สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตรรกะและความเป็นธรรมของโครงการอุ้มกรีซ : ข้อคิดจากไอเอ็มเอฟ

ตรรกะและความเป็นธรรมของโครงการอุ้มกรีซ : ข้อคิดจากไอเอ็มเอฟ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงนี้ตลาดทุนนอกบ้านเราดูจะเร้าใจกว่าตลาดทุนในประเทศ คอลัมน์นี้จึงจะตามติดพัฒนาการนอกบ้านต่ออีกเล็กน้อย
โดยเฉพาะปัญหาของกรีซซึ่งยังทำให้นักลงทุนใจหายคว่ำอยู่เนืองๆ
 

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเขียนถึงพฤติกรรม “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีซไปแล้ว วันนี้อยากถ่ายทอดทัศนะของ โอลิเวียร์ แบลงชาร์ด หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเขียนบทความสั้นๆ ชื่อ “The Logic and Fairness of Greece’s Program” (ตรรกะและความเป็นธรรมของโครงการอุ้มกรีซ) เมื่อเดือนมีนาคม 2012 (อ่านต้นฉบับได้ที่ http://blog-imfdirect.imf.org/2012/03/19/the-logic-and-fairness-of-greeces-program/) ตอนที่ไอเอ็มเอฟกับเจ้าหนี้กรีซทั้งภาครัฐและเอกชนบรรลุผลการเจรจา ยอมเจ็บตัว-ตัดหนี้บางส่วนเป็นหนี้เสีย ลดมูลค่าหนี้ลงเท่ากับ 10,000 ยูโรต่อชาวกรีกหนึ่งคน
 

ในบทความนี้ แบลงชาร์ดบอกว่า เศรษฐกิจของกรีซจะฟื้นได้ต้องอาศัยสองอย่าง อย่างแรกคือมีภาระหนี้น้อยลง อย่างที่สองคือการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ประเทศที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงมากบางทีก็ลดภาระนั้นได้ด้วยการเติบโตสูงมาก (รายได้เพิ่มเร็วกว่าภาระหนี้) แต่ในกรณีของกรีซ ชัดเจนว่าการเติบโตที่ว่านี้ไม่มีทางเกิดได้ในระยะสั้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เจ้าหนี้ภาครัฐและเอกชนต้องจำใจลดหนี้ให้บางส่วน ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยกว่าจะบรรลุข้อตกลงได้
 

แบลงชาร์ดมองว่า ตอนนี้ในเมื่อเจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้กรีซไปแล้วค่อนข้างมาก ก็ถึงเวลาที่ฝ่ายลูกหนี้ คือ กรีซจะต้องมีเจตจำนงและความทุ่มเททางการเมืองมากพอที่จะปฏิรูปการคลัง ปฏิรูปการเงิน และปฏิรูปโครงสร้างของเศรษฐกิจทั้งระบบ
 

1. แก้ปัญหาการคลัง
 

สิ่งแรกที่รัฐบาลกรีซต้องทำ คือ ลดผลขาดดุลทางการคลังลงมาอีก ไม่อย่างนั้นภาระหนี้ที่ลดลงก็จะไม่มีความหมายมากนัก เพราะไม่มีรายได้พอจ่ายหนี้ส่วนที่เหลืออยู่ดี แบลงชาร์ดมองว่ารัฐบาลกรีซไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำงบประมาณเกินดุลให้ได้ ซึ่งก็หมายความว่ารัฐต้องเพิ่มรายได้และตัดค่าใช้จ่ายลงอีก เขามองว่าโครงการอุ้มกรีซที่ไอเอ็มเอฟช่วยออกแบบนั้นให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับความเป็นธรรม นั่นคือ สร้างหลักประกันว่าคนจนและผู้ด้อยโอกาสจะได้รับการช่วยเหลือ และชาวกรีซที่มีฐานะดีกว่าต้องแบกรับภาระในสัดส่วนที่เหมาะสม
 

2. ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
 

แบลงชาร์ดย้ำว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หรือบางทีอาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำ คือ การที่กรีซต้องลดผลขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลงมาให้ได้ เหตุผลประการแรก คือ ไม่มีประเทศไหนในโลกสามารถเดินบัญชีเดินสะพัดขาดดุลและกู้เงินจากต่างแดนได้ตลอดกาล ประการที่สอง เมื่อการรัดเข็มขัดทางการคลังเริ่มส่งผลต่ออุปสงค์ภายในประเทศ หนทางเดียวที่จะกลับคืนสู่เส้นทางการเติบโตได้อีกครั้ง คือ พึ่งพาความต้องการจากต่างแดนมากขึ้น เพื่อลดขนาดของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
 

แบลงชาร์ดชี้ว่ากรีซยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบร้อยละ 10 ของจีดีพี ถึงแม้ว่าผลผลิตจะลดฮวบไปมากแล้วก็ตาม นั่นแปลว่า การลดผลขาดดุลไม่มีความลับอะไร-กรีซจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง ขายของให้ต่างชาติมากขึ้น และซื้อของจากต่างชาติน้อยลง ปัจจุบันกรีซส่งออกเพียงร้อยละ 14 ของสินค้าที่ผลิตในประเทศ
 

คำถามคือกรีซจะต้องปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันแค่ไหน แบลงชาร์ดบอกว่าตัวเลขนี้ประเมินยาก แต่น่าจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เป็นอย่างน้อย
 

3. กลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
 

แบลงชาร์ดชี้ว่าโดยปกติมีสองวิธีที่จะเพิ่มความสามารถในแข่งขัน วิธีแรกคือเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้นมาก วิธีที่สองคือลดค่าแรงและต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรงลง แน่นอนว่า วิธีแรกนั้นน่าทำกว่ากันมาก แต่ไม่มีใครมีไม้กายสิทธิ์ แม้ว่าธุรกิจหลายสาขาในกรีซจะมีช่องว่างผลิตภาพสูงมาก การปฏิรูปที่จำเป็นก็ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทั้งกฎเกณฑ์กำกับดูแลของภาครัฐ และพฤติกรรมของภาคเอกชน โครงการที่ไอเอ็มเอฟช่วยออกแบบร่วมกับรัฐบาลกรีซมีรายการสิ่งที่ต้องปฏิรูปยาวเป็นหางว่าว แต่มันก็เกิดไม่ได้ทันที ผลลัพธ์ไม่แน่นอน ไม่มีอะไรทำง่ายหรือทำได้เร็ว
 

ดังนั้น ถ้าอยากเห็นผลเร็วก็ต้องไปลดค่าแรงโดยเปรียบเทียบ (กับประเทศอื่น) อย่างน้อยจนกว่าจะเห็นผลจากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น ในประเทศที่ค่าเงินลอยตัว เรื่องนี้ทำได้ไม่ยากด้วยการลดค่าเงินลง แต่ในประเทศอย่างกรีซซึ่งใช้เงินสกุลยูโรร่วมกับประเทศอื่น จะทำเรื่องนี้ได้ก็ต้องไปลดค่าแรงและราคาต่างๆ ลง แบลงชาร์ดชี้ว่าค่าแรงในกรีซปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของผลิตภาพติดต่อกันนานหลายปี ทำให้ปัญหานี้หนักกว่าเดิม ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (unit labor cost) ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มสูงถึงร้อยละ 35 ในกรีซระหว่างปี 2000-2010 เทียบกับการเติบโตไม่ถึงร้อยละ 20 ในประเทศอื่นในยูโรโซน แบลงชาร์ดมองว่าปัญหานี้ถึงยากเย็นอย่างไรก็ต้องแก้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ฝ่ายต่างๆ ในสังคมมาเจรจากัน ตกลงกันลดค่าแรงและราคา ตราบใดที่ไม่ทำแบบนี้ ความสามารถในการแข่งขันก็จะไม่เพิ่ม อุปสงค์จะไม่กระเตื้อง กรีซจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อไป และอัตราการว่างงานก็จะยังคงอยู่ในระดับสูง เขามองว่ายิ่งตัดใจกิน ‘ยาขม’ หม้อนี้เร็วเท่าไร ความเจ็บปวดก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น
 

4. ไม่มีทางเลือกอื่น
 

แบลงชาร์ดมองว่ากรีซไม่มีทางเลือกนอกเหนือจากกลยุทธ์ที่เขาสรุปข้างต้น บางคนเสนอให้รัฐบาลกรีซทุ่มเงินสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (คล้ายกับที่หลายรัฐบาลเคยทำช่วงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง) เพื่อกระตุ้นการเติบโต เพิ่มผลิตภาพ และปรับปรุงสถานะทางการคลังและบัญชีเดินสะพัด แต่แบลงชาร์ดมองว่าข้อเสนอนี้ฝันเฟื่อง เพราะปัญหาของกรีซไม่ใช่ปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ที่รัฐทุ่มเงินทำจะแทบไม่ส่งผลใดๆ ต่ออัตราการเติบโตระยะสั้น มิหนำซ้ำยังจะทำให้ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และประวิงการกิน ‘ยาขม’ ที่ถึงอย่างไรก็ต้องกิน ออกไปอีกหน่อยเท่านั้นเอง
 

แบลงชาร์ดไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่เสนอให้กรีซออกจากยูโรโซน กลับไปใช้เงินสกุลเดิมของตัวเอง ถึงแม้การทำแบบนี้และลดค่าเงินทันทีจะช่วยลดค่าแรงและราคาโดยเปรียบเทียบลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะเขามองว่าการออกจากยูโรโซนจะมีต้นทุนมหาศาลต่อกรีซ และการออกจากยูโรโซนอย่างไร้ระเบียบจะส่งผลให้ระบบนโยบายการเงินและระบบสถาบันการเงินพังพินาศ ยังไม่นับว่าคู่สัญญาต่างๆ จะฟ้องร้องกันไม่จบไม่สิ้นและปวดหัวไปอีกนานว่า อัตราแลกเปลี่ยน “ที่เหมาะสม” ควรเป็นเท่าไรดีในการแปลงสัญญาต่างๆ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตรรกะและความเป็นธรรม โครงการอุ้มกรีซ ข้อคิดจากไอเอ็มเอฟ

view