จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ศุภกาญจน์
ทันทีที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บางส่วน
โดยคืนเงินส่วนที่เป็นมูลค่าหุ้น ณ วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกก็ร่วมกันดาหน้าออกมากล่าวบิดเบือนใส่ร้ายโจมตีคำวินิจฉัยยึดทรัพย์ ต่างๆ นานาโดยกล่าวหาว่าการพิพากษายึดทรัพย์เป็นเรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมือง เหมือนถูกปล้นทรัพย์บ้าง และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ได้เปิดแถลงข่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนยืนยันว่ามีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง การพิพากษายึดทรัพย์ดังกล่าวทำให้เกิดระบบสองมาตรฐานเป็นการทำลายระบบ ยุติธรรมของไทย
ผู้เขียนเห็นว่าการที่บุคคลใดจะแสดงความเห็นที่แตกต่างกับคำวินิจฉัยของ ศาลย่อมกระทำได้ด้วยความสุจริตใจหรือเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ ที่มิได้มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี
แต่เห็นได้ชัดแจ้งว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นจงใจบิดเบือนใส่ร้ายองค์ คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ที่ตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไร้เหตุผลเพราะมิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายของรัฐสั่งการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปของตนนั้น ไม่ถูกต้องอย่างไร
ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า การคืนทรัพย์ควรคำนึงถึงมูลค่าเฉลี่ยของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่สูง ขึ้นด้วยนั้น ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่อาจจะกล่าวอ้างลอยๆ ว่า องค์คณะผู้พิพากษาไปรับคำสั่งจากใครมากลั่นแกล้งตน และเห็นว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายและสั่งการเอื้อประโยชน์ในธุรกิจของตน ย่อมทำให้ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ป ได้รับประโยชน์ และลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจของตนนับแสนล้านบาท
ราคาหุ้นชินคอร์ป ย่อมต้องสูงขึ้นเพราะการใช้อำนาจฉ้อฉลอย่างแน่นอน จึงควรต้องถูกลงโทษโดยการยึดทรัพย์ส่วนที่เพิ่ม
ในทางกลับกันหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินธุรกิจแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้ารายอื่นอย่างเป็นธรรม โดยไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน หรือกีดกันรายอื่นแล้ว ราคาหุ้นชินคอร์ปในปัจจุบันอาจมีมูลค่าลดลงกว่าเดิมก็เป็นได้
เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มิใช่นักธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถเหนือคนอื่น ดังจะเห็นได้จากความล้มเหลวในการทำธุรกิจประเภทต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจค้าผ้าไหม และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ส่วนที่ พล.อ.ชวลิต ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนใส่ร้ายองค์คณะผู้พิพากษาด้วยการกล่าวอ้างลอยๆ ว่า มีผู้สั่งการชักใยอยู่เบื้องหลังนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวความเท็จ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาล เพราะย่อมรู้ดีว่า การที่ผู้พิพากษาองค์คณะมีมติให้ยึดทรัพย์เพียงบางส่วน ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 และมิได้ยึดทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าผู้พิพากษามีอิสระในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี โดยไม่มีบุคคลใดสั่งการ
ทั้งข้อวินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมีความชัดเจนสมเหตุสมผล เชื่อว่าสติปัญญาระดับ พล.อ.ชวลิต น่าจะเข้าใจได้
การที่ พล.อ.ชวลิต กล่าวให้ร้ายสถาบันศาลยุติธรรมไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศว่ามีมาตรฐานสากล แต่กลับมีท่าทีแสดงความชื่นชมกระบวนการยุติธรรมกัมพูชา ที่ล้าหลัง และมีลักษณะเป็นเผด็จการที่ถูกสั่งการโดยนายกฯ ฮุนเซนได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะกระทำ
อันที่จริงแล้ว พล.อ.ชวลิต เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ควรใช้สติปัญญาส่วนที่มีคุณธรรมหันกลับมาสำรวจดูตัวเองด้วยว่า ใครกันแน่ที่กำลังถูกคนอื่นชักใยอยู่เบื้องหลัง
เป็นที่ทราบกันในสังคมไทยว่า การบิดเบือนใส่ร้ายผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาล นั้น ได้มีการกระทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตลอดมา นับแต่มีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนานกว่า 1 ปีมาแล้ว
ผู้เขียนจึงสงสัยว่า เหตุใดผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยให้มีการเผยแพร่ข่าวสารการบิดเบือนใส่ ร้ายศาลยุติธรรมอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ โดยไม่มีใครคิดออกมาปกป้องสถาบันศาลยุติธรรมอย่างจริงจัง แม้กระทั่งนายวีระ สมความคิด ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาดูหมิ่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกแถลงการณ์ฉบับแรกโจมตีการตัดสินมานานกว่า 1 ปี แล้วก็ตาม
แต่พนักงานสอบสวนกลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิได้ดำเนินการใดๆ ในคดีดังกล่าวจนกระทั่งบัดนี้
ผู้เขียนเห็นว่า การที่ผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ออกมาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่กลุ่มบุคคล ดังกล่าวนั้น คงมิใช่ว่าเป็นเพราะเกรงกลัวอำนาจเถื่อนคุกคาม แต่น่าเป็นเพราะไม่ต้องการให้สังคมเห็นว่า ศาลเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว
และคดีข้อหาดูหมิ่นศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองพบว่ามีบุคคลใดกระทำผิดในข้อหาดังกล่าวก็มีอำนาจ ดำเนินคดีได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้พิพากษาไปแจ้งความ
หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องการออกมาปกป้องสถาบันศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรของประชาชนให้คงอยู่เป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป ก็ควรใช้อำนาจสั่งการให้เจ้าพนักงานตำรวจสอบสวนดำเนินคดีแก่กลุ่มบุคคลดัง กล่าวได้
และไม่ควรขอร้องให้ผู้พิพากษาออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะเนื้อหาสาระในคำพิพากษาก็เป็นการชี้แจงอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ศาลได้ให้ความเป็นธรรมแก่สังคมได้อย่างเหมาะสม
รัฐบาลควรนำเอาเนื้อหาในคำวินิจฉัยของศาลไป ทำความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างง่ายๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ โดยการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และเอาจริงเอาจังให้มากกว่านี้
และต้องดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังแก่กลุ่มบุคคลที่พยายามบิดเบือนใส่ ร้ายศาล เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตนต่อไป ไม่ควรปล่อยให้คนกลุ่มนี้ใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ บิดเบือนข้อเท็จจริงแทบทุกวันและต้องดำเนินคดีทางอาญาแก่กลุ่มบุคคลที่บิด เบือนใส่ร้ายศาลยุติธรรมอย่างเด็ดขาด
เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กลุ่มบุคคลอื่นที่คิดทำลายล้างศาลยุติธรรม เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไป