จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ
ผ่าน มากว่า 2 เดือน ของ "ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" หรือ ดร.โกร่ง ในการเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ กกธ. ซึ่งดูเหมือนยังมีบางแนวคิดที่มองต่างกับ "คนใน" ธปท. ทาง "ประชาชาติธุรกิจ" จึงมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษมานำเสนอ
- ความคืบหน้าลดขาดทุนของ ธปท.
เนื่อง จากเพิ่งมีการตั้ง ดร.คณิศ (แสงสุพรรณ) ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและการคลัง และกรรมการ ธปท. เป็นประธานคณะทำงานหาแนวทางลดการขาดทุน จึงยังไม่ได้รายงานผลอะไร
แต่ เรื่องนี้สำคัญ เพราะงบดุลของ ธปท.เหมือนงบฯของบริษัท ล่าสุดขาดทุนอยู่ 4 แสนกว่าล้านบาท โดยสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนเพิ่มอีก 1.2 แสนล้านบาท ต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญว่าทำไมถึงขาดทุนและจนกระทั่งเงินกองทุนติดลบ จะให้ติดลบไปได้เรื่อย ๆ ไม่ได้ เพราะว่าแบงก์ชาติขาดทุน ก็ต้องมีคนกำไร งบดุลของ ธปท.ขาดทุน ก็แสดงว่าลูกค้าแบงก์ชาติคือธนาคารพาณิชย์ ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ เฮดจ์ฟันด์จากทั่วโลก บริษัทผู้ส่งออก นำเข้าเหล่านี้ต้องมีงบดุลเป็นบวก เท่ากับ ธปท.สร้างเงินขึ้นมา อันนี้เป็นหลักบัญชีเบื้องต้นเลย ฉะนั้นจะอยู่เฉย ๆ ต่อไปไม่ได้ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ว่าเวลาจะขอให้ช่วยชาวไร่ชาวนาหรือน้ำท่วม กว่าจะได้ 1-2 พันล้านบาทแทบแย่ แต่อันนี้ขาดทุนตูมเดียว 1.2 แสนล้านบาท วิธีแก้ต้องดูสาเหตุว่าคืออะไร เพราะนั่นคือทุกข์ ขั้นต่อไปก็คือสมุทัย นิโรธ และมรรค ตรรกเป็นอย่างนี้ จะต้องมีทางแก้ ซึ่งอีกทางหนึ่งที่จะช่วยได้ คือต้องลดการกู้เงินจากต่างประเทศ เวลาจะใช้เงินดอลลาร์ก็ซื้อจากระบบธนาคาร
- แบงก์ชาติก็ปล่อยผ่านธนาคาร
แบงก์ ชาติก็ดีขึ้น ขาดทุนน้อยลง เพราะเขาไปออกพันธบัตรตั้ง 3-4% เพื่อไปซื้อของที่ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 1% มาเก็บไว้ เขาก็อยากผ่องออกอยู่ สำคัญคือต้องเปลี่ยนความคิดของผู้จัดการฝ่ายการเงินของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ว่า โปรดหยุดกู้ต่างประเทศ และให้กู้เงินบาท เขาอาจจะงอแงว่ากู้ดอลลาร์ดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่เราก็บอกว่าบาทดอกเบี้ยสูง แต่ไม่มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเลย แต่รัฐวิสาหกิจไม่ค่อยคิดว่าต้องขจัดเรื่องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนออก ด้วย ถ้าไปกู้ต่างประเทศระยะยาวอาจจะเจ๊งก็ได้ แม้ตอนนี้จะถูกกว่าก็ตาม เพราะโครงการใหญ่ ๆ ต้องกู้ยาว 10-15 ปี ดอลลาร์จะเป็นอย่างไร แต่ถ้ากู้บาทรู้ต้นทุนเลย
แต่เรื่องเหล่านี้ก็ต้องสั่ง เพราะรัฐวิสาหกิจเคยชิน เมื่อก่อนซัพพลายเออร์มาจัดให้หมด ตัวเองก็เซ็นอนุมัติเท่านั้น แต่เมื่อรัฐวิสาหกิจไม่คิด กระทรวงการคลังก็ต้องคิดให้เขา ตอนนี้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท (ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555) บอกไปแล้วว่าไม่ให้กู้เงินต่างประเทศ แต่ให้กู้เป็นเงินบาท อันนี้เป็นทางช่วยแบงก์ชาติด้วย
- ปัญหาการขาดทุนของ ธปท.มาจากอะไร
ปัญหา เริ่มจากทำไมเงินไหลเข้า เงินเหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่เงินมันไหลจากที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่ที่ให้ผลตอบแทนสูง กั้นไว้อย่างไรเงิน ก็หาทางไปจนได้ ฉะนั้น เมื่อดอกเบี้ยเราสูงกว่าดอกเบี้ยดอลลาร์มาก เงินก็ไหลเข้ามา กู้ดอลลาร์จ่ายดอกเบี้ย 0.5-0.7%เสียค่าธรรมเนียมอีกประมาณ 1% แล้วมาปล่อยกู้ให้แบงก์ชาติ 3% พอเงินไหลเข้ามาก ค่าเงินบาทก็แข็ง ผู้ส่งออกเดือดร้อน แบงก์ชาติก็ต้องมาซื้อดอลลาร์กลับไปด้วยการออกพันธบัตรมากู้ไปจากธนาคาร พาณิชย์ ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากสินทรัพย์ที่เอาทุนสำรองไปลงทุน
นี่คือสมุทัย ส่วนทางแห่งการดับทุกข์ คงต้องรอ ดร.คณิศและทีมงาน
- ลดดอกเบี้ยอาจมีปัญหาเงินเฟ้อตามมา
ไม่ เห็นจะเกี่ยวกับดอกเบี้ยเลยสำหรับประเทศไทย สำหรับประเทศเปิดและเล็ก ตอนนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าประเทศขนาดเล็กคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ได้หรอก เพราะถูกกำหนดโดยราคาโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ขึ้นลงตามดีมานด์ ซัพพลายทั้งโลก ซึ่งทุกประเทศต้องเปิดรับภายใต้การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) สาเหตุของการไม่มีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้จึงไม่ใช่เงินเฟ้อ แต่เป็นการไหลเข้าและออกของเงินทุนโดยพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลาย หรือพวกอาร์บิทราจจากแหล่งที่ผลตอบแทนต่ำไปแหล่งผลตอบแทนสูง
ดัง นั้น หน้าที่ของธนาคารกลางยุคใหม่จึงอยู่ที่การสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน (Inflation Targeting) ถึงผิดฝาผิดตัวหมด ดอกเบี้ยแทนที่จะทำหน้าที่ดูแลเงินไหลเข้าไหลออก ซึ่งกระทบอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นสาเหตุของความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่ง IMF เปลี่ยนความคิดไปหมดแล้ว ตอนที่เขา (นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF) มาเมืองไทย ผมได้คุยอยู่ 4 ชั่วโมง เขาก็คิดตรงกัน
- ธปท.บอกว่าดอกเบี้ยแท้จริงของไทยต่ำแล้ว
ดอกเบี้ย ที่แท้จริงของ ธปท.หมายถึงอัตราเงินฝากที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งสาเหตุที่ยังติดลบเพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำไป เงินออมสูงกว่าเงินลงทุน ตราบใดที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก เงินออมย่อมสูงกว่าเงินลงทุน อัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดด้วยดีมานด์ ซัพพลาย ถ้าเป็นช่วงราคาพลังงานถูก มันก็สูงกว่าเงินเฟ้อ ถ้าราคาพลังงานแพง มันก็ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทำอะไรไม่ได้เลย ยกเว้นเราเร่งการลงทุน เร่งกู้ให้ซัพพลายเงินลดลง เมื่อแบงก์ต้องการเงินก็จะขึ้นเงินฝากเอง ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่กระทบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเลย
สถานการณ์ ตอนนี้คือแบงก์ไม่ต้องการทำธุรกรรมกับประชาชน แต่ต้องการทำกับแบงก์ชาติ เพราะกำไรเหนาะ ๆ อยู่แล้ว และถ้าเงินไม่พอก็เอาเงินดอลลาร์เข้ามาแตกเป็นเงินบาทและกินส่วนต่าง 3% และถ้าเอาเข้ามามาก ๆ เงินบาทแข็งตอนออกก็กำไรอีกต่อหนึ่งอีก ฉะนั้น กำไรแบงก์มโหฬารเลย ลองคิดดูว่าถ้าแบงก์ชาติติดลบ 1.2 แสนล้านบาท ก็ต้องมีคนบวก 1.2 แสนล้านบาท
- แนวคิดใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
อัน นั้นดีที่สุด แต่ถ้าจะให้คงที่หรือฟิกซ์ คุณต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ตอนนี้ 1.8 แสนล้านดอลลาร์ การฟิกซ์ค่าเงินผมไม่ได้หมายถึงฟิกซ์ตายตัวแบบสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เราฟิกซ์กับตะกร้าเงินสกุลต่าง ๆ ที่ไม่ได้ประกาศ เช่น ถ้าดอลลาร์แข็ง เราก็โยนดอลลาร์ออกเพื่อไม่แข็งตาม เราก็เอาเงินอ่อนแทน เหมือนจีนที่ทำอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่ว่าจีนทำได้เพราะใหญ่แล้วทำได้ แต่ยิ่งเราเล็กยิ่งทำง่ายกว่า เพราะไม่มีใครจ้อง ไม่มีอเมริกาคอยขู่เหมือนกับจีน
ส่วนที่กลัวเรื่องที่รองนายกฯ (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) พูดว่าเงินบาทอยู่ 33 บาท/ดอลลาร์ จะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง จะเป็นได้ยังไง ผมไม่เข้าใจ ถ้า 33 บาท/ดอลลาร์ ส่งออกก็ยิ่งแฮปปี้ ยิ่งส่งออกได้มาก และทุนสำรองขนาดนี้ จะไปสร้างรถไฟฟ้ามูลค่าล้านล้านบาทได้ จะต้มยำกุ้งได้อย่างไร ตอนวิกฤตปี 2540 ทุนสำรองเราเหลือ 800 ล้านดอลลาร์ จาก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินกู้มาด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้เป็นของเราแท้ ๆ
- ได้แชร์แนวคิดเหล่านี้กับ ธปท.หรือยัง
ยัง ว่าจะคุยเร็ว ๆ นี้ กะว่าให้หายใจหายคอ และให้หายตื่นเต้นกันก่อน
- ตำแหน่งรองผู้ว่าการ แทนคุณสุชาดา
คุณ สุชาดา (กิระกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.) ที่จะหมดวาระสิ้นเดือน ก.ย.นี้ คุณประสาร (ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.) ขอให้เป็นที่ปรึกษาต่อ ผมก็อนุมัติไปแล้ว
ส่วนคนที่จะมารับตำแหน่ง รองผู้ว่าการ ผมคิดว่าหลักที่ถูกต้องควรจะต้องเปิด แต่ถ้าคนนอกสู้คนในไม่ได้ก็ควรเป็นคนใน หรือถ้าแต้มเสมอกันก็ควรจะเป็นคนใน แต่ถ้าเผื่อมีคนนอกที่จะมาช่วยให้ดีขึ้น มีความรู้ความสามารถมาช่วยให้ดีขึ้นก็ไม่เห็นต้องไปรังเกียจคนนอก ท่านผู้ว่าการเองก็คนนอกมาจากแบงก์กสิกรไทย ซึ่งกฎหมายแบงก์ชาติไม่เหมือนที่อื่น ไม่มีการเปิดรับสมัครอะไร ก็อาจจะมีแมวมองไปทาบทาม และก็เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งท่านผู้ว่าการหรือกรรมการท่านใดก็เสนอได้หมด ผมไม่ได้รีบ ค่อย ๆ หา ว่างไป 1-2 เดือนก็ได้
- มีข่าวว่าทาบทาม ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ไม่ รู้ ก็อาจจะมีคนไปทาบทาม แต่ต้องดูก่อนว่าแบงก์ชาติต้องการได้อะไรไปเสริมท่านผู้ว่าการ แต่ที่แบงก์ชาติขาดตอนนี้คือทักษะด้านวิชาการ ด้านแมโครอีโคโนมิก ด้านเทคนิค ซึ่ง คุณไพบูลย์ (กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน) อาจจะได้ ถ้าไม่มีใครดีกว่า ในฐานะประธานคงพูดอะไรได้ไม่มาก ทุกคนเป็นลูกน้องเท่ากันหมด
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน