สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชูโมเดลแก้แบงก์เน่ายุโรป ตั้ง สหภาพแบงก์ อัดฉีดโดยตรง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ nantiyaw@posttoday.com

วิกฤตการณ์ทางการเมืองในกรีซเพิ่งจะเริ่มซาลงได้ไม่ทันจะหายใจทั่วท้อง และยังไม่ทันจะได้ตัดสินกันด้วยซ้ำว่ายุโรปจะผ่อนคลายการรัดเข็มขัด เพื่อเปิดทางให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนไปด้วยหรือไม่ ปัญหาใหม่ที่ใหญ่ไม่แพ้กันก็ดูจะโถมเข้าสู่ยุโรปอย่างไม่ทันตั้งตัวอีกครั้ง

“วิกฤตการณ์หนี้เน่าสะสมในภาคธนาคารของสเปน” กำลังเป็นปัญหาร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ที่บั่นทอนความเชื่อมั่น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกขายหุ้นทิ้งกันเป็นพัลวัน เพราะไม่ว่าจะมองอย่างไรก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สเปนไม่มีทางแก้ไขได้เพียงลำพัง โดยปราศจากการยื่นมือเข้าช่วยของสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะในสถานการณ์ขณะนี้ที่ตลาดพันธบัตรของสเปนกำลังระส่ำอย่างหนักจาก อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงทุบสถิติใหม่แทบทุกวัน จนอาจทำให้รัฐบาลสเปนไม่สามารถระดมทุนในตลาดพันธบัตรได้อีก

และทางเลือกที่กำลังมีการพิจารณากันอยู่ก็คือ การเปิดทางให้สามารถนำเงินจาก “กลไกเพื่อเสถียรภาพทางการเงินแห่งยุโรป” หรืออีเอสเอ็ม ซึ่งเป็นเพียงกองทุนร่วมเดียวที่ยูโรโซนมีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในเวลาปกติจะสำรองไว้ช่วยรัฐบาลประเทศสมาชิก แต่ทางเลือกใหม่นั้นจะให้ดึงเงินจากอีเอสเอ็มเข้าไปช่วยธนาคารพาณิชย์ใน ยุโรปได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลประเทศนั้นๆ

คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้เสนอทางออกระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ให้มีการตั้ง “สหภาพธนาคาร” ในยุโรปขึ้นมา เพื่อกำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับธนาคารเอกชนในยุโรปทั้งหมด และหากในกรณีที่จำเป็นก็ให้มีอำนาจเข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องช่วยผ่านรัฐบาลของประเทศที่ธนาคารนั้นๆ ประสบปัญหาอยู่

 

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว สหภาพธนาคารจะมีอำนาจบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาทางการ เงินต้องลุกขึ้นมาเร่งจัดการปัญหา โดยที่สหภาพจะมีอำนาจเข้าถึงเงินทุนจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปช่วยธนาคารพาณิชย์ แต่ละแห่งโดยตรง ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงได้มาก และช่วยลดแรงกดดันให้กับหลายประเทศที่กำลังเกิดปัญหาในทำนองนี้ โดยเฉพาะสเปนอีกด้วย

แม้เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นเจ้าของเงินกู้ในสัดส่วนมากที่สุดในกองทุนอีเอสเอ็มจะคัดค้านแนวคิด ดังกล่าว ทว่าสถานการณ์ในตลาดทุนของสเปนที่ย่ำแย่ลงอย่างหนักทุกวัน อาจเป็นปัจจัยกดดันที่บังคับให้ยุโรปไร้ทางเลือกอื่นในที่สุด

โดยปกติแล้วการระดมทุนของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกผ่านทางการประมูลพันธบัตรนั้น มักจะมีดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปีกันไม่เกิน 6–7% เพราะหากต้นทุนกู้ยืมสูงกว่านี้ก็จะไม่คุ้ม และเสี่ยงต่อการที่รัฐบาลไม่มีเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปไถ่ถอนหนี้คืนในภาย หลัง

ทว่า ล่าสุดนั้นอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสเปน ได้พุ่งขึ้นไปถึงระดับ 6.64% หรือใกล้แตะระดับ 7% เข้าไปทุกขณะ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับที่กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส เคยเผชิญมาก่อนจนต้องนำไปสู่การขอกู้เงินภายนอกจากอียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในที่สุด

การที่สเปนมีปัญหาหนี้เน่าสะสมรุนแรงเป็นพิเศษนั้น ไม่ใช่เพราะธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นำเงินไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลที่กำลังมีความเสี่ยงสูงเพียงอย่างเดียวเท่า นั้น แต่ปัญหาหลักๆ เกิดขึ้นจากการนำเงินไปลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกิดฟองสบู่ขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จนธนาคารต่างๆ ต้องประสบภาวะหนี้เสีย หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารแบงเกีย ซึ่งเพิ่งขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอีก 1.9 หมื่นล้านยูโร (ราว 7.53 แสนล้านบาท) ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ตลาดหุ้นสเปน หรือ IBEX ก็ร่วงลงมาอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546 และยังฉุดให้เงินสกุลยูโรอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี มาอยู่ที่ 1.2358 ยูโรต่อเหรียญสหรัฐด้วย

ปัญหาดังกล่าวได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกอย่างหนักไม่แพ้ กรณีของกรีซ เนื่องจากรัฐบาลสเปนกำลังอยู่ในภาวะที่ต้องรัดเข็มขัดลดหนี้อย่างหนัก และปัจจุบันยังมีการขาดดุลงบประมาณอยู่ถึง 8.9% จากระดับจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเพดานที่ยุโรปกำหนดให้ต้องไม่เกิน 3% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลแดนกระทิงดุอาจจะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือภาคธนาคารทั้งหมดใน ประเทศได้ แม้ว่าจะจำเป็นต้องช่วยก็ตาม เพราะภาคธนาคารคือแหล่งเงินที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยใน ประเทศ

ไม่เพียงแต่ภาคการธนาคารในสเปนจะน่าวิตกแล้ว บรรดาธนาคารพาณิชย์ในกรีซก็กำลังประสบปัญหาคนแห่ถอนเงินเนื่องจากไม่มั่นใจเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การเร่งแก้ปัญหาไปที่ภาคการธนาคารในยุโรปโดยตรง และตัดความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับธนาคาร จึงเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุดตามที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนด นโยบายส่วนหนึ่งในยุโรปเห็นพ้องตรงกัน

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการกิจการธนาคารยุโรป ไม่มีอำนาจที่จะเข้าถึงเงินกู้เพื่อปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปโดยตรง กรรมาธิการยุโรปและนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนจึงเห็นพ้องให้มีการปรับเปลี่ยน แก้ไขเพื่อให้ภาคธนาคารในยุโรปมีเสถียรภาพมากขึ้น

ในรายงานตอนหนึ่งของกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ได้ระบุไว้ว่า เป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปแล้วว่า รูปแบบของธนาคารข้ามประเทศในกลุ่มอียูนั้นยังไม่มั่นคงเพียงพอ ดังนั้นจึงเห็นควรให้สามารถใช้เงินจากกองทุนอีเอสเอ็มเข้าไปช่วยเหลือธนาคาร พาณิชย์ในยุโรปได้โดยตรง โดยไม่ต้องให้เงินผ่านรัฐบาลของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้เยอรมนีอาจจะเห็นด้วยในที่สุดหากสถานการณ์ตึงเครียดจนไร้ทางออก และสามารถประนีประนอมกับชาติสมาชิกอื่นๆ ได้ ทว่าแนวทางดังกล่าวก็ยังติดปัญหาเรื่องเวลา เนื่องจากต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติกันในกระบวนการของรัฐสภายุโรป ซึ่งอาจมีขึ้นในช่วงต้นปีหน้าเป็นอย่างเร็วที่สุด และหากผ่านแล้วก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการปลีกย่อยของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อ ให้การยอมรับ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานับปีกว่าที่จะมีการบังคับใช้ออกมาได้

ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลสเปนอาจต้องเป็นรายต่อไปที่ กู้เงินจากยุโรปมาอุ้มภาคธนาคารในประเทศไปก่อน จากแหล่งที่มาถุงเดียวกันอย่างกองทุนอีเอสเอ็ม

จะช่วยวันนี้หรือปีหน้า จะอุ้มรัฐบาลหรืออุ้มธนาคารโดยตรง ที่สุดแล้วยุโรปก็อาจหนีไม่พ้นวังวนของการเข้าพยุงที่ไม่จบไม่สิ้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชูโมเดล แก้แบงก์เน่ายุโรป สหภาพแบงก์ อัดฉีดโดยตรง

view