จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...กาญจน์ อายุ
“ปายเละแล้ว” คือคำพูดของคนที่เคยมาปายเมื่อครั้งยังเป็น “ปาย” บรรยากาศของธรรมชาติที่สมบูรณ์ บ้านเมืองที่เงียบสงบ ชาวบ้านปายที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเอง มิใช่บรรยากาศในตอนนี้ที่เต็มไปด้วยเกสต์เฮาส์ ชาวต่างชาติ ร้านขายอาหารฝรั่ง
ความเป็น “ปาย” กำลังลางเลือนไปจากเมืองปาย ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดให้ปายเป็น 1 ใน 4 พื้นที่อนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปายเป็นพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูให้วิถีชีวิตของปายกลับคืนมา เช่นเดียวกับสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่ต้องฟื้นฟูเกาะให้เป็น Coconut Island อีกครั้ง และอีก 2 พื้นที่ คือ เชียงคาน จ.เลย และน่าน ที่กำลังพัฒนาจนเปลี่ยนแปลง ทำให้ ททท.ต้องเร่งอนุรักษ์ให้ความเป็นตัวตนของทั้งสองพื้นที่ยังคงอยู่
ททท.พยายามผลักดันให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวด้วยความรู้สึกถึง คุณค่า รู้รักษาแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และไม่เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน แต่รู้จักที่จะเที่ยวเพื่อให้เห็นอะไรใหม่ๆ อย่างที่พื้นที่นั้นๆ เป็น
แล้วปาย “เป็น” อย่างไร?
ปายเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.แม่ฮ่องสอน เป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยใหญ่ และเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาที่มันส์ได้เรื่อง
เรื่องราวของ “ปอยส่างลอง” เพิ่งเกิดขึ้นในปายเมื่อวันที่ 4-6 เม.ย. 2555 และเคยเกิดขึ้นทุกปีในช่วงนี้ แต่คนนอกถิ่นไม่เคยเห็นหรือแม้กระทั่งรู้จัก เพราะเดือน เม.ย.ไม่มีใครขึ้นเหนือมาเที่ยวปาย คนนอกถิ่นจึงไม่รับรู้ถึงความมันส์ที่ควบคู่ไปกับพลังศรัทธาทางพระพุทธศาสนา ของชาวไทยใหญ่ที่นี่
ประเพณีปอยส่างลอง ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย คือ งานบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนของชาวไทยใหญ่ แต่เมื่อว่าในรายละเอียดมันแตกต่างจากการบรรพชาสามเณรของภาคกลาง เพราะก่อนที่เด็กชายคนหนึ่งจะบรรพชาเป็นสามเณร เขาต้องแต่งตัว แต่งหน้า ทาเล็บ เต้นระบำ ลอยอากาศ!
งานปอยส่างลอง อ.ปาย จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน วันแรก คือ “วันรับส่างลอง”
เด็กชายอายุประมาณ 8 ขวบ หรือชั้นประถม 4 หรือมากกว่านั้น จะเดินทางมาที่วัดป่าข่าม (วัดที่ทำพิธีจะแล้วแต่พื้นที่ว่าใกล้กับวัดใด) ตั้งแต่ตะวันยังไม่ขึ้น เพื่อเข้าพิธีอาบน้ำเงิน อาบน้ำทอง ชำระตัวก่อนเป็นส่างลอง โดยในน้ำจะใส่แก้วแหวนเงินทองเอาไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ว่าที่ส่างลองเอง และทรัพย์สินเงินทองของพ่อแม่ด้วย เมื่ออาบน้ำเสร็จว่าที่ส่างลองจะไปแต่งหน้าแต่งตัวแบบกษัตริย์พม่าโบราณ คือ นุ่งโจงกระเบนผ้าแพร ผ้าลาย หรือผ้าสีต่างๆ สวมเสื้อมีชายเชิงงอนประดับด้วยวัสดุเทียมเพชรพลอย หรือปักดิ้นไหมหลากสี ศีรษะสวมชฎาที่ทำจากกระดาษแข็งมียอดแหลมประดับกระดาษสี เกล้ามวยผมมีผ้าแพรโพกศีรษะและประดับด้วยดอกไม้สดตามฤดูกาล ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเอื้องผึ้ง หน้าตาลงสีสันจัดจ้าน ประกอบกับวาดลวดลายด้วยแป้งสีขาวบนแก้มขนาดเล็กของเด็กชาย ริมฝีปากทาด้วยลิปสติกสีสวย เล็บทาด้วยสีสะท้อนแสง ไม่ต่างอะไรกับการแต่งหน้าหญิงสาวขึ้นแสดงมหรสพ
เมื่อว่าที่ส่างลองพร้อมเข้าพิธีแล้ว ตะแปส่างลอง หรือคนที่คอยประคบประหงมส่างลอง ต้องให้ว่าที่ส่างลองขึ้นขี่คอแล้วพาไปยังศาลาการเปรียญ เพื่อให้ตัวแทนส่างลองกล่าวนำขอศีลจากพระสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์ก็จะให้ศีลให้พรและอบรมสั่งสอนให้วางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นส่า งลอง จากนั้นก็จะมีการ “กั่นตอพระสงฆ์” หรือการขอขมาพระสงฆ์ ก็เป็นอันเสร็จพิธีหลังจากเสร็จพิธีรับส่างลอง
จากนั้นตะแปส่างลองจะนำส่างลองขี่คอลงมาจากวัดเพื่อฟ้อนรำบริเวณหน้าวัด เป็นการเฉลิมฉลองและต้อนรับส่างลอง บรรดาพ่อแม่ส่างลองและเหล่าญาติก็จะโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นการอนุโมทนาสาธุ หลังจากฟ้อนรำฉลองการต้อนรับส่างลองแล้ว คณะส่างลองก็จะเคลื่อนขบวนไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หรือศาลเจ้าประจำหมู่บ้านเพื่อกราบคารวะ จากนั้นก็จะฟ้อนรำถวายและเคลื่อนขบวนไปกราบนมัสการเจ้าคณะอาวาสวัดต่างๆ ในหมู่บ้าน หรือในหมู่บ้านอื่นที่ใกล้เคียงต่อไป จนใกล้เวลาเที่ยงวันจึงนำส่างลองกลับเข้าที่พัก หรือบ้านของส่างลอง เพื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารกลางวัน อาหารที่ส่างลองรับประทานจะเป็นอาหาร 32 อย่าง ไม่ระบุชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง แต่ข้อมูลจากการสอบถามจะเป็นอาหารไทยใหญ่ และอาหารทั่วไปที่ทำได้ง่าย โดยพ่อแม่ของส่างลองจะเป็นคนป้อนข้าวป้อนน้ำปรนนิบัติพัดวีส่างลอง
พิธีรับส่างลองในวันแรกจบลงเพียงเท่านี้ แต่หน้าที่ของส่างลองยังไม่หมด เพราะหลังจากเป็นส่างลองเต็มตัวแล้ว ส่างลองจะถูกแห่ไปตามบ้านญาติ หรือทุกบ้านในหมู่บ้านของตนเองเพื่อให้ศีลแก่ชาวบ้าน เสมือนเป็นการประพาสต้นของกษัตริย์ เจ้าของบ้านที่ส่างลองไปเยี่ยมจะถือว่าเป็นโชคและเป็นบุญที่ได้มีโอกาสต้อน รับ ชาวบ้านจะให้ปัจจัยเป็นเงิน และเงินที่ได้จากการผูกข้อมือสู่ขวัญจะมีตะแปที่เป็นหัวหน้าเก็บรักษาไว้ และจะนำถวายเมื่อส่างลองได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว
วันแรกของส่างลองจบลง แต่เป็นการเริ่มต้นของส่างลองทุกคน ส่างลอง ตะแป พ่อแม่ และญาติมิตรทุกคนจะตื่นขึ้นมาเตรียมตัวเพื่องานแห่ครั้งใหญ่ในวันที่สอง “วันแห่ครัวหลู่” หรือเครื่องไทยธรรมที่ส่างลองจะใช้เมื่อเป็นสามเณร ในวันนี้มีพิธีต่างๆ สำคัญ 3 พิธี คือ พิธีการแห่ครัวหลู่ การเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ และทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง ขบวนแห่จะออกจากวัดป่าข่ามเดินไปตามถนนรอบเมืองปาย (ตามถนนคนเดินที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี แต่ในวันนี้ไม่มีร้านข้างทางและไม่มีนักท่องเที่ยวคนไทย มีเพียงแต่ชาวต่างประเทศที่ชูกล้องถ่ายรูปด้วยความตื่นเต้นเท่านั้น) ใช้เวลาแห่ประมาณ 2 ชั่วโมง ขบวนจะยาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้อาวุโสแต่งชุดขาวอุ้มขันข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีศีลธรรม เป็นผู้บริสุทธิ์เดินนำหน้าขบวน ตามด้วยจีเจ่ หรือกังสดาลใหญ่ จากนั้นเป็นขบวนอุ้บ คือ เครื่องสักการะพระพุทธ ต้นตะเป่ส่า หรือต้นกัลปพฤกษ์ ขบวนครัวหลู่ ขบวนกลองมองเซิงใช้บรรเลงประกอบขบวน เครื่องไทยธรรมที่เป็นปัจจัยถวายพระสงฆ์ ขบวนส่างลอง และปิดท้ายด้วยคณะโบกไพ (บ้องไฟ)
งานนี้ต้องให้ใจแก่ส่างลองและตะแปที่หามส่างลองทุกคน เพราะเส้นทางแห่ไม่ใช่สั้นๆ แต่ทุกคนแรงไม่ตก โยกส่ายตามเสียงกลองตลอดทางท่ามกลางแสงแดดบ่าย 3 รวมไปถึงผู้เฒ่าผู้แก่และคนหามข้าวของทุกคนที่ไม่มีบ่น แต่ยิ้มสนุกไปกับความครึกครื้น
เมื่อแห่รอบหมู่บ้านแล้วส่างลองจะเข้าพิธี “เรียกขวัญ” ที่ศาลาการเปรียญในวัดป่าข่ามอีกครั้ง เหตุที่มีพิธีเรียกขวัญ เพราะช่วงเวลาเป็นส่างลอง คือช่วงที่ส่างลองจะขวัญอ่อนและมีสิ่งขัดขวางบั่นทอนเป็นอุปสรรคอยู่มากมาย พิธีนี้จึงเป็นการเรียกขวัญให้ส่างลองยึดมั่นในปณิธานเดิม คือ การออกบวชแสวงหาโมกขธรรม และยังเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้ายที่มุ่งทำลายส่างลองด้วย
วันที่สองของส่างลองจบลงด้วยขวัญที่อยู่กับเนื้อกับตัวพร้อมที่จะเข้า พิธีบรรพชาสามเณรในวันรุ่งขึ้น แต่ก่อนที่จะบรรพชาส่างลองจะถูกแห่อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นรอบเล็กใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนแห่เข้าวัดป่าข่าม และแห่รอบศาลาการเปรียญ 3 รอบ เมื่อครบแล้วตะแปจะนำส่างลองมาส่งบนศาลาการเปรียญเข้าพิธีบรรพชาส่างลอง หลังเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา ส่างลองทุกคนจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ปลดเครื่องประดับ ลบเครื่องสำอาง โกนคิ้วให้หมดจด แล้วห่มผ้าเหลืองเป็นสามเณรเต็มตัว โดยจะกระทำกันบนศาลาการเปรียญโดยพร้อมกัน หลังจากนั้นสามเณรทุกรูปจะตั้งแถวให้พ่อแม่ ญาติมิตร และผู้ศรัทธาบิณฑบาต ก่อนจะจำวัดอยู่ที่วัดที่บรรพชาจนเปิดภาคเรียน หรืออาจจะน้อยหรือมากแล้วแต่ความต้องการของสามเณร
ความสนุกสนานในขบวนแห่และการเป็นสมมติเทพของส่างลองได้หมดลงในวันนี้ ตะแปหมดหน้าที่ไม่ต้องให้ส่างลองขี่คออีกต่อไป เครื่องดนตรีเลิกเล่น เหลือไว้เพียงความเงียบสงบและเสียงสวดมนต์ของสามเณรน้อยที่เล่าเรียนวิชาทาง พุทธศาสนา
พ่อแม่ของส่างลองที่กลายเป็นสามเณรแล้วต่างปลื้มปีติใจและอุ่นใจที่ได้ เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสู่สวรรค์ แต่พ่อแม่ของส่างลองไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่แท้ๆ เพราะใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะมีเงินจัดงาน 3 วัน 3 คืน ฉันกำลังพูดถึงพ่อข่ามแม่ข่ามที่รับจัดงานและเตรียมเครื่องใช้ทั้งหมดแก่ เด็กชายที่พ่อแม่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอ หรือพ่อข่ามแม่ข่ามที่มีเงินมากมาย แต่กลับไม่มีลูกชายให้เกาะผ้าเหลือง ก็จะไปขอลูกชายบ้านอื่นมาบวชสามเณร เพราะการจัดงานแต่ละครั้งต้องใช้เงินหลักหมื่นเป็นอย่างต่ำต่อส่างลอง 1 คน ถ้าพ่อข่ามแม่ข่ามคนไหนมีเงินมากจะรับดูแลส่างลองหลายคนก็จะยิ่งเสียเงินมาก แต่พวกเขาก็ยอมเสียเพราะได้บุญมากเช่นกัน มีความเชื่อกันว่าคนที่เป็นพ่อข่ามแม่ข่ามจะได้รับบุญกุศลมากกว่าพ่อแม่ จริงๆ เสียอีก แต่ถ้าถามพ่อข่ามแม่ข่ามสมัยนี้จะบอกว่าพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจะได้บุญเท่าๆ กัน เพื่อขจัดปัญหาการผิดใจกันของพ่อแม่
พิธีปอยส่างลองเป็นงานใหญ่ระดับหมู่บ้าน และมันน่าจะใหญ่พอที่จะดึงใจให้นักท่องเที่ยวพิชิต 762 โค้ง ขึ้นมาดูขบวนแห่ส่างลองอันยิ่งใหญ่และมีพลังเป็นอย่างมาก ประเพณีนี้บอกได้เลยว่าน่าดึงดูดกว่าถนนคนเดิน หรืออากาศหนาวที่หาได้ในที่อื่นเสียอีก
ชาวไทยใหญ่ไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในปาย ประเพณีปอยส่างลองไม่ได้แอบจัด เพียงแค่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าปายตัวจริง “เป็น” อย่างไร รู้จักเพียงแค่ผิวเผินผ่านร้านกาแฟ วิวถ่ายรูป หรือสถานที่พักผ่อนในฤดูหนาวเท่านั้น
พิธีปอยส่างลองน่าจะทำให้คนนอกถิ่นอย่างคนกรุงเทพฯ (ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองปาย) รู้แล้วว่าปายมีเสน่ห์ที่ตัวตน และช่วงไฮซีซันของปายไม่ได้อยู่แค่ปลายปี
ลุกขึ้นไปเปิดปฏิทินปีหน้าแล้วกากบาทตัวโตไว้บนต้นเดือน เม.ย.ไว้ได้เลย และเขียนให้ตัวโตกว่าด้วยคำว่า “ต้องไปปอยส่างลอง ปาย!”
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน