สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การปฏิวัติระบบแบงก์ยุโรป เดินถูกทางไหม

การปฏิวัติระบบแบงก์ยุโรป เดินถูกทางไหม

ยิ่งใกล้เวลาที่ทางการยูโรขีดเส้นตายไว้ว่าจะเริ่มใช้ Banking Union ในยูโรโซนในต้นปีหน้าขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีการตั้งคำถามจากเหล่ากูรูทั้งหลาย
ว่าการกำกับสถาบันการเงินของยุโรปได้เดินมาถูกทิศทางแล้วจริงหรือ ที่ดูจะออกเสียงคัดค้านดังกว่าเพื่อนเห็นจะได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐนามว่า ดร.ลอว์เรนซ์ คอลิคอฟ ซึ่งได้วิจารณ์ถึงทิศทางของการสร้างระบบการเงินใหม่ของยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งของอังกฤษว่ากำลังถูก วางระบบแบบไม่ถูกทางโดยสิ้นเชิง
 

แต่ก่อนที่จะไปถึงคำวิจารณ์ดังกล่าว ผมขอเล่าทิศทางของระบบสถาบันการเงินของโลก 2 ประการ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกแห่งการเงินยุคใหม่ ดังนี้
 

ทิศทางแรก การวัดมูลค่าความเสี่ยงหลักของแบงก์ จากการประเมินว่าระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ ประเภทต่างๆ ในพอร์ตโฟลิโอมีมากน้อยเพียงใด แล้วจึงให้น้ำหนักความเสี่ยงมากน้อยตามระดับ ความเสี่ยงดังกล่าว โดยปกติแล้ว การประเมินดังกล่าว มีหลายๆ ส่วนถูกประเมินโดยสถาบันจัดอันดับเครดิต ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรของสหรัฐและอังกฤษ ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากสถาบันดังกล่าวเกือบทุกแห่ง ว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง นอกจากนี้ ทิศทางการประเมินระดับความเสี่ยงของแบงก์ในอนาคต หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินชอบที่จะให้บรรดาแบงก์ทั้งหลายทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ อาทิ แบบจำลองความเสี่ยง ที่ได้รับการพัฒนาในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา
 

ทิศทางที่สอง การแบ่งธุรกรรมทางการเงินซึ่งเป็นแหล่งการหารายได้ของแบงก์ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นธุรกรรมของแบงก์ที่ทางการจะไม่ยอมให้มีความเสียหายเกิดขึ้นได้โดยเด็ดขาด ประกอบด้วย การรับฝากเงินจากประชาชนและการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งเรียกส่วนนี้ว่า Good Bank และ ส่วนที่เป็นธุรกรรมทางการเงินที่ทางการยอมให้เกิดความเสียหายได้ เนื่องจากพิจารณา แล้วว่าไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้าง อาทิ วาณิชธนกิจ และตราสารอนุพันธ์การเงิน รวมเรียกส่วนนี้ว่า Bad Bank จุดสำคัญคือ การแยกธุรกรรมทั้ง 2 ส่วนให้แยกขาดออกจากกัน โดยเด็ดขาดแม้ว่าสถาบันการเงินจะสามารถดำเนินธุรกิจทั้ง 2 ส่วนได้พร้อมๆ กัน
 

ทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการวางสถาปัตยกรรมการเงินโลก ที่กำลังจะค่อยๆ เดินไป สู่จุดหมายดังกล่าวในปี 2020 อย่างเป็นขั้นตอน อย่างไรก็ดี คำถามที่น่าสนใจในตอนนี้คือ สมมติฐานในการสร้างระบบดังกล่าวถูกต้องมากน้อยเพียงใด ซึ่ง ดร.คอลิคอฟ ไม่คิดว่าถูกต้อง ด้วยเหตุผล ดังนี้
 

สินทรัพย์ซึ่งจัดเป็นสินทรัพย์ปราศจากความเสี่ยงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แท้จริงแล้ว ไม่มีความเสี่ยงจริงหรือไม่ นายคอลิคอฟ แย้งว่าหากพิจารณาประวัติของบรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตที่เคยจัดอันดับเครดิต สินเชื่อซับไพร์มให้เป็น AAA แล้วนั้น การประเมินระดับความเสี่ยงให้รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐเท่ากับศูนย์นั้น มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
 

หากพิจารณาจากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า หนี้ของรัฐบาลสหรัฐแท้จริงแล้วต้องใช้หนี้สินของภาครัฐ ทั้งแบบที่เป็นทางการและแบบไม่เปิดเผยด้วย ที่เรียกว่า Fiscal Gap ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หมายถึง ผลต่างของมูลค่าปัจจุบันสุทธิระหว่างรายได้ภาษีของรัฐบาลกับหนี้สินของรัฐบาลทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย โดยปัจจุบันมูลค่า Fiscal Gap ของอังกฤษและสหรัฐสูงคิดเป็นประมาณ 5.5 และ 4 เท่าของจีดีพีตามลำดับ
 

กระนั้นก็ดี รัฐบาลอังกฤษคงไม่ยอมปล่อยให้ฐานะการคลังตนเองล้มละลายเป็นแน่ อย่างน้อยธนาคารกลางอังกฤษก็ต้องพิมพ์เงินเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในระยะต่อมา โดยจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคา ของตราสารดังกล่าวซึ่งเป็นสินทรัพย์หลักของแบงก์ต่างๆ ต้องลดลงจนอาจทำให้ หนี้สินมีมูลค่าสูงกว่า สินทรัพย์ก็เป็นได้
 

นอกจากนี้ จากรูปที่ 2 พบว่า แบงก์ของเยอรมันถือครองตราสารหนี้ของรัฐบาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงเกือบ 5 เท่าของปริมาณเงินกองทุนที่มีคุณภาพสูงสุด น่าสังเกตว่า กรีซ สเปนและอิตาลี ต่างถือครองหนี้รัฐบาลของประเทศตนเองประมาณ 2 เท่าของปริมาณเงินกองทุน ที่มีคุณภาพสูงสุด ในขณะที่แบงก์ทั้งในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสนั้นถือครองหนี้รัฐบาลต่างประเทศถึงเกือบ 3 เท่าของปริมาณเงินกองทุนที่มีคุณภาพสูงสุด
 

สำหรับข้อแนะนำของนายคอลิคอฟต่อการเปลี่ยนโฉมโครงสร้างสถาบันการเงินนั้น ได้แก่ การให้แบงก์ไม่ถือสินทรัพย์ใดๆ นอกจากปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว รวมถึงการหาเงินฝาก ก็เปลี่ยนมาเป็นการประมูลหน่วยกองทุนรวมแทนเพื่อให้มีระดับความเสี่ยงโดยรวมต่ำที่สุด
 

ในความคิดส่วนตัวของผู้เขียน เห็นว่าทั้งแนวทางบริหารความเสี่ยงกระแสหลักที่ถูกนำมาใช้ กับการปฏิวัติระบบแบงก์ในยุโรปรวมถึงทั่วโลกในขณะนี้กับความกังวลของนายคอลิคอฟต่างก็มี ประเด็นที่น่าสนใจทั้งคู่  แม้คำแนะนำของนายคอลิคอฟ อาจจะทำให้ระดับความเสี่ยงของระบบแบงก์ต่ำกว่า แนวทางปัจจุบันจริง ทว่าก็ส่งผลให้ความคล่องตัวของหน้าที่การกระจายเม็ดเงิน จากแบงก์สู่ธุรกิจมีข้อจำกัดเช่นกัน ผู้เขียนเห็นว่าในประเทศที่มีปัญหาทางการเงินแบบวิกฤตหนักๆ แนวทางของนายคอลิคอฟ อาจจะให้ผลดีกว่าผลเสีย แต่ในสถานการณ์ปกติการประยุกต์แนวคิดบางประเด็น ของนายคอลิคอฟมาใช้กับแนวทางการบริหารความเสี่ยงกระแสหลักน่าจะให้ผลดีมากกว่าครับ
 
 
หมายเหตุ หนังสือเล่มใหม่ด้านการลงทุนส่วนบุคคลของผู้เขียน วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ววันนี้ สนใจ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/MacroView  ครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การปฏิวัติระบบแบงก์ยุโรป เดินถูกทางไหม

view