สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหานโยบายการคลังของสหรัฐ

ปัญหานโยบายการคลังของสหรัฐ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อพูดถึงปัญหานโยบายการคลังเรามักจะนึกถึงประเทศในกลุ่มผู้ใช้เงินยูโร โดยเฉพาะกรีกซึ่งยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลผสม เพื่อสานต่อนโยบายรัดเข็มขัด
ทางการคลังเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจาก Troika (ไอเอ็มเอฟ+สหภาพยุโรป+ธนาคารกลางยุโรป) ได้ ขณะนี้หลายฝ่ายจึงกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่ากรีกจะต้องเลือกตั้งอีกหรือไม่และหากเลือกตั้งอีกครั้งประชาชนจะ “เสียงแตก” หรือจะมอบอำนาจให้ตั้งรัฐบาลผสมที่จะสานต่อนโยบายเดิมหรือไม่ ฝ่ายที่มองโลกในแง่ดีเชื่อว่าประชาชนกรีก 70% ต้องการจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรเช่นปัจจุบัน แม้จะต้องเผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ต้องแลกมากับการต้องรัดเข็มขัดทางการคลังเพิ่มขึ้นไปอีก
 

แม้ว่ากรีกจะเป็นประเทศเล็กแต่หากต้องถูกออกจากกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโร ก็เกรงว่าจะทำให้เกิดการความกังวลว่าประเทศอื่นๆ เช่น โปรตุเกสและสเปนก็อาจต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกับกรีกเป็นรายต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรปและเศรษฐกิจโลก
 

หลายคนอาจมองว่าสหรัฐมีความแตกต่างจากยุโรปเพราะไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ตรงกันข้ามผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐนายเบอร์นันเก้ตอกย้ำเสมอว่าหากเศรษฐกิจสะดุดตัวลงเมื่อใด เขาก็พร้อมที่จะพิมพ์เงินใส่เข้าไปในระบบเพิ่ม โดยมาตรการที่นักลงทุนเฝ้ารอคอยอยู่คือการพิมพ์เงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลรอบที่ 3 (QE3) ซึ่งผลในทางปฏิบัติคือกดดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำติดดินเพื่อให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มได้อย่างสะดวก (ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลโอบามา รัฐบาลกลางสหรัฐขาดดุลงบประมาณปีละ 8-10% ของจีดีพี)

นอกจากนั้นนายเบอร์นันเก้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าการกดดอกเบี้ยให้ต่ำติดดินทั้งระบบนั้นเพื่อกดดันให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (เช่นพันธบัตรรัฐบาล) จนต้องหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่นการซื้อหุ้นและการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยนายเบอร์นันเก้มองว่านโยบายการเงินที่สุดโต่งเช่นนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวและแข็งแกร่งขึ้นแล้ว สหรัฐก็จะมีศักยภาพในการจัดการกับปัญหาหนี้สาธารณะในโอกาสต่อไป (อีก 2-3 ปีข้างหน้า)
 

นโยบาย “ซื้อเวลา” และ "กระตุ้นก่อน-จ่ายทีหลัง" นี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับนโยบายของยุโรปที่ถูกกำกับโดยนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีที่ยึดหลักการ “ไม่ซื้อเวลา” และ “ต้องรัดเข็มขัด+ปฏิรูปเศรษฐกิจทันที” เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือเป็นงวดๆ จึงเป็นเรื่อง ที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเมื่อเวลาผ่านไปสัก 10 ปีแล้วน่าจะสามารถมองย้อนหลังกลับมาดูได้ว่าแนวคิดของฝ่ายใดถูกต้องระหว่างยุโรปกับสหรัฐ
 

แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐนั้นก็ใช่ว่าจะราบรื่นไปทั้งหมด ปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีวันดีคืนเริ่มอ่อนตัวลง (เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเพียง 115,000 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 160,000 ตำแหน่ง) แต่นักลงทุน (ในตลาดหุ้น) บ่นว่าตัวเลขไม่ดีมากแต่ก็ไม่ย่ำแย่จนจะทำให้นายเบอร์นันเก้ต้องประกาศใช้ QE3 ออกมากระตุ้น จึงกำเนิดศัพท์ใหม่ “bad Goldilocks” กล่าวคือนิทานเรื่อง Goldilocks นั้นสะท้อนความรู้สึกของเด็กผู้หญิงที่หลงป่าและเข้าไปพักพิงในบ้านของครอบครัวหมีและพบว่าทุกอย่างของลูกหมีนั้นมีความพอดีคือไม่แข็งเกินไปหรืออ่อนเกินไปและไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป จึงนำมาสู่คำศัพท์ที่ใช้กันในหมู่นักลงทุนว่าหากเศรษฐกิจมีลักษณะ Goldilocks ก็หมายความว่าเป็นเศรษฐกิจที่มีความพอดีไม่ร้อนแรงเกินไปจนต้องเป็นห่วงว่าธนาคารกลางจะปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ก็ไม่เย็นเกินไปคือเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวอย่างเชื่องช้าจนกระทั่งทำมาหากินฝืดเคือง แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าและกระท่อนกระแท่น นักลงทุนก็มุ่งหวังแต่จะให้นายเบอร์นันเก้จ่ายยาโด๊ป กระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นจึงเกิดการรอคอยให้ตัวเลขเศรษฐกิจย่ำแย่จนกระทั่งนายเบอร์นันเก้ต้องยอมออกมาตรการ QE3 จึงเกิดสำนวนใหม่คือ bad Goldilocks หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ร้อนแต่ก็ไม่เย็นชาเพียงพอที่จะกระตุ้นให้นายเบอร์นันเก้ออกมาตรการกระตุ้น ถือได้ว่าเป็นยุคใหม่ที่นายธนาคารกลางถูกมองว่าเป็นเจ้ามือตลาดหุ้นทั่วโลก
 

นอกจากปัญหา bad Goldilocks แล้วนักลงทุนก็กำลังเพิ่มความกังวลว่านักการเมืองสหรัฐอาจไม่สามารถหาข้อตกลงกันเรื่องมาตรการภาษีต่างๆ ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ประชาชนต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเพราะมาตรการลดภาษีชั่วคราวจะหมดอายุลง โดยประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 470,000 ล้านดอลลาร์ มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานอื่นๆ ที่จะหมดอายุลงอีก 100,000 ล้านดอลลาร์และการลดรายจ่ายภาครัฐตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ในปีก่อนอีก 150,000 ล้านดอลลาร์ หากนักการเมืองสหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติได้อย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้ไม่สามารถผ่านกฎหมายเพื่อขยายเวลามาตรการต่างๆ ข้างต้น ประชาชนสหรัฐจะต้องเผชิญกับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลดลงสูงถึง 720,000 ล้านดอลลาร์หรือ 4.6% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐที่จะขยายตัว 2% หากมีการช่วยเหลือด้านภาษีและรายจ่ายต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เปรียบเปรยประเด็นด้านการคลังดังกล่าวว่าเป็น fiscal cliff หรือความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจตกหน้าผาทางการคลังได้ในปี 2013 หากนักการเมืองสหรัฐไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่ความเห็นยังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมองว่านักการเมืองจะหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ในที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ แต่อีกฝ่ายกลัวว่าความแบ่งแยกทางการเมืองของสหรัฐที่นับวันจะทำให้เกิดความชะงักงันในการดำเนินนโยบาย (gridlock) ได้เพิ่มความเสี่ยงอย่างมากว่านักการเมืองจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีคือต้องปล่อยให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นก่อนจึงจะลงมือแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง
 

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือการวิเคราะห์ของนาย Donald Luskin ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Trend Macrolytics ที่ปรากฏใน Wall Street Journal (7 พฤษภาคม 2012) โดยนาย Luskin ฟันธงว่าการไม่ต่ออายุภาษีเงินปันผลและภาษีกำไรจากสินทรัพย์ เช่น หุ้นและพันธบัตร (capital gain tax) อาจทำให้ราคาหุ้นต้องปรับตัวลง 30% โดยยกตัวอย่างหุ้น ก. ที่ปัจจุบันราคา 100 ดอลลาร์และจ่ายเงินปันผล 10 ดอลลาร์ต่อปีทำให้ผู้ถือหุ้นมีผลตอบแทน 8.50 ดอลลาร์หลังหักภาษี 15% แต่เมื่อพ้นปีนี้ไปแล้วภาษีเงินปันผลจะเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 39.6% ตามเดิม นอกจากนั้นประธานาธิบดีโอบามายังจะเก็บภาษีเงินปันผลเพิ่มอีก 3.8% เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ภาษีเงินปันผลเพิ่มขึ้นเป็น 43.3% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2013 เป็นต้นไป
 

นักลงทุนที่ถือหุ้น ก. ที่เคยได้รับปันผล 8.50 ดอลลาร์ต่อปีจะลดลงเหลือเพียง 5.66 ดอลลาร์ต่อปี หากนักลงทุนยังต้องการผลตอบแทนในอัตราเท่าเดิม สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลงจาก 100 ดอลลาร์เหลือ 66.6 ดอลลาร์ (หรือลดลง 33.4%) เงินปันผลที่ได้รับ (5.66 ดอลลาร์หลังเสียภาษี) จึงจะคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 8.5% ของราคาหุ้น จริงอยู่ผู้ถือหุ้นบางประเภท เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลและผู้ถือหุ้นบางคนก็อาจไม่ได้เน้นการถือหุ้นเพื่อรับเงินปันผล นอกจากนั้นอัตราภาษีดังกล่าวยังเป็นอัตราภาษีที่จะเก็บจากคนรวย ดังนั้นคนที่มีรายได้น้อยจะไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผลที่อัตราสูงดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่ถือหุ้นจำนวนมากคือคนรวยและมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตจะยอมต่ออายุมาตรการลดภาษีเงินปันผลที่จะให้ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกกับคนที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว
 

ในทำนองเดียวกันอัตราภาษีที่เก็บจากราคาหุ้นและพันธบัตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (capital gains tax) จะเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 23.8% ซึ่งนาย Luskin คำนวณว่าจะทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทน 2% จะต้องได้รับผลกระทบคือราคาพันธบัตรจะต้องปรับตัวลดลงประมาณ 12-15% เพื่อให้ผู้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้ผลตอบแทนหลังภาษีเท่าเดิม
 

กล่าวโดยสรุปคือประเด็นเกี่ยวกับภาษีเงินปันผลและภาษีกำไรจากราคาหุ้นและพันธบัตรที่จะปรับเพิ่มขึ้นในปี 2013 นั้น แม้จะเห็นได้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและราคาพันธบัตร แต่ไม่น่าจะมีนักการเมืองสหรัฐคนใดจะยื่นมือเข้ามาต่อสู้เพื่อขยายเวลาการลดภาษีดังกล่าวต่อไปอีก เพราะการลดภาษีดังกล่าวมองได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยอย่างชัดเจนครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหานโยบายการคลังของสหรัฐ

view