว่า การขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นการขานรับความต้องการของตลาด และเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่กระทรวงการคลังจีนแสดงความหวังว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยลดกระแสคาดการณ์ค่าเงินหยวน
เฉิน ตันหยาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจีน กล่าวว่า การขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นการบริหารจัดการด้านนโยบายที่สำคัญ เพื่อการปรับปรุงกลไกข้อมูลของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน และเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน
คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางจีน โดยระบุว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับค่าเงินหยวน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมองว่า การขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน อาจเป็นปัญหาสำหรับบริษัทจีน ในการป้องกันความเสี่ยงจากสกุลเงิน ระหว่างที่ประเทศพัฒนาแล้วยังคงดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเงินมากเป็นพิเศษ
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0% ไปจนถึงปี 2557 เป็นอย่างน้อย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% เมื่อเดือน ธ.ค.
นับจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะผันผวนมากขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางจีนปรับปรุงกลไกอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ โดยยึดหลักความต้องการในตลาดที่อ้างอิงกับตะกร้าสกุลเงินต่างประเทศ แทนการอิงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักอย่างในอดีต
บริษัทจีนที่อาศัยเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ป้องกันความเสี่ยงจากการแกว่งตัวของค่าเงิน จะต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และอาจต้องรับมือกับการเก็งกำไรอย่างหนักในตลาดปริวรรตเงินตราทั่วโลก
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าจะช่วยลดกระแสคาดการณ์ว่าสกุลเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นเพียงด้านเดียว โดยค่าเงินมีทั้งโอกาสแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากขึ้น
การขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเกิดขึ้นในช่วงที่แรงกดดันการคาดการณ์ค่าเงินหยวนผ่อนคลายลง หลังจากจีนรายงานการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 8.9% เมื่อเดือน มี.ค. เทียบกับ 35.8% ในเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
ความวุ่นวายทางการเงินในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการสินค้าจากจีนลดลง
ก่อนหน้านั้น จีนก็เพิ่งรายงานยอดขาดดุลการค้าเดือน ก.พ.ที่ระดับประมาณ 31,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2532
กระนั้นก็ดี แม้เงินหยวนมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า สกุลเงินของจีนจะแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดย ดอยช์แบงก์ ทำนายว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นประมาณ 2-3% ในช่วงไม่กี่ปีนี้
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน