จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์
การที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ถึงกับต้องออกปากสั่งการให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้เอสเอ็มอีให้มากขึ้น สะท้อนความล้มเหลวของระบบธนาคารรัฐที่ไม่สามารถสนองตอบนโยบายช่วยเหลือผู้ ประกอบการได้
ข้อมูลตัวเลขสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เปิดเผยกันในที่ประชุมออกมาเป็นที่น่า ตกใจ เมื่อธนาคารรัฐซึ่งควรจะเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี กลับด้อยประสิทธิภาพกว่าธนาคารพาณิชย์ โดยสิ้นเดือน ก.ค. 2555 สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี 2.16 แสนล้านบาท
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี 3.27 ล้านล้านบาท สัดส่วนต่างกันราวฟ้ากับเหว เป็นการชักร่มกลับในช่วงที่เอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ท่ามกลางวิกฤตทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับตั้งแต่อุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ผู้ประกอบการจำนวนมากจมน้ำเสียหายอย่างหนัก บางรายจนถึงขณะนี้ยังไม่ฟื้น
ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีอีกจำนวนไม่น้อยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากที่ผู้ประกอบการขนาด ใหญ่ถูกน้ำท่วม การผลิตหยุดชะงัก ส่งผลให้เอสเอ็มอีที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องปลายน้ำต้องสูญเสียคำสั่งซื้อตามไป ด้วย นอกจากนี้ยังเจอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่กดดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นอีก จากที่ทุกวันนี้ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอยู่แล้ว
แม้ว่าผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องให้ชะลอการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ออกไปก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก ทำให้ผู้ส่งออกหืดจับ คำสั่งซื้อหดอย่างเห็นได้ชัด
ล่าสุดเดือน ก.ค. การส่งออกติดลบไปอีกกว่า 4% รวม 7 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกไทยติดลบอยู่ 0.4% คิดเป็นจำนวนเงินที่หายไปก็นับแสนล้านบาท แน่นอนว่าที่สาหัสสากรรจ์ที่สุดหนีไม่พ้นผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งหลายรายยังมองโลกในแง่ดีว่าสุดท้ายรัฐบาลน่าจะผลักดันให้การส่งออกปีนี้ โตได้ 15% ตามเป้าหมายที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยืนยันมาตลอด
หารู้ไม่ว่า มันเป็นเพียงการพูดเท็จโดยสุจริต หรือ White Lie อย่างที่ กิตติรัตน์ พยายามอธิบายไว้ว่าต้องการแสดงความเชื่อมั่น เอสเอ็มอีที่หลงเชื่อก็ชะล่าใจ ไม่มีการปรับตัวอะไรเลย แทนที่จะหาตลาดใหม่หรือบริหารจัดการสินค้า เมื่อฟ้าผ่าเปรี้ยงว่าส่งออกไม่เป็นไปตามหวังก็สายไป เอสเอ็มอีมีสายป่านสั้นกว่าบริษัทขนาดใหญ่ มารู้ตัวอีกทีจึงเดี้ยงไปเสียแล้ว และต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ
เมื่อมาดูมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่พยายามออกมา ก็ยังเข้าไม่ถึงและไม่เพียงพอ อย่างการลดภาษีนิติบุคคล ที่บอกว่าจะช่วยบรรเทาต้นทุนจากค่าจ้าง แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ ดังนั้นคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือรายใหญ่ เห็นได้จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่างรายงานผลประกอบ การที่มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า
ส่วนมาตรการสินเชื่อ รัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน 3 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ผลปรากฏว่าธนาคารส่วนใหญ่ก็เน้นปล่อยสินเชื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่พังเสียหาย และโรงงานใหญ่ๆ ที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ
ส่วนเอสเอ็มอีเหมือนลูกเมียน้อย ไม่ค่อยได้รับประโยชน์เช่นเคย เมื่อจะพึ่งพาพระเอกด้านบริการทางการเงินจากธนาคารของรัฐ ปรากฏว่า ด้านการเข้าถึงสินเชื่อก็ยังมีข้อจำกัด ซึ่งต้องมีสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร คงไม่มีธนาคารไหนอยากจะสวนทางนโยบายรัฐบาล
การตำหนิธนาคารรัฐว่าไม่ปล่อยกู้นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ต่างเช็กบิลผู้บริหารธนาคารรัฐกันเป็น ว่าเล่น ตั้งแต่การตั้งกรรมการสอบ “ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ” ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ในข้อหาปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล ซึ่งแม้ผลสอบออกมาว่าไม่พบการกระทำผิดระเบียบ แต่ส่งผลให้บรรดาคนทำงานต่างขยาด กระบวนการสินเชื่อหยุดชะงัก ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนทุกระดับ ก็ทำงานลำบาก เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างบอร์ดกับ “เลอศักดิ์ จุลเทศ” อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อฝ่ายปฏิบัติเห็นความมาคุ ก็ไม่กล้าที่จะชงเรื่องให้ฝ่ายบริหารเข้าบอร์ด เพราะถูกตรวจเข้มและตีกลับเสมอ
ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเอสเอ็มอี กลับเป็นอัมพาตจากปัญหาภายใน ความขัดแย้งระหว่าง “โสฬส สาครวิศว” กับบอร์ดที่มาจากกระทรวงอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้เสียจากการปล่อยกู้หลายโครงการ จน ธปท.ทำรายงานถึงความไม่ชอบมาพากล และเป็นที่มาของการเลิกจ้าง โสฬส พร้อมตั้งกรรมการสามธนาคารของรัฐที่เป็นหัวจักรสำคัญในการปล่อยกู้ช่วยเหลือ เอสเอ็มอี อยู่ในภาวะ “ไร้หัว” มีแต่รักษาการที่ทำหน้าที่แทน ทำให้การผลักดันนโยบายเป็นไปได้ยาก ผู้ปฏิบัติขวัญผวาไม่กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีแบงก์ที่ควรจะเป็นผู้นำความหวังให้กับเอสเอ็มอี เวลานี้กลับเป็นอัมพาตเสียเอง เพราะลำพังประคองตัวแก้หนี้เสียไม่ให้ล่มก็งานหนักอยู่แล้ว และยิ่งเจอพิษการเมืองกดดันยิ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อยิ่งฝืด
สถานการณ์แบบนี้ ทำให้เอสเอ็มอีไทยมีแต่ตายกับตาย สุดท้ายมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะเอสเอ็มอีมีสัดส่วนต่อจีดีพี 30% และมีแนวโน้มขนาดใหญ่ขึ้น เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ สัดส่วนผลิต และการจ้างงาน กิตติรัตน์ เองก็คงเห็นปัญหาเช่นนั้น จึงต้องทุบโต๊ะสั่งการให้ธนาคารของรัฐ ธปท. และบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) ไปเร่งทำงาน ซึ่งหากฝ่ายการเมืองไม่ปลดแอกนายแบงก์รัฐเหล่านี้ คงไม่มีใครกล้าปล่อยกู้
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวและขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาหนี้เสียและกำลัง อยู่ในช่วงทำแผนฟื้นฟู คาดว่าปีนี้จะขาดทุนและต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ขณะที่ฐานเงินกองทุนต่ำเตี้ย 6.26% จากเกณฑ์ ธปท. 8.5% ธนาคารของรัฐต่างเจอปัญหาเดียวกัน จึงได้ขอเพิ่มทุนเพื่อต่อลมหายใจในการสนองนโยบายที่ต้องใช้เงินมหาศาล
แต่ทุกรายที่ขอ ไม่ว่าจะเป็นกรุงไทย เอสเอ็มอีแบงก์ หรือไอแบงก์ ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินสำคัญของเอสเอ็มอี กลับไม่ได้รับการตอบรับ
หากรัฐบาลต้องการให้ธนาคารของรัฐเป็นแหล่งเงินกู้ช่วยต่อลมหายใจธุรกิจ ให้เอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล หากไม่เพิ่มทุนให้ การจะให้ธนาคารรับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้คงจะยาก เพราะเงินกองทุนของธนาคารจะหด และสุดท้ายหากหนี้ที่ปล่อยกู้กลายเป็นหนี้เสีย ฐานทุนจะไม่พอรับภาระ ดังนั้นถ้าไม่ปลดล็อกปัญหาตรงนี้ โอกาสที่จะกระตุกให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้เพิ่มคงยาก
หากเพียงแค่ตำหนิ แต่ไม่ลงมือช่วย ไม่อยากจะคิดเลยว่าอนาคตเอสเอ็มอีไทยในมือของรัฐบาลชุดนี้จะเป็นอย่างไร
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน