จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์
วิกฤตการณ์ทางการเงินในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มสร้างแรงสั่นสะเทือนตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก แม้ปัญหาของกรีซจะเริ่มผ่อนคลายหลังจากรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรค New Democracy เป็นแกนนำจะเดินหน้าเจรจาเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นและผ่อนปรนมากขึ้นกับกลุ่ม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Troika แต่กรีซก็ยังจำเป็นต้องรัดเข็มขัดทางการคลังให้บรรลุผลสำเร็จ เพราะ Troika ยังคงติดตามและประเมินความคืบหน้าเป็นระยะ
ฉะนั้น แม้กรีซจะยังอยู่ในยูโรโซนต่อไป แต่เสถียรภาพของรัฐบาลยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะปัญหาของกรีซต้องใช้เวลาในการสะสาง สิ่งที่เห็นขณะนี้คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของกรีซ ประเทศจึงมีความเปราะบาง และอาจเกิดปัญหาลามทุ่งยูโรโซนทั้งแผง
ปัญหาของยุโรปที่เกิดขึ้นขณะนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะมีการมองว่าความต้องการใช้พลังงานในโลกจะลดลงจากเศรษฐกิจในยุโรปที่ ชะลอตัว นักลงทุนจึงเทขายสินทรัพย์ที่ลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นขณะนี้จึงเป็นความผันผวนหนึ่งที่อาจไม่ได้เกิดจากความ ต้องการซื้อ และความต้องการขายที่แท้จริง แต่เกิดจากความรู้สึกและการคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าของนักลงทุน
ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนกับ สถานการณ์ในอียู จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงเช่นกัน เมื่อน้ำมันมีผลต่อน้ำหนักเงินเฟ้อ ส่งผลให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจบางแห่งเริ่มออกมาปรับลดประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ ทั้งปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดเงินเฟ้อปีนี้ เหลือ 3.5% จากเดิมที่คาด 3.9%
เมื่อประเด็นเงินเฟ้อมีแรงกดดันลดลง ก็ไม่มีเหตุผลที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศจะใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้น ดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงเงินเฟ้อและลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจโลกก็น่าจะชะลอตัวจากปัญหาในอียูอยู่แล้ว ดับความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ในทางหนึ่ง
กรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อาจได้รับอานิสงส์เรื่องนี้ไปด้วย เพราะตั้งแต่ต้นปีเงินเฟ้อของไทยเป็นประเด็นหลักที่สร้างความปั่นป่วนให้ เศรษฐกิจได้มากทีเดียว โดยมีการมองถึงการใช้นโยบายการเงินของ ธปท. เพื่อดับเงินเฟ้อ แต่ที่ผ่านมา ธปท. ก็คงดอกเบี้ยไว้ที่ 3% ไม่มีการปรับขึ้นและปรับลด
สถานการณ์เงินเฟ้อขณะนี้จึงลดความกังวลได้เปลาะหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีไว้ที่ 3% เพราะราคาน้ำมันเริ่มไว้วางใจได้ แม้จะอยู่บนความผันผวนของตลาดโลก แต่สิ่งที่ ธปท.อาจต้องโฟกัสจากนี้แทนคือความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ต้องประคับประคองในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้มีการมองว่า ธปท.คงไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี แต่หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจโลกย่ำแย่จากปัญหาในยุโรป การส่งออกชะลอ การลงทุนของภาคเอกชนอยู่ในช่วงจังหวะรอติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ ทุกคนอยู่ระหว่างเฝ้ามองด้วยการถือเงินสดไว้ในมือ ก็อาจทำให้ ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน
ขณะที่การส่งผ่านดอกเบี้ยของ ธปท.มายังธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในเรื่องต้นทุน แม้จะดูทิศทางของ ธปท.เป็นหลัก แต่ปัจจุบันการพิจารณาดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์แทบแยกออกมาจาก ธปท.แล้ว โดยเฉพาะการพิจารณาสภาพคล่องในแต่ละธนาคาร รวมทั้งการแข่งขันในตลาดธนาคารพาณิชย์
สิ่งที่เห็นขณะนี้คือ แม้ ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยมาระยะหนึ่ง แต่ธนาคารพาณิชย์กลับออกผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูงแข่งขันกันในตลาด เนื่องจากสภาพคล่องแต่ละธนาคารเริ่มตึงตัวจากการปล่อยกู้ในช่วงครึ่งปีแรก ที่ไปได้ดีกว่าที่คาด รวมทั้งการรักษาตลาดเงินฝากไม่ให้ลูกค้าหนีไปอยู่ที่อื่น แต่ในฝั่งของดอกเบี้ยเงินกู้ยังไม่มีการปรับขึ้น โดยยังอิงดอกเบี้ยในกระดาน อีกระยะหนึ่งเชื่อได้ว่า เมื่อธนาคารมีต้นทุนจากดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในที่สุด แต่อาจต้องรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม
ปัจจัยสำคัญของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จึงขึ้นอยู่กับทิศทางในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างฟื้นตัวในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหลัง ประสบปัญหาน้ำท่วม การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ จึงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้สะดุดกลางคัน เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างมองแล้วว่า สินเชื่อในครึ่งปีหลังอาจไม่เติบโตมากเท่ากับช่วงครึ่งปีแรก ผู้ประกอบการบางรายเริ่มขอรอดูสถานการณ์ต่างประเทศและลังเลที่จะลงทุนเพิ่ม
เมื่อเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวในหลายภูมิภาค ทั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐแม้จะขยายตัว แต่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อ เศรษฐกิจจีนและเอเชียชะลอตัวตามแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางบางประเทศเปลี่ยนขั้วนโยบายการเงิน การส่งออกไปยังตลาดยุโรปของไทยหดตัว 15.4% ในช่วง 4 เดือนแรก และคาดว่าทั้งปีนี้การส่งออกไปยุโรปของไทยอาจหดตัวประมาณ 5%
ช่วงที่เหลือของปีเครื่องมือดอกเบี้ยที่วันนี้ยังทรงตัว แต่หากเกิดกรณีที่ไม่มีใครคาดคิด สถานการณ์ในยุโรปแผลงฤทธิ์ก็มีสิทธิดอกเบี้ยลดลงได้เช่นกัน
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน