สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ห้าระดับของ การธนาคารที่ยั่งยืน (sustainable banking)

ห้าระดับของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วิกฤติการเงินรอบล่าสุดซึ่งลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ สเปน อิตาลี ฯลฯ
ร้อนถึงรัฐบาลทุกประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต้องมาสุมหัวหาทาง “อุ้ม” ธนาคารขนาดใหญ่ของตน ตอกย้ำอีกครั้งถึงบทบาทอันเป็นเอกลักษณ์และความสำคัญของสถาบันการเงินในเศรษฐกิจสมัยใหม่
 

วิกฤติครั้งนี้จุดชนวนการยกร่างและออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ มากมาย จุดมุ่งหมายหลักคือพยายามป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติรุนแรงเช่นนี้อีกในอนาคต ดังนั้น กฎเกณฑ์เหล่านี้จึงเน้นการกำจัดหรือจำกัด โทษ ของภาคการเงินต่อเศรษฐกิจจริง
 

ในขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็มีสถาบันการเงินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มุ่งใช้การเงินสร้าง ประโยชน์ ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ธนาคารบางแห่งตีโจทย์จากหลัก “ความรับผิดชอบต่อสังคม” แล้วนำรูปธรรมไปกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ บางแห่งประกาศตัวเป็น “ธนาคารสีเขียว” ปล่อยกู้ให้แต่ธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเชิงรุก บางแห่งไปไกลกว่านั้นด้วยการผนึกหลักความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมองค์กร” สะท้อนผ่านการทำงานของบุคลากรทุกระดับ
 

วงการนี้ปัจจุบันเริ่มเป็นที่รู้จักรวมๆ ว่า “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) ซึ่งพัฒนาเคียงคู่ไปกับความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจเริ่มปรากฏชัด ว่า ธุรกิจที่ “ไม่ยั่งยืน” นั้น มีหน้าตาอย่างไร และธุรกิจที่ “ยั่งยืน” มีหน้าตาอย่างไร
 

กล่าวโดยสรุป คือ ธนาคารที่ยั่งยืนจะไม่ให้การสนับสนุนแก่กิจการที่ไม่ยั่งยืน เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล จะสนับสนุนแต่กิจการที่ยั่งยืนเท่านั้น เช่น เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน กิจการที่ฟื้นฟูชุมชน นอกจากนี้ ธนาคารที่ยั่งยืนบางแห่งยังให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมหลากหลายรูปแบบและพันธกิจ อาทิเช่น บรรเทาปัญหาความยากจน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้พิการ ฯลฯ
 

ผู้นำวงการนี้มีอาทิเช่น ธนาคารทรีโอดอส (ฮอลแลนด์) ธนาคารนิวรีซอร์ส (สหรัฐอเมริกา) ธนาคารบราก (BRAC-บังกลาเทศ) บังโคโซล (บราซิล) แวนซิตี้ (แคนาดา) แซคแบงก์ (มองโกเลีย) ธนาคารคัลจูรา (นอร์เวย์) และ แบงก์เมคู (ออสเตรเลีย)
 

ในปี 2009 ธนาคารที่ยั่งยืน 16 แห่งจากทุกทวีปทั่วโลก รวมทั้งธนาคารที่เอ่ยชื่อไปข้างต้น มารวมตัวกันก่อตั้ง “แนวร่วมโลกการธนาคารเน้นคุณค่า” (Global Alliance for Banking on Values : GABV เว็บไซต์ http://www.gabv.org/) เพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาระดับโลก และส่งเสริมทางเลือกอื่นนอกจากระบบการเงินปัจจุบัน ซึ่งพวกเขามองว่าก่อโทษมากกว่าประโยชน์
 

สมาชิกในเครือข่าย GABV จะต้องมีคุณสมบัติสามข้อ ได้แก่ 1. เป็นธนาคารอิสระที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการ เน้นให้บริการแก่ประชาชน (retail) 2. มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์ และที่สำคัญที่สุดคือ 3. ดำเนินธุรกิจแบบเอื้อสังคม ยึดไตรกำไรสุทธิ (people, planet, profit) เป็นหลัก ไม่ใช่กำไรสูงสุด
 

ปัจจุบันธนาคารที่ยั่งยืนในเครือข่าย GABV ทั้งหมดมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์ ให้บริการแก่ประชาชนกว่า 10 ล้านคนใน 20 ประเทศทั่วโลก ประกาศว่าภายในสิ้นปี 2013 จะช่วยเหลือสมาชิกและสถาบันการเงินที่ยั่งยืนอื่นๆ ระดมทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์ เพื่อหนุนการปล่อยกู้ให้กับชุมชนและประชาชนที่เข้าไม่ถึงการเงินในระบบ รวมถึงกิจการและโครงการสีเขียว (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
 

ปัจจุบันเครือข่ายกำลังทำงานกับ ดร.แคทริน แคฟเฟอร์ จากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ผู้ดำเนินการวิจัยธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคมและธนาคารสีเขียว เพื่อพยายามตอบคำถามว่าธนาคารที่ยั่งยืนเหล่านี้สร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประวัติศาสตร์และการดำเนินธุรกิจของธนาคารเหล่านี้
 

งานวิจัยของ ดร.แคทรินยังไม่สิ้นสุด แต่เอกสารอธิบายกรอบการวิจัย (http://www.gabv.org/wp-content/uploads/SocialBanking.pdf) ได้แบ่งธนาคารที่ยั่งยืนออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการทำความเข้าใจวงการนี้
 

ระดับ 1 : กิจกรรมทางธุรกิจที่ไร้โฟกัส รวมถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ นานา ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลัก
 

สถาบันการเงินระดับนี้คงเรียกว่า “ยั่งยืน” ไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่มองความยั่งยืนว่าเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ ก็แปลว่ายังไม่ได้แสดงถึงความเข้าใจหรือเจตจำนงที่จะเป็นธนาคารที่ยั่งยืน ผู้เขียนมองว่าธนาคารไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ธนาคารจำนวนมากทำโครงการปลูกป่า ในฐานะส่วนหนึ่งของ “กิจกรรมซีเอสอาร์” (ซึ่งในเมืองไทยยังเข้าใจผิดอย่างแพร่หลายว่าไม่ใช่ธุรกิจหลัก) ในขณะที่ปล่อยสินเชื่อให้กับกิจการที่ไม่ยั่งยืนต่อไป อาทิเช่น ธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจอาหารที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ ฯลฯ
 

ระดับ 2 : มีโครงการหรือกิจกรรมทางธุรกิจด้านความยั่งยืน แต่ยังทำอย่างกระจัดกระจาย และคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดของธนาคาร
 

ธนาคารระดับนี้หลายแห่งอาจเข้าใจแล้วว่า “กิจการที่ยั่งยืน” และ “การธนาคารที่ยั่งยืน” คืออะไร และพยายามปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่จุดนั้น เพียงแต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เช่น ปล่อยสินเชื่อให้กับกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ก็พยายามลดสินเชื่อที่ปล่อยให้กับกิจการที่ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
 

ระดับ 3 : ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ เป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ มาเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
 

ธนาคารระดับนี้ (และสูงกว่านี้) ยังไม่มีในประเทศไทย
 

ระดับ 4 : ใช้นวัตกรรมระบบนิเวศน์เป็นกลยุทธ์ ธนาคารระดับนี้ไม่ได้มุ่งเสริมสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินธุรกิจของตัวเองอย่างเดียว แต่หาวิธียกระดับความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะมุ่งปล่อยสินเชื่อให้กับกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ธนาคารที่ยั่งยืนระดับ 4 จะไปเรียกร้องรณรงค์และเคลื่อนไหวให้ภาครัฐออกกฎเกณฑ์สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลงโทษธุรกิจที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
 

ระดับ 5 : จงใจใช้นวัตกรรมระดับระบบนิเวศ ธนาคารระดับนี้มุ่งแก้ปัญหาใหญ่ของยุคเราเชิงรุก ด้วยการใช้นวัตกรรมและกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและมีพลัง
 

ตัวอย่างของสถาบันการเงินระดับ 4 และ 5 มีอะไรบ้าง พวกเขาใช้โมเดลธุรกิจอะไร แข่งขันกับสถาบันการเงินกระแสหลัก ซึ่งมุ่งเน้นกำไรสูงสุดและส่วนใหญ่ยังไม่ยั่งยืนนักได้อย่างไร
 

โปรดติดตามตอนต่อไป
 



หลักการการเงินและการธนาคารที่ยั่งยืน ในมุมมองของ GABV
 

แนวร่วม GABV ประกาศว่าการธนาคารที่ยั่งยืนจะต้องยึดหลักการพื้นฐานดังต่อไปนี้
 

หลักการ 1. ยึดไตรกำไรสุทธิ (triple bottom line) เป็นหัวใจของโมเดลธุรกิจ
 

การดำเนินธุรกิจของธนาคารที่ยั่งยืนเน้นดูแลผู้คน สิ่งแวดล้อม และความเจริญทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ธนาคารที่ยั่งยืนออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตระหนักว่าจำเป็นจะต้องสร้างกำไรพอสมควร แต่กำไรไม่ใช่เป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง คือ ธนาคารที่ยังยืนปฏิบัติตามหลักไตรกำไรสุทธิ (people, planet, profit) เป็นสรณะ นั่นคือ ไม่เพียงแต่พยายามไม่ก่อความเสียหาย แต่ใช้การเงินเชิงรุกในการสร้างประโยชน์แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม
 

หลักการ 2. ยึดโยงกับชุมชน รับใช้เศรษฐกิจจริง ส่งเสริมสนับสนุนโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและเศรษฐกิจจริงในวงกว้าง
 

ธนาคารที่ยั่งยืนรับใช้ชุมชนที่พวกเขาทำงานด้วย ตอบสนองความต้องการทุนในพื้นที่ด้วยการสนับสนุนกิจการที่ยั่งยืน
 

หลักการ 3. ถนอมความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า เข้าใจในธรรมชาติและความเสี่ยงของกิจกรรมทางธุรกิจที่ลูกค้าทำ
 

ธนาคารที่ยั่งยืนสร้างสายสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า พยายามทำความเข้าใจในกิจกรรมทางธุรกิจ และช่วยเหลือให้ลูกค้าสามารถประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนกว่าเดิม วิเคราะห์ความเสี่ยงตั้งแต่ระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ใช่ใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางอ้อมแทนที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
 

หลักการ 4. มีวิสัยทัศน์ระยะยาว อยู่ได้ด้วยตัวเอง และยืดหยุ่นต่อแรงกระแทกจากภายนอก
 

ธนาคารที่ยั่งยืนมีวิสัยทัศน์ระยะยาว มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยืดหยุ่น เมื่อเผชิญกับแรงกระแทกจากภายนอก ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักว่าไม่มีธนาคารใดหรือลูกค้ารายใดปลอดภัยจากแรงกระแทกดังกล่าวบริบูรณ์
 

หลักการ 5. ธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและครอบคลุม
 

ธนาคารที่ยั่งยืนปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นสูงที่โปร่งใสและครอบคลุมด้านธรรมาภิบาลและการรายงานผลการดำเนินงาน ในบริบทนี้ “ความครอบคลุม” หมายถึง การถนอมความสัมพันธ์อย่างแข็งขันกับผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารทุกภาคส่วน (เช่น ชุมชน ประชาชน พนักงาน คู่ค้า สิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ไม่เพียงแต่เฉพาะกับผู้ถือหุ้นหรือฝ่ายจัดการเท่านั้น
 

หลักการ 6. หลักการทั้ง 5 ข้อข้างต้นถูกบูรณาการในวัฒนธรรมองค์กร
 

ธนาคารที่ยั่งยืนพยายามนำหลักการทั้งหมดข้างต้นไปบูรณาการในวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้บุคลากรทุกระดับใช้หลักการเหล่านี้เป็นปกติในการตัดสินใจ ธนาคารที่ยั่งยืนตระหนักว่ากระบวนการบูรณาการหลักการเหล่านี้ ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด ดังนั้น จึงเน้นนโยบายทรัพยากรบุคคลที่สะท้อนคุณค่าดังกล่าว (รวมถึงใช้แรงจูงใจและระบบการประเมินผลงานพนักงานที่มีนวัตกรรม เช่น ไม่ผูกโบนัสเข้ากับปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยได้ แต่ผูกเข้ากับกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารให้การสนับสนุน) พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อสนับสนุนโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ธนาคารที่ยั่งยืนยังใช้กรอบการรายงานผลที่ชัดเจน เพื่อแสดงผลตอบแทนทั้งด้านการเงิน และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่นอกเหนือตัวเลขทางการเงิน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ห้าระดับ การธนาคารที่ยั่งยืน sustainable banking

view