จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ความขัดแย้งในธนาคารออมสินระหว่าง พรรณี สถาวโรดม ประธานธนาคาร และเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการ ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน จนธนาคารได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลการดำเนินงานของธนาคารไตรมาสแรกมีกำไรสุทธิเหลือ 3,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้ามีกำไรถึง 6,000 ล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากผลพวงความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555 ที่พรรณีได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้นั่งเป็นประธานธนาคารออมสิน และเริ่มเปิดศึกปะทุความขัดแย้งกับเลอศักดิ์ในทันที ได้ลากผลประกอบการให้ธนาคารทรุดต่ำลง
พรรณีถือว่าเข้ามานั่งเป็นประธานธนาคารออมสินเหนือความคาดหมาย
ถือเป็นคนนอกราชการกระทรวงการคลังคนแรกที่ได้นั่งเป็นประธานธนาคารออมสิน แซงหน้าแม้กระทั่ง อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ปัจจุบันได้นั่งแค่ประธานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เท่านั้น
คนที่ผลักดันพรรณีเข้ามานั่งเป็นประธานธนาคารไม่ใช่คนอื่นไกล คือ นิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เจ้านายเก่าที่พรรณีให้ความเคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง
ว่ากันว่านิพัทธสายตรงถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายใหญ่ต่างแดนผลักดันให้พรรณีได้นั่งเป็นประธานธนาคารออมสิน จากที่ก่อนหน้านี้หลายปีก่อนเคยผลักดันพรรณีนั่งเป็นกรรมการคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาแล้ว
ภาพที่สลัดไม่หลุดระหว่างพรรณีกับนิพัทธ ทำให้การทำงานของพรรณีถูกมองว่าได้รับใบสั่งจากเจ้านายเก่า
การที่พรรณีเข้ามาเป็นประธานกรรมการธนาคาร และชงเรื่องตั้งคณะกรรมการสอบเลอศักดิ์ทันที ก็ถูกมองว่าถูกสั่งมาจากนายเก่าที่ไม่ลงรอยกับเลอศักดิ์ ที่ไม่ยอมช่วยเหลือในคดีที่ถูกธนาคารออมสินฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 500 ล้านบาท กรณีที่สมัยเป็นประธานธนาคารออมสินก่อนปี 2540 นำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ทำให้เสียหาย
คดีดังกล่าวมาถึงขั้นศาลฎีกาที่จะตัดสินในไม่ช้านี้ หลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินให้นิพัทธชดใช้ความเสียหายให้กับ ธนาคารออมสิน
แน่นอนว่า หากศาลฎีกาตัดสินให้แพ้อีก ทางธนาคารออมสินจะต้องดำเนินการฟ้องเอาผิดทางอาญาเป็นขั้นตอนต่อไปอีกคดีหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อเลอศักดิ์เลือกที่จะเมินในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ปฏิบัติการปลดเลอศักดิ์พ้นจากเก้าอี้นี้ให้ไวที่สุด จึงเข้มข้นถึงพริกถึงขิง
พรรณีจึงตั้ง วิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานสอบเลอศักดิ์ ซึ่งเลอศักดิ์คัดค้านว่าวิจิตรมีความสนิทสนมกับนิพัทธ สมัยที่วิจิตรเป็นผู้ว่าการ ธปท. เป็นผู้กำกับดูแลธนาคารบีบีซี และเป็นคนชวนให้นิพัทธนำเงินธนาคารออมสินไปซื้อหุ้นบีบีซีจนได้รับความเสีย หายจนทุกวันนี้
แต่การคัดค้านของเลอศักดิ์ไม่เป็นผล และผลสอบของวิจิตรก็เป็นไปตามคาดว่า แม้ว่าไม่มีหลักฐานว่าเลอศักดิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อทำให้ ธนาคารออมสินเสียหาย
แต่วิจิตรได้ระบุไว้ในรายงานตรวจสอบว่า ถึงอย่างไรเลอศักดิ์ก็มีความบกพร่องในการดูแลติดตามคณะกรรมการอนุมัติสิน เชื่อต่างๆ ดำเนินการไม่ให้เกิดความเสียหายกับธนาคาร
เรียกว่าผูกมัดเลอศักดิ์ไว้จนใครยากจะแก้ไข
ผลสอบของวิจิตรสวนทางกับสมัยที่นั่งเป็นประธานสอบ ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่วิจิตร ระบุว่า การดำเนินการของธีรศักดิ์ไม่มีความบกพร่อง
ผลสอบที่ออกมาทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน ที่ยืนอยู่ฝ่ายเลอศักดิ์ ตอบโต้การทำงานของพรรณีอย่างหนัก ถึงขั้นยื่นหนังสือถึง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้ปลดพรรณีออกจากตำแหน่งประธาน
อย่างไรก็ตาม กิตติรัตน์ไม่ได้ลงมาแก้ไขในเรื่องนี้เลย ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นแผลติดเชื้อลุกลามจนรักษาไม่หาย
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกรรมการธนาคารบางส่วนที่หนุนเลอศักดิ์ แต่จำนวนที่หนุนพรรณีก็มีมากกว่า ได้ยื่นคำขาดให้ยุติความขัดแย้ง
ถึงขนาดมีการขอให้ต่างฝ่ายต่างหยุด โดยผลสอบของเลอศักดิ์ให้ส่งไปให้กิตติรัตน์พิจารณาต่อไป โดยที่กรรมการธนาคารจะไม่ลงความเห็นใดๆ ทั้งนั้น
หลังจากนั้นก็ขอให้แต่ละฝ่ายทำงานของตัวเองไปจนหมดวาระของตัวเอง คือ เลอศักดิ์จะหมดวาระในเดือน ก.ค.นี้
แต่ความขัดแย้งที่เป็นแผลติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษา ก็มีอาการปะทุรุนแรงขึ้นอีก
หลังจากยุติศึกยกแรกไม่นาน พรรณีก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ โดยชงตัวเองเป็นประธานสรรหาเอง โดยที่ข้ามขั้นตอนการประเมินผลงานของผู้อำนวยการคนเก่า และพิจารณาว่าจะต่อวาระให้หรือไม่
แม้ว่ามีกรรมการธนาคารคัดค้าน แต่พรรณีได้อ้างว่านายกรัฐมนตรีสั่งมา ทำให้กรรมการได้แต่มึนและงงที่มีการอ้างชื่อนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ทั้งที่ไม่ได้กำกับดูแลธนาคารออมสินโดยตรง
ด้านเลอศักดิ์ก็ตอบโต้พรรณีชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ส่งคนทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีว่ามีมติ ครม. เดือน มิ.ย. 2552 ไม่ให้ประธานรัฐวิสาหกิจเป็นประธานกรรมการสรรหาผู้บริหารองค์กร เพื่อให้หลักธรรมาภิบาลที่ดี
เรื่องดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า พรรณีไม่ควรนั่งเป็นประธานกรรมการสรรหา และได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการให้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตอนแรกพรรณียืนยันจะลาออก และเปลี่ยนใจในภายหลัง โดยมีคนใกล้ชิดพรรณีไปวิ่งเต้นกับนายกรัฐมนตรีว่า พรรณีเป็นได้ ไม่ขาดคุณสมบัติ ทำให้ทีมงานนายกรัฐมนตรีถึงกับหัวปั่น สั่งให้ สคร.ทำหนังสือรายงานถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีตัดสินชี้ขาด
ส่งผลให้ถึงวันนี้ยิ่งลักษณ์ที่ถูกอ้างว่าเข้ามายุ่งกับการบริหารธนาคาร ออมสินอยู่ตลอดเวลา จะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถนิ่งเฉยกับปัญหานี้ต่อไปได้แล้ว
นายกรัฐมนตรีต้องลงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอยู่บนความถูก ต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องทำไม่ให้ธนาคารเกิดความเสียหายมากไปกว่านี้
ยิ่งลักษณ์สามารถสั่งการให้ รมว.คลัง ที่เป็นผู้กำกับดูแลธนาคารออมสินดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ถึงต้นตอ ไม่ปล่อยไปตามมีตามเกิดอย่างที่ผ่านมาอีกเป็นเวลาหลายเดือน จนธนาคารรวน ขวัญกำลังใจพนักงานระส่ำไปทั่ว
ประเด็นเรื่องการเป็นประธานกรรมการสรรหาได้ไม่ได้ ต้องทำให้ชัดเจน ในเมื่อมีมติ ครม.กำกับไว้ชัดเจน ก็ควรสั่งให้พรรณียอมถอย เพราะการดื้อไม่เป็นประโยชน์ เพราะจะถูกเลอศักดิ์ฟ้องศาลให้กรรมการสรรหาชุดนี้เป็นโมฆะ ทำให้ปัญหาไม่จบสิ้นเป็นปัญหาซ้อนปัญหา แก้ยากขึ้นไปอีก
นี่ยังไม่รวมกับที่เลอศักดิ์จะฟ้องว่าถูกกีดกันจากคณะกรรมการสรรหา ที่เขียนคุณสมบัติให้ตัวเองที่เหลืออายุทำงาน 2 ปี สมัครชิงตำแหน่งไม่ได้ เป็นการเลือกปฏิบัติ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน