เรื่องทุนสำรองต้องมองที่ความเสี่ยง
โดย : ดร.ไสว บุญมา
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วงนี้มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นอีกครั้งเรื่องการนำทุนสำรองของชาติออกมาจากอำนาจบริหารจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำไปลงทุน
ผู้ต้องการนำออกมาอ้างว่าจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่ามาก เนื่องจากการลงทุนและการบริหารจัดการเศรษฐกิจยุคใหม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในที่อาจนึกกันไม่ค่อยถึง จึงขอนำมาเสนอให้พิจารณา
ความเสี่ยงภายนอกที่อาจยังไม่ได้นำมาพิจารณากันอย่างขว้างขวางมีอยู่สามด้านด้วยกัน ด้านแรก ได้แก่ เรื่องภูมิอากาศซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยอมรับแล้วว่าได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ผลของการเปลี่ยนได้แก่การเกิดบ่อยขึ้นและแต่ละครั้งร้ายแรงขึ้นของภาวะต่างๆ รวมทั้งลมพายุทุกชนิด ฝนและหิมะตกหนักผิดปกติ ความหนาวจัดและความร้อนจัดของฤดูกาล และความแห้งแล้งติดต่อกันนานเป็นแรมปี ภาวะเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบทางลบสูงยิ่งต่อเศรษฐกิจและจะเกิดที่ไหนเมื่อไรไม่มีใครอาจคาดเดาได้ล่วงหน้า
ด้านที่สอง ได้แก่ โครงสร้างทางอำนาจของเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญด้วย สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจและเคยเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ที่สุด แต่ตอนนี้กลับเป็นลูกหนี้ใหญ่ที่สุด อำนาจอันเกิดจากขนาดของเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปจากประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้ต่อคนสูงในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีรายได้ต่อคนปานกลางซึ่งต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางอำนาจนี้มีโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงสูง จะเห็นว่าสหรัฐเพิ่งปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่โดยหันกลับมาเพิ่มกำลังทางทหารในย่านตะวันออกไกลอีกครั้งหลังจากเกือบ 40 ปีนับจากวันที่สหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม
ด้านที่สาม ได้แก่ โลกขาดแนวคิดสำหรับบริหารจัดการเศรษฐกิจยุคใหม่ นโยบายที่วางอยู่บนฐานของการหลอมรวมแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ออกมาจากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์และนักเศรษฐศาสตร์รุ่น “โบราณใหม่” (Neoclassic) นั้นหมดสมัยไปแล้ว ปัญหาในอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นในช่วงนี้จึงมีความยืดเยื้อสูง (เคนส์บอกให้ทำงบประมาณขาดดุลและกระตุ้นการใช้จ่ายเมื่อเศรษฐกิจซบเซา ส่วนแนวคิด “โบราณใหม่” ใช้สมมติฐาน 3 ข้อหลักๆ ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง นั่นคือ ทุกฝ่ายในสังคมมีข่าวสารข้อมูลชนิดสมบูรณ์แบบและเท่าเทียมกัน ทุกคนและองค์กรต้องการแสวงหาประโยชน์สูงสุดเพื่อตัวเอง และบุคคลตัดสินใจด้วยเหตุผลอย่างเดียวโดยไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง)
เราทราบดีแล้วว่าในยุคนี้เทคโนโลยีได้ทำให้โลกไร้พรมแดน เมื่อเกิดอะไรขึ้นในส่วนใดของโลก ผลกระทบจะลุกลามไปถึงส่วนอื่นอย่างรวดเร็ว ประเทศที่บริหารจัดการดีต้องมีส่วนใช้กรรมร่วมกับประเทศที่มีปัญหาไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากภัยธรรมชาติหรือจากการบริหารจัดการแบบไร้คุณภาพ นั่นหมายความว่า เราจะต้องหาทุนสำรองเก็บไว้ให้มากกว่าที่เคยคิดว่าเพียงพอ
ส่วน ความเสี่ยงภายในของเมืองไทยได้แก่การขาดประสบการณ์และความฉ้อฉล เราทราบดีแล้วว่าการบริหารจัดการกองทุนนั้นมิอาจทำกำไรได้เสมอไปแม้กระทั่งในหมู่ของผู้มีประสบการณ์มานานแล้ว ฉะนั้น การที่ผู้บริหารกองทุนมือใหม่เช่นไทยจะไปจ้างพวกเขาจึงไม่ใช่คำตอบ แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่าความฉ้อฉลของคนไทยโดยเฉพาะในแวดวงนักการเมือง การดึงทุนก้อนใหญ่ออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มีความฉ้อฉลในกมลสันดานเข้าไปจุ้นจ้านผ่านวิธีต่างๆ รวมทั้งการแต่งตั้งพรรคพวกเป็นกรรมการด้วยค่าตอบแทนสูงลิ่ว การไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในต่างประเทศเพื่อรับบริหารจัดการให้กองทุนไทย และการนำทุนสำรองของไทยไปลงในกิจการของพวกเดียวกันในต่างแดน
ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความฉ้อฉลไม่ใช่ของใหม่ เมืองไทยล้มละลายในปี 2540 เพราะความฉ้อฉล ความล้มละลายครั้งนั้นผมอ่านว่าเป็นอาการของความป่วยทางศีลธรรมจรรยาของสังคมไทยและได้พยายามเน้นย้ำติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแต่ไม่มีใครรับฟัง อย่างไรก็ดี ตอนนี้เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบลเห็นด้วยแล้ว ย้อนไปสองปี คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 แนะนำหนังสือเล่มใหม่ของ ดร. โจเซฟ สติกลิตซ์ ชื่อ Freefall : America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ดร. สติกลิตซ์มองว่าปัญหาพื้นฐานของสังคมในตอนนี้มีที่มาจากความตกต่ำทางด้านศีลธรรมจรรยา เขาเรียกสภาพเช่นนี้ว่า “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” (moral deficit)
เหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วงเวลา 15 ปี น่าจะชี้บ่งอย่างแจ้งแล้วชัดว่า สังคมไทยขาดดุลทางศีลธรรมจรรยาชนิดน่าวิตกแค่ไหน ฉะนั้น จึงมองได้ว่า แรงจูงใจที่จะดึงทุนสำรองของชาติออกมาเล่นแร่แปรธาตุกันนั้นเป็นอาการหนึ่งของการขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา มันจึงเป็นความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งซึ่งจะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ หากเมื่อนำความเสี่ยงทั้งหลายมารวมกันแล้วเห็นว่ามันไม่น่าจะสร้างปัญหาหนักหนาสาหัสก็จงลงมือดึงทุนสำรองออกมา แต่ถ้าไม่มั่นใจเต็มร้อยก็จงปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารจัดการต่อไปเถิด
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน