จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนส.ค. 2554 จนถึงขณะนี้เวลาผ่านมา 1 ปี การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะนโยบาย "ประชานิยม" ที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ยังคงถูกทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านรวมถึงนักวิชาการวิพากษ์ว่าเป็นนโยบายที่ทำให้ประเทศไทย "ขาดวินัยทางการเงินการคลัง" อย่างรุนแรง จนอาจกระทบต่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า เมื่อรัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศเมื่อปี 2554 ได้ประมาณการเศรษฐกิจเติบโตไว้ที่ 5% แต่ปรากฏว่าทั้งปีขยายตัวเพียง 0.1% เพราะบริหารจัดการน้ำท่วมล้มเหลว ขณะที่ครึ่งปีหลังของปี 2555 เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น โดยดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่ออกมาค่อนข้างน่าห่วง เช่น การส่งออกติดลบ ที่สำคัญคาดว่าจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี นอกจากนั้นยังขาดดุลชำระเงิน และขาดดุลการค้า ทั้งหมดสะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ที่รัฐบาลบอกว่า ไม่มีความเสียหาย แต่นักวิชาการออกมาประเมินแล้วว่าจะขาดทุนเกือบแสนล้านบาท ไม่รวมค่าบริหารจัดการอีก 2.6 หมื่นล้านบาท ขณะเงินกลับไปถึงมือชาวนาเพียง 30% หรือ 1 ใน 3 ขณะที่ชาวนารายเล็กๆ ก็ได้ประโยชน์ 5% ของเงินทุกๆ 100 บาทที่เป็นภาระต่องบประมาณ" นายกรณ์ ระบุ
นายกรณ์ ยังวิเคราะห์นโยบายบ้านหลังแรก ว่า ดูเหมือนจะล้มเหลว เนื่องจากมีการขอสินเชื่อแค่ 6,000 ล้านบาท สวนทางกับความต้องการบ้านที่ยังสูง เขายังไม่เห็นด้วยกับนโยบายรถคันแรก เพราะถือว่าเป็นการใช้เงินภาษีที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องขยายเวลาไปถึงสิ้นปี เพราะผู้ผลิตรถยนต์ส่งมอบรถไม่ทัน กลายเป็นรัฐบาลช่วยบริษัทรถ ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจคืออะไร เขาตั้งคำถาม
เขายังระบุถึงวิธีบริหารนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่ให้ความสำคัญต่อวินัยการคลัง และใช้วิธีกู้เงินนอกงบประมาณ ดำเนินการในลักษณะ "ซุก" หมายถึงการผลักภาระหนี้ไปไว้ในที่ต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว แทนที่จะเป็นภาระรัฐบาลโดยตรง ก็ผลักไปอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนนโยบายอุดหนุนพลังงาน ก็ผลักภาระไปที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
"วินัยการเงินการคลังไม่ใช่ความเสี่ยงที่จับต้องไม่ได้แต่เป็นความเสียหาย คือ กระบวนการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นทันที เพราะโครงการใช้เงินไม่ผ่านสภา ไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใส รวมทั้งการพิจารณาไม่ผ่านสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ และ กรรมาธิการงบประมาณ" นายกรณ์ ระบุ
นอกจากนั้น รัฐบาลยังส่งเสริมความไม่โปร่งใส ด้วยการยกเว้นระเบียบต่างๆ และการประมูลด้วยวิธีพิเศษ ทำให้ภาวะแวดล้อมการคอร์รัปชันในสังคมสูงขึ้น
"ดูเหมือนว่า รัฐบาลเปิดทางให้ทุจริต นักธุรกิจเองก็ระบุว่า อัตราจ่ายใต้โต๊ะสูง 30-35% ถือว่าสูงกว่าภาษีนิติบุคคล ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ที่ผ่านมารัฐบาลอ้างวิกฤติน้ำท่วม ต้องใช้เงินเร่งด่วนแก้ปัญหา แต่วันนี้ยังไม่มีการใช้เงิน ถึงขั้นต้องออก พ.ร.ก. สิ่งที่ควรจะทำคือใช้งบประมาณ"
การรักษาวินัยการเงินการคลัง ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนว่าสามารถรักษาเสถียรภาพได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาการเมือง แต่นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะหัวใจคือระบบงบประมาณ กรอบการกู้ยืมเงินผ่าน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และระบบงบประมาณ เป็นหมวดสำคัญในรัฐธรรมนูญ ถ้าเปิดช่องให้นักการเมืองกู้เงินเพิ่มได้โดยไม่จำกัด จะนำไปสู่ระดับการโกงที่สูงมาก
นอกจากนั้น การที่รัฐบาลอาจจะเปลี่ยนนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ เงินบาทอ่อน เลิกนโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะเป็นนโยบายหลักในการรักษาเสถียรภาพการเงิน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หากยกเลิกจะใช้อะไรที่โปร่งใสและยอมรับได้"
นายกรณ์ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ก็คือ ไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ระวังไม่ให้เงินทุนต่างชาติหนีออกนอกประเทศ เพิ่มความร่วมมือระหว่างไทยกับภูมิภาค ผ่านกองทุนพหุภาคีเชียงใหม่ เพื่อแสดงให้นักเก็งกำไรเห็นว่าเรามีอาวุธพร้อมสู้ และต้องรักษาความเข้มแข็งของสถาบันหลักของประเทศ หรือกระบวนการยุติธรรม อย่าไปทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน
"ถ้าปล่อยไว้จะสร้างความเสียหายอีกเยอะ แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจเรามีพื้นฐานแข็งแรง ไม่เช่นนั้น จะมีโอกาสพังมากกว่านี้"
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน