สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาระที่ยังหนักอึ้งของ แบงก์ชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



เผยแพร่อย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับ “งบการเงิน” งวดปี 2554 ของธนาคารแห่งประเทศไทย
  หรือ “แบงก์ชาติ” โดยตัวเลขที่ปรากฏในบรรทัดสุดท้ายของ “งบกำไรขาดทุน” พบว่ามียอด “ขาดทุนสุทธิ” สูงถึง 130,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขาดทุนสุทธิ 117,473 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้น 10.9%

 ในจำนวนผลขาดทุนสุทธิที่ 130,371 ล้านบาทนั้น เกินกว่าครึ่งเป็นการขาดทุนที่เกิดจากส่วนต่างระหว่าง “ดอกเบี้ยรับ” กับ “ดอกเบี้ยจ่าย” ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงกว่าดอกเบี้ยรับ (negative carry) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงวดปี 2554 ที่แบงก์ชาติมีผลขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตรงนี้สูงถึง 74,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีผลขาดทุนจากส่วนนี้ประมาณ 20,110 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 271.37%

 ตัวเลขการขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารนี้ แม้ยังไม่มี “คำอธิบาย” อย่างเป็นทางการจากแบงก์ชาติ แต่พออนุมานได้ว่า เกิดจาก “ภาระ” ที่ซ่อนอยู่ในรูปเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 อธิบายง่ายๆ คือ ช่วงปลายปี 2553 เป็นช่วงที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในรูปพอร์ตการลงทุน ซึ่งเป็นการลงทุนระยะสั้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและรุนแรง จนแบงก์ชาติต้องเข้าดูแลเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวหวือหวาเกินไป เพราะเกรงว่าผู้ประกอบการทั้งผู้นำเข้าและส่งออกจะปรับตัวไม่ทัน
 วิธีดูแลของแบงก์ชาติ ทำโดยเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการรับซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาเก็บไว้และปล่อยเงินบาทออกไปเพื่อให้ปริมาณเงินบาทมีเพียงพอกับความต้องการของนักลงทุนในขณะนั้น

 การรับซื้อเงินดอลลาร์ของแบงก์ชาติ ทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์ที่อยู่ในรูปเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเงินเหล่านี้แบงก์ชาตินำไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในรูปพันธบัตรรัฐบาลของประเทศ ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้ผลตอบแทนในรูป “ดอกเบี้ยรับ” ต่ำตามไปด้วย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1% เศษ

 ขณะเดียวกัน การที่แบงก์ชาติต้อง “ปล่อยเงินบาทออกไป” เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของนักลงทุน ทั้งยังช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่าเร็วเกินไปนั้น กรณีนี้ส่งผลให้ปริมาณเงินบาทในระบบเพิ่มสูงขึ้น การที่เงินในระบบเพิ่มขึ้นนำไปสู่ความกังวลว่า จะเป็นต้นเหตุของภาวะ "ฟองสบู่" รวมถึง “เงินเฟ้อ” ที่เร่งตัวขึ้น

 แบงก์ชาติจึงใช้วิธีดูดซับเงินบาทที่ปล่อยออกไปนั้นกลับมา โดยออก “พันธบัตร ธปท.” ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยช่วงเวลานั้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.25-3.5% และนี่คือ “ภาระดอกเบี้ยจ่าย” ที่แบงก์ชาติต้องจ่ายออกไป

 ดังนั้น หากจะสรุปสาเหตุการขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นกว่า 271.37% ในปี 2554 นั้น เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาขึ้นในช่วงเวลานั้น สวนทางกับดอกเบี้ยรับที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 2. ปริมาณเงินสำรองที่เพิ่มขึ้นทำให้มูลค่าจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 สรุปแล้ว การขาดทุนในส่วนนี้ เกิดจากการทำหน้าที่ของ “ธนาคารกลาง” ในการดูแลเสถียรภาพด้าน “อัตราแลกเปลี่ยน” และเสถียรภาพด้าน “ราคา” ..พูดให้ง่าย คือ เป็นการยอม “เจ็บ” เพื่อ “ส่วนรวม” และการมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง ถือเป็นเรื่องดีเพราะสามารถใช้เป็นกันชนในยามที่วิกฤติเศรษฐกิจมาเยือนได้

 เพียงแต่แบงก์ชาติจะยอมปล่อยให้สภาพการณ์เป็นเช่นนี้ประจำทุกปีอย่างนั้นหรือ ..เพราะถ้ายอดขาดทุนสะสมของแบงก์ชาติเพิ่มขึ้นจนผู้ลงทุนต่างชาติลดระดับความไว้วางใจลง สุดท้ายเสถียรภาพการเงินของประเทศอาจถูกสั่นคลอนได้เช่นกัน ดังนั้น องค์กรอย่าง “แบงก์ชาติ” อาจยอมเจ็บเพื่อส่วนรวมได้ แต่มิอาจ “พลีชีพเพื่อชาติ” ได้!!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาระที่ยังหนักอึ้ง แบงก์ชาติ

view