จากประชาชาติธุรกิจ
รัฐหืดจับ "สรรพากร-สรรพสามิต" รายได้จัดเก็บพลาดเป้า ลุยขยายฐานภาษีเงินได้กลุ่ม "อีคอมเมิร์ซ" ทั่วประเทศ ขีดเส้นตายสิ้นปีไม่ยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องมีสิทธิ์โดนหมายเรียก เผยโทษทั้งจำทั้งปรับ
นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่มีการยื่นแบบภาษีนิติบุคคล พบว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีนิติบุคคลต่ำกว่าปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการ โดยจัดเก็บได้ 1.38 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.07 หมื่นล้านบาท หรือ 13.08% และต่ำกว่าประมาณการ 2.65 หมื่นล้านบาท หรือ 14.1%
"ไม่ใช่เพราะผลกระทบจากการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% เพราะส่วนนั้นเราคิดไว้ในการทำประมาณการแล้ว แต่ภาษีที่ขาดไปเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมหนักเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งผู้ผลิต โรงงานต่าง ๆ ผลิตสินค้าไม่ได้ จึงมีผลกระทบต่อการเก็บรายได้ของกรมสรรพากรไปด้วย สะท้อนผ่านตัวเลขการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ปีนี้" นางจิตรมณีกล่าว
โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ถึงสิ้นเดือน พ.ค.มียอดจัดเก็บได้ทั้งสิ้นกว่า 1.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 6 หมื่นล้านบาท หรือ 6.3% แต่ต่ำกว่าประมาณการ 2,320 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สำหรับภาษีรายการอื่น ๆ ยังจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บได้สูงกว่าปีก่อน 10.76% และสูงกว่าประมาณการ 2.87% ส่วนภาษีอื่น ๆ ก็เก็บได้ดีขึ้นเช่นกัน
ขณะที่นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในเดือน พ.ค.กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 2,600 ล้านบาท เนื่องจากภาษีน้ำมันดีเซลต่ำกว่าเป้าหมาย 4,700 ล้านบาท แต่มีน้ำมันเบนซินและภาษีตัวอื่น ๆ มาช่วย อาทิ ภาษีรถยนต์เก็บได้ 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ส่วนภาพรวม 8 เดือนยังต่ำกว่าประมาณการ 16,000 ล้านบาท โดยจัดเก็บได้รวมทั้งสิ้น 2.43 แสนล้านบาท จากประมาณการ 2.59 แสนล้านบาท
"ตอนแรกเราประเมินว่าเดือน พ.ค.รายได้จะหายมากกว่านี้ แต่ออกมาก็ไม่ได้หายไปเยอะ เพราะภาษีรถยนต์ขยับเพิ่มขึ้น" นางเบญจากล่าว
นอกจากนี้ นางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากรกล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าการขยายฐานภาษีเงินได้ในกลุ่มผู้ให้บริการธุรกิจซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต (อีคอมเมิร์ซ) โดยกรมสรรพากรได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องมาแสดงตัวเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องภายในปีนี้ แต่หลังจากสิ้นปีนี้หากรายใดยังไม่มาดำเนินการให้ถูกต้องทางกรมก็จะมีการออกหมายเรียก
"ถ้ายังดื้อไม่มาทำให้ถูกต้อง หลังจากปีนี้เราก็ต้องออกหมายเรียก หากผู้เสียภาษีมีการยื่นแบบเสียภาษีรายการอื่น แต่ไม่ยื่นรายการนี้ก็จะคิดเบี้ยปรับ 1 เท่าของมูลค่าภาษี และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน แต่ถ้าไม่เคยยื่นแบบเสียภาษีเลย จะต้องถูกปรับ 2 เท่าบวกเงินเพิ่ม โดยหากพบว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยง ก็มีโทษจำคุก 3 เดือน ไม่เกิน 7 ปีด้วย" นางวณีกล่าว
นางวณีกล่าวว่า ปีนี้ยังถือว่าเป็นช่วงการเตือนเพื่อให้ผู้ประกอบการทำให้ถูกต้อง แต่ปีหน้าจะเป็นการเอาจริง โดยขณะนี้ทางกรมก็ส่งข้อมูลให้สรรพากรทั่วประเทศดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการมาแสดงตัวเป็นพันราย แต่ยอมรับว่าการตรวจสอบจะต้องใช้เวลา เพราะต้องตรวจสอบเรื่องเงินที่เข้าบัญชีของผู้ประกอบการ
เนื่องจากมีการอ้างว่าเป็นเงินได้จากส่วนอื่นที่ไม่ใช่จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีกล่าวด้วยว่า กรมมีแนวคิดจะนำแนวทางการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ หลังจากไปดูงานมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน