จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ธนพล ไชยภาษี
ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่สามารถดึงคำมั่นจากประเทศสมาชิกว่าจะสมทบทุนเข้ากองทุนฉุกเฉินได้มากทะลุ เป้าไปอยู่ที่ 4.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
แน่นอนว่าการระดมทุนดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายและเต็มไปด้วย “เกมการเมือง” ภายในของไอเอ็มเอฟเองอย่างหนักหน่วง ในเมื่ออะไรๆ ที่เป็นอยู่ในไอเอ็มเอฟนั้นถูกมองว่า “ไม่แฟร์” นัก ที่ประเทศจากกลุ่มยุโรปมีอิทธิพลเหนือไอเอ็มเอฟอย่างเต็มที่ และยุโรปมักจะได้รับการปฏิบัติ “ที่ดีกว่า” จากไอเอ็มเอฟเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับสัดส่วนสิทธิการออกเสียงโหวตในไอเอ็มเอฟที่กำลังถูกมองว่าไม่ยุติธรรม อย่างยิ่ง สิทธิการออกเสียงส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือของชาติยุโรป และ 8 ที่นั่งในคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟก็ล้วนแต่มาจากยุโรปทั้งสิ้น
แต่สำหรับอีกหลายชาติกำลังพัฒนาและชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้น หลายประเทศเริ่มก้าวขึ้นมามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นแต่กลับมีสิทธิใน การออกเสียงโหวตน้อยกว่าชาติยุโรปบางชาติ ทั้งๆ ที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่า และสถานะเศรษฐกิจของยุโรปบางประเทศในปัจจุบันก็เริ่มใกล้ “ล่มจม” ด้วยซ้ำ
แต่ประเทศเหล่านั้นกลับยังมีอำนาจเหนือประเทศอื่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า!
เช่น อิตาลี ผู้ป่วยคนล่าสุดของกลุ่มยูโรโซนกลับมีสัดส่วนการออกเสียงโหวตถึง 3.16% เกือบเท่ากับสัดส่วนการออกเสียงโหวตของจีน ซึ่งมีขนาดจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐเท่านั้น แต่มีสัดส่วนการออกเสียงโหวตอยู่ที่ 3.81% ส่วนอินเดีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าอิตาลีนัก ก็มีสัดส่วนในการออกเสียงอยู่ที่ 2.34% เท่านั้น
ดังนั้น การที่ไอเอ็มเอฟจะเรี่ยไรเงินบริจาคสมทบจากชาติสมาชิกจึงกลายเป็นไม่ง่าย ทันที เมื่อประเทศสมาชิกที่เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา เริ่มแสดงออกซึ่งความไม่พอใจถึงความ “ไม่ยุติธรรม” ดังกล่าว และเริ่มมีปากมีเสียงที่ดังชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า
ถ้าไอเอ็มเอฟอยากได้เงิน ก็ต้องเอาเสียงโหวตมาแลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ บริกส์ อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย จีน และอินเดีย ที่มีท่าทีแข็งกร้าว และ “เขี้ยว” อย่างเด่นชัดต่อเรื่องการปฏิรูปเสียงโหวตในครั้งนี้
กระนั้นก็ตาม ไอเอ็มเอฟก็สามารถบรรลุเป้าหมายการระดมทุนไปได้ในโค้งสุดท้าย หลังจากที่กลุ่มประเทศบริกส์ยอมที่จะให้คำมั่นจะสบทบทุนเงินช่วยเหลือไปที่ 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งแม้ว่าจะน้อยกว่าที่ชาติยุโรปที่ให้ไว้อยู่ที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ถือว่าเงินจำนวนนี้จาก บริกส์คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ยอดของกองทุนฉุกเฉินทะลุเป้า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ดังนั้น จึงเป็นงานหนักของ คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ที่จะต้องดึงให้คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟยอมลงนามในข้อตกลงปฏิรูประบบ การออกเสียงใหม่ ที่เคยเห็นชอบกันมาตั้งแต่ปี 2010 และจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงในปี 2014 นี้
อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มประเทศบริกส์ยอมช่วยสมทบทุนในครั้งนี้ ถือว่าไม่ใช่เป็นการช่วยแบบธรรมดา หว่านเงินไปเฉย บริกส์กลับอุบไต๋ไม่เปิดเผยว่าแต่ละชาติสมาชิกบริกส์นั้นจะให้เงินกันชาติละ เท่าไหร่
นั่นเป็นเพราะว่า บริกส์ต้องการรอคำมั่นดูการปฏิรูปของไอเอ็มเอฟว่าในที่สุดแล้วไอเอ็มเอฟจะ ให้สิทธิการโหวตเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่ง ถ้า “ไม่” ก็อย่าได้หวังจะได้เงินช่วย แม้เงินจำนวนนั้นจะน้อยกว่าเงินจากยุโรป แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้กองทุนฉุกเฉินของไอเอ็มเอฟ “แหว่ง” ไปได้ในที่สุด
พูดง่ายๆ ก็คือ บริกส์ กำลัง “บลัฟ” ไอเอ็มเอฟอย่างชาญฉลาด โดยที่ไอเอ็มเอฟไม่มีทางเลือกนอกเหนือจากการเพิ่มสิทธิการออกเสียงให้กับ บริกส์ในท้ายที่สุด
โดเมนิโค ลอมบาร์ดี นักวิจัยแลกเปลี่ยนจากสถาบันบรูคลิน ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิดถึงกับบอกว่า การตัดสินใจของบริกส์ที่จะไม่เปิดเผยจำนวนเงินนั้น ทำให้บริกส์ได้แต้มต่อมากโขทีเดียว
“บริกส์ได้เรียนรู้ว่า ถ้าจะลุยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการแบบ “พรีเอ็มทีฟสไตรก์” หรือการชิงลงมือก่อนนั่นเอง!”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับ บราซิล สมาชิกบริกส์ ที่ส่งเสียงดังเรียกร้องให้ไอเอ็มเอฟปฏิรูประบบสัดส่วนเสียงโหวตมากที่สุด นั้น ได้ย้ำมาตลอดว่า การเปิดเผยตัวเลขบริจาคจะต้องขึ้นอยู่กับว่าไอเอ็มเอฟจะให้คำมั่นที่จะเพิ่ม พลังอำนาจการออกเสียงของบริกส์หรือไม่
ส่วนจีนและรัสเซียก็ออกอาการ “แทงกั๊ก” ไม่ต่างกัน บอกว่าต้องขอรอเวลา เพราะต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน ถึงจะรู้ตัวเลขการบริจาคจริงๆ
ในท้ายที่สุดก็จะเป็นงานหนักของสตรีที่ชื่อ คริสติน ลาการ์ด หญิงเหล็กแห่งไอเอ็มเอฟนั่นเอง ที่จะต้องเดินหน้าการปฏิรูประบบการออกเสียงที่เคยให้คำมั่นเอาไว้ โดยที่
... จะต้องกดดันให้สหรัฐยินยอมรับการปฏิรูปครั้งนี้ให้ได้
... จะต้องสร้างความมั่นใจว่ายุโรปจะยึดมั่นในคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะลด บทบาทของตัวเองในไอเอ็มเอฟลง ด้วยการแบ่งเก้าอี้ 2 จาก 8 ที่ควบคุมอยู่ให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะต้องแล้วเสร็จให้ได้ก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลัง ของสมาชิกไอเอ็มเอฟในเดือน ต.ค.นี้ ว่าเสียงของโลกกำลังพัฒนาจะดังกระหึ่มขึ้นกว่าเดิมบนเวทีไอเอ็มเอฟจริงหรือ ไม่...!
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน