‘วิกฤติแบงก์สเปน’ แสนล้านยูโรเอาอยู่ไหม
โดย : ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางสเปนได้ประกาศตัวเลขเงินกองทุนใหม่ที่ระบบธนาคารในสเปน ต้องการเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเสียหายของแบงก์ตนเอง
จากการวิเคราะห์และประเมินของ 2 บริษัทที่ปรึกษาภายนอก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านสถาบันการเงิน ผลปรากฏว่า ปริมาณเงินกองทุนใหม่ซึ่งระบบแบงก์ของสเปนต้องการสูงสุดอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านยูโร ซึ่งทางการสเปนได้ย้ำว่าตัวเลข 1 แสนล้านยูโรที่ทางการสเปนร้องขอความช่วยเหลือจากยูโร เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาของระบบแบงก์ในสเปนอย่างแน่นอน บทความนี้ จึงขอประเมินการทดสอบในครั้งนี้เพื่อประเมินว่าเงินแสนล้านยูโรน่าจะเอาปัญหาในครั้งนี้อยู่ไหม
ขอเริ่มจาก ข้อดีสำหรับการทดสอบภาวะวิกฤติ ในครั้งนี้ ต้องบอกว่าวิธีการและขั้นตอนที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้ มีความละเอียดเกือบจะใกล้เคียงกับการทดสอบของระบบแบงก์ในไอร์แลนด์เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนตัวแปรที่ใช้หรือประเภทสินเชื่อที่แบ่งไว้เพื่อทดสอบนั้น ทำได้ละเอียดและมีหลักการดีพอสมควร นอกจากนี้ จำนวนปีที่ทำการทดสอบนั้นก็ใช้ถึง 3 ปีและครอบคลุมสินทรัพย์กว่าร้อยละ 90 ของธนาคารในสเปนทั้งหมด ที่สำคัญ เทคนิคที่ใช้ในการทดสอบในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นที่ยอมรับในวงการบริหารความเสี่ยง ว่าร่วมสมัยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ข้อด้อยของการทดสอบภาวะวิกฤติของสเปนในครั้งนี้มีอยู่อย่างน้อยสามประการ
ประการแรก แม้ว่าบริษัทที่มาช่วยทำการทดสอบจะใช้วิธีและมีขั้นตอนการทดสอบที่มีความน่าเชื่อถือ ทว่าเป็นการทดสอบเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิตเท่านั้น มิได้ทดสอบภาวะวิกฤติของความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงเชิงปฏิบัติการ และ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องแต่อย่างใด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ความเสี่ยงสามประเภทหลังก็มีความสำคัญมิได้ยิ่งหย่อนกว่าความเสี่ยงประเภทแรก ดังที่ปรากฏชัดจากผลของการทดสอบภาวะวิกฤติของสหรัฐ ซึ่งพบว่าความเสียหายของความเสี่ยงสามประเภทหลังมีผลต่อระดับความเสียหายทั้งหมดอย่างที่มีนัยสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ อาจเป็นไปได้ว่าปริมาณเงินกองทุนสูงสุด ใหม่ที่ต้องใช้เพิ่มเติมอาจมิใช่ 6.2 หมื่นล้านยูโร ทว่าอาจจะสูงเกิน 1 แสนล้านยูโรก็เป็นได้
ประการที่สอง แม้บริษัทจากภายนอกที่จ้างมาตรวจสอบ จะใช้วิธีการทดสอบระบบแบงก์สเปน ในรูปแบบที่ถูกหลักการ ทว่าสมมติฐานของตัวแปรหรือภาวะทางเศรษฐกิจว่าจะวิกฤติเพียงใด เพื่อใช้ในการทดสอบ มิได้ถูกกำหนดโดยบริษัททั้งสอง ทว่าถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีสมาชิก ประกอบไปด้วยบุคลากรจากแบงก์ชาติสเปน กระทรวงเศรษฐกิจของสเปน รวมถึงผู้บริหารจาก ธนาคารกลางยุโรปและคณะกรรมการยูโร ซึ่งน่าจะไม่เหมาะสมนัก ในประเด็นที่ว่าทั้งทางการสเปนและยูโร มีความเป็นไปได้ว่าไม่อยากเห็นผลการทดสอบออกมาในลักษณะที่มีความเสียหายมากนัก โดยเฉพาะฝ่ายหลังซึ่งต้องออกเงินช่วยเหลือให้กับระบบแบงก์สเปนในการเพิ่มเงินกองทุน
ประการสุดท้าย เทคนิคที่ใช้ในการทดสอบภาวะวิกฤติแม้ว่าจะมีความน่าเชื่อถือสูง แต่วิธีการทดสอบยังสู้วิธีที่ใช้ในการทดสอบภาวะวิกฤติของยุโรปเมื่อปีที่แล้วและของสหรัฐในปีนี้ไม่ได้ ก่อนอื่น ต้องขออธิบายถึงวิธีที่ใช้ในการทดสอบภาวะวิกฤติว่า โดยทั่วไปมีอยู่ 2 วิธี เริ่มจากวิธีแรกเป็นการมอง จากภาพใหญ่ของเศรษฐกิจว่าจะแย่ไปถึงแค่ไหนแล้วมาลองประเมินดูว่าสินเชื่อประเภทต่างๆ ในภาพรวมของ ระบบแบงก์ในสเปนจะมีความเสียหายเพียงใด เรียกวิธีนี้ว่า Top-Down ส่วนวิธีที่สองนั้น ดูเหมือนว่าน่าจะวัด ได้ละเอียดกว่าเรียกว่าวิธี Bottom-Up เริ่มจากไปตั้งต้นปฏิบัติการดังกล่าวถึงระดับสินเชื่อประเภทต่างๆ ในแต่ละแบงก์ของสเปนว่าจะมีความเสียหายเท่าไรจากสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้าย แล้วนำผลลัพธ์ดังกล่าว ในแต่ละรายมารวมกันเป็นตัวเลขรวมของความเสียหายของระบบแบงก์สเปน
เนื่องจากทางการของสเปนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะวัดความเสียหายด้วยวิธีที่สอง เพื่อมาตอบโจทย์กับทางยูโรว่าสถานการณ์ของระบบแบงก์ของตนเองเลวร้ายเพียงไรได้ทันเพื่อที่จะขอรับเงินช่วยเหลือก้อนแรก รวมถึงทางการสเปนต้องการที่จะลดความกังวลของตลาดที่ไม่ทราบ ระดับความเสียหายที่แท้จริงของสเปนเสียที เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทางการสเปนจึงไม่มีทางเลือก นอกจากประกาศตัวเลขความเสียหายและปริมาณเงินกองทุนจากการใช้วิธีแรกในการทดสอบภาวะวิกฤติ โดยสเปนจะประกาศตัวเลขความเสียหายและปริมาณเงินกองทุนจากการใช้วิธีที่สองในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้
คำถามที่น่าสนใจ คือ เป็นไปได้ไหมว่า ตัวเลขความเสียหายจากวิธีที่สองจะสูงกว่าตัวเลขที่ได้จากวิธีแรก คำตอบคือเป็นไปได้ แม้ว่าการทดสอบของบริษัทที่ปรึกษาภายนอกที่ใช้วิธีแรกนั้นจะทำด้วยความละเอียดและน่าเชื่อถือ รวมถึงใช้หลักอนุรักษนิยมในการวิเคราะห์ก็ตามที และนี่คือ คำตอบของชื่อบทความนี้ ว่า เงินแสนล้านอาจจะเอาไม่อยู่ ถ้าเอาเข้าจริงแล้ว ผลลัพธ์จากการทดสอบด้วยวิธีที่สองได้ตัวเลขเงินกองทุน ที่ต้องการเพิ่มเติมสูงเกินกว่า 1 แสนล้านยูโร ซึ่งดูแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจที่แท้จริงของสเปนเองในขณะนี้ก็มิได้แตกต่างจากสถานการณ์ของภาวะวิกฤติสำหรับการทดสอบในครั้งนี้มากเท่าไรนัก
ผมขอสรุปว่า ตัวเลขเงินกองทุนสูงสุดใหม่ซึ่งระบบแบงก์สเปนต้องการที่ 6.2 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเพิ่งประกาศออกมานั้น เป็นตัวเลขที่มาจากการวินิจฉัยโรคแค่ในเบื้องต้น แม้ว่าจะทำแบบถูกหลักการก็ตาม ทว่า ผลการวินิจฉัยแบบละเอียดของแบงก์ต่างๆ ในสเปนจนถึงไส้ในก็ต้องรอจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้จึงจะทราบกัน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ปริมาณเงินกองทุนใหม่ ที่ต้องการก็ไม่จำเป็นต้องต่ำกว่าตัวเลข 1 แสนล้านยูโร อย่างที่ทางการสเปนกล่าวไว้ในวันนี้ครับ
หมายเหตุ สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอ่านเพิ่มเติมในประเด็นทิศทางของวิกฤตกรีซได้จาก www.facebook.com/MacroView ครับ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน