จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท วาระ 2 กลายเป็นเวทีให้ฝ่ายค้านชำแหละรัฐบาลถึงความล้มเหลวการบริหารเศรษฐกิจของ ประเทศในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา
งบประมาณปี 2556 มีการประมาณการว่ารัฐบาลจะเก็บรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุลที่รัฐบาลต้องกู้เงินมาชดเชยรายได้อีกจำนวน 3 แสนล้านบาท
ฝ่ายค้านพยายามชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลใช้เงินมือเติบตั้งงบประมาณจำนวนมาก แต่การเก็บรายได้กลับตรงข้ามทำได้น้อย ส่งผลให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง และหนีไม่พ้นต้องกู้เงินก้อนโตมาโปะรายจ่ายที่ตั้งไว้สูง
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังชำแหละรัฐบาลใช้งบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทำแต่โครงการประชานิยมลดแลกแจกแถมหาแต่คะแนนเสียงทางการเมือง ซ้ำยังปล่อยให้มีการทุจริตทุกหย่อมหญ้าทุกโครงการไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
มรสุมอภิปรายงบประมาณ ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในมุมอับ แก้ต่างไม่ได้ แก้ตัวไม่ออก เพราะแม้ว่าการอภิปรายจะเต็มไปด้วยวาทะทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ก็ไม่ใช่น้อย
กรณ์ จาติกวณิช สส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง ยำใหญ่รัฐบาลว่า ตั้งงบประมาณสูงเป็นประวัติศาสตร์ การก่อหนี้จำนวนมากทำให้ประเทศอยู่บนความเสี่ยง หากในอนาคตดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นรัฐบาลจะใช้หนี้ไม่ไหว
ขณะที่การเก็บรายได้รัฐบาลตั้งไว้ 2.1 ล้านล้านบาท แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลทำสวนทางด้วยการลดภาษีให้คนรวยคือ ภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ทำให้รัฐเสียรายได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ทำให้น่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลต้องเก็บรายได้ให้เข้าไป ด้วยการรีดประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
กรณ์ ยังมองว่า โครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลใช้เงินกู้ถึง 2.6 แสนล้านบาท แต่เงินถึงมือชาวนาแค่ 30% เป็นโครงการที่ล้มเหลว และ รัฐบาลก็ออกมายอมรับเองว่ามีการทุจริต และไม่เคยบอกว่าจะไม่มีการทุจริต
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามก่อหนี้นอกงบประมาณจากการออก พ.ร.ก.กู้เรื่องน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และยังมีแผนออก พ.ร.บ.กู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีก 2 ล้านล้านบาท ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนปากเหว
แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออกมาแก้ต่างบางเรื่องเท่านั้น โดยยอมรับว่าการตั้งงบประมาณสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนจริง แต่การลดภาษีนิติบุคคลไม่ได้เป็นการลดให้คนรวยและเรื่องหนี้สาธารณะ ในส่วนของภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 7.41% เท่านั้น เชื่อว่าในอนาคตหนี้จะลดลง
สำหรับประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประชานิยมแจกด่วนแจกมาก ไม่ว่าเป็นโครงการรับจำนำและการกู้เงินนอกงบประมาณ กิตติรัตน์ไม่ได้แจงให้เกิดความชัดเจน
หากเทียบนายกรณ์ กับ นายกิตติรัตน์ เป็นมวยคู่เอกการอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ ต้องถือว่าฝ่ายค้านทำแต้มได้เข้าตากรรมการมากกว่า โดยรัฐบาลอาศัยความได้เปรียบไม่เข้าแลกเต้นคุมเชิงรักษารูปมวยไม่ให้เพียง พล้ำถูกหมัดน็อกโดนนับเท่านั้น
ประเด็นที่รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงฝ่ายค้านได้ มีทั้งเรื่องการก่อหนี้ การหารายได้ และการทำโครงการประชานิยมเป็นภาระเงินภาษีหลายแสนล้านบาท
การแก้ต่างเรื่องการก่อหนี้ถือว่าเป็นของแสลงรัฐบาล เพราะสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านได้โจมตีรัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างหนัก สร้างวาทะกรรมการทางการเมืองว่า เป็นรัฐบาลที่ดีแต่กู้สร้างหนี้ท่วมหัว แต่พอมาเป็นรัฐบาลต้องมากลืนน้ำลายตัวเอง ทำให้รัฐบาลจุกอกเมื่อโดนจี้ถามเรื่องการก่อหนี้ก้อนโตมโหฬาร
รัฐบาลพยายามอ้างว่างบประมาณปี 2556 ขาดดุล 3 แสนล้านบาท น้อยกว่างบประมาณปี 2555 ที่ขาดดุล 4 แสนล้านบาท แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลซุกขาดดุลนอกงบประมาณจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ต้องกู้ภายในปี 2556 นั้นหมายความว่ารัฐบาลขาดดุลงบประมาณปี 2556 ถึง 7.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การออก พ.ร.บ.อีก 2 ล้านล้านบาท ก็เป็นการซุกขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลต่อไปอีก 5-6 ปีข้างหน้า อีกปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้กิตติรัตน์ก็เคยออกมายอมรับว่า การซุกขาดดุลไว้นอกงบประมาณ เพราะต้องการทำงบประมาณให้เข้าสู่สมดุล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าภาคการคลังของไทยมีเสถียรภาพ
ซึ่งว่าไปแล้วการขาดดุลงบประมาณลดลง หรือการทำงบประมาณให้เข้าสู่สมดุล เป็นเพียงภาพลวงตาฉากหน้าเท่านั้น แต่หลังบ้านยังเต็มไปด้วยหนี้ก้อนโตเพิ่มมากขึ้นทุกปี
เมื่อรัฐบาลต้องกู้เป็นรถไฟขบวนยาวอย่างนี้ ทำให้รัฐบาลเป็นมวยจนมุมเต้นหนีไม่ออก เพราะภาระหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 42% ของจีดีพี เป็น 60% ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นห่วงเรื่องดังกล่าว
แม้ว่ากระทรวงการคลังจะออกมาแก้ต่างให้รัฐบาลว่า หนี้ไม่ถึง 60% ของจีดีพี หากเศรษฐกิจยังขยายได้ 5-6% ต่อปี และหากเศรษฐกิจโตได้ 8% รัฐบาลก็จะมีเงินมาใช้เงินต้นมากขึ้น แต่สมมติฐานดังกล่าวไม่ได้บอกว่า หากเศรษฐกิจไม่ได้ตามเป้าหนี้สาธารณะก็หนีไม่พ้นทะลุเพดานกรอบความยั่งยืน การคลัง 60% ต่อจีดีพี
ขณะที่การเก็บรายได้รัฐบาลแก้ต่างว่า แม้ว่าไม่มีการเพิ่มอัตราภาษี แต่รัฐบาลก็ยังเก็บรายได้ตามเป้า โดยการเน้นขยายฐานภาษีเป็นสำคัญก็ยังเป็นคำถามว่า จะทำได้ตามหลักการที่วาดฝันหรือไม่
ที่ผ่านมารัฐบาลลดภาษีนิติบุคคล ทำให้หลายบริษัทมีกำไรเพิ่มรวมกันเป็นแสนล้านบาทเท่ากับรายได้ที่รัฐบาลหาย ไป แต่ทีกับการลดภาษีบุคคลธรรมดารัฐบาลติดเบรกไม่ยอมทำ เพราะกลัวเสียรายได้ 3,000-5,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรยังเดินเท้ารีดภาษียกใหญ่ ตั้งแต่แผงลอยไปยังแผงเช่าพระก็ยังไม่เว้น เพราะถือว่าเป็นผู้มีรายได้
นี่ยังไม่รวมกับแผนการของกรมสรรพากรที่ขอเพิ่มกำลังคนเพิ่มอีก 2,000 คน ของบประมาณอีก 2,000 ล้านบาท เพิ่มระบบเทคโนโลยี ขยายฐานภาษีเพิ่มมากขึ้น โดนตั้งเป้าเก็บภาษีให้ได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 2 ปี จาก 1.6 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท
การรีดภาษียกใหญ่ เพื่อมาชดเชยการลดภาษีในส่วนของภาษีน้ำมันดีเซล ที่ทำให้รายได้ปี 2555 หายไป 1 แสนล้านบาท และปี 2556 ก็ทำท่ายังต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อออกไปไม่มีกำหนด ทำให้รายได้หายไปเป็นอีกแสนล้านบาท
และยังมีเรื่องของการขยายเวลาลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เป็น 7% ออกไปอีก 2 ปี ทำให้รายได้ของกรมสรรพากรหายไปอีกปีละ 2 แสนล้านบาท
ดังนั้น การขยายฐานภาษีของรัฐบาลน่าจะมีปัญหาว่า จะมากพอมาชดเชยที่หายไปจากการลดภาษีนิติบุคคล น้ำมัน และภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลได้หรือไม่ โดยเฉพาะการขยายฐานภาษีรายจิ๊บรายจ๊อยมาโปะลดภาษีรายใหญ่ จึงเป็นเรื่องอยากเหมือนช้างตายทั้งตัวพยายามเอาใบบัวมาปิดให้มิด
การทำงบประมาณปี 2556 ของรัฐบาลมีจำกัด เรื่องของการหารายได้ ทำให้รัฐบาลเข็นไม่ขึ้น รีดภาษีมากก็โดนโจมตีถอนขนห่านรีดเลือดกับปู ทำให้รัฐบาลต้องกลืนเลือดเดินก้มหน้าก้มตากู้แล้วกู้อีก เป็นเป้าให้ฝ่ายค้านชกน่วมไปทั้งตัว
ที่สำคัญการใช้เงินกู้ยังมีจุดอ่อนไปใช้แล้วเกิดการทุจริตจำนวนมาก อย่างเช่น โครงการจำนำข้าว ที่ฝ่ายค้านระบุว่า ชาวนาได้เงินจากรัฐบาล 30% เท่านั้น โดยโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลใช้เงินกู้ 2.6 แสนล้านบาท เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันเป็นเงิน 3.5 แสนล้านบาท
หมายความว่า ตามข้อมูลฝ่ายค้านเงินดังกล่าวไปถึงมือชาวนาแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 2.5 แสนล้านบาท รั่วไหลหายไปไหน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบ จะถือว่าไม่ตอบไม่โต้แล้วไม่ผิด ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
การหาเงินมาปิดหีบงบประมาณที่ขาดดุล 3 แสนล้านบาท หากเลือกระหว่างการกู้เงินและการขยายฐานภาษี โดยให้กรมภาษีแบ่งฐานผู้เสียภาษีเพิ่ม ใครไม่เคยอยู่ในระบบภาษีก็กวาดต้อนเข้าระบบและเก็บภาษีเป็นรายได้ชดเชยให้ รัฐบาลซะ
การกู้เงินน่าจะเป็นทางออกที่ง่ายกว่าและทำได้เร็วกว่า โดยเฉพาะการกู้เงินต่างประเทศ ขณะนี้ดอกเบี้ยในตลาดโลกต่ำมาก และประเทศไทยยังแข็งแรงมีเครดิตดีกว่าหลายประเทศในยุโรปที่จะไปกู้เงินจาก ต่างชาติมาใช้
ดังนั้น การกล่าวว่ารัฐบาลนี้ดีแต่กู้ จึงไม่ผิดความเป็นจริงเท่าใดนัก
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน