เมื่อก่อนผมเคยสงสัยว่า อาชีพ กับ วิชาชีพ ต่างกันอย่างไร จนวันหนึ่งมีผู้อาวุโสที่นับถือบอกว่า อาชีพกับวิชาชีพ ต่างกันตรง วิชาชีพมีมรรยาทและจรรยาบรรณรองรับ ผมถามต่อว่าหลายวงการก็บอกว่า ของตัวเองก็บอกว่าของตัวมีจรรยาบรรณรองรับเหมือนกัน อย่างนั้นก็เป็นวิชาชีพเหมือนกันใช่หรือไม่ ผู้อาวุโสท่านนั้นบอกว่า ไม่ใช่ วิชาชีพที่เป็นวิชาชีพต้องมีจรรยาบรรณรองรับ มีกฎระเบียบ มีบทลงโทษ และต้องมีการรองรับด้วยกฎหมาย ถ้าอย่างนั้นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิชาชีพในเมืองไทยก็มีไม่มาก
ผมเคยสงสัยว่า ทำไมต้องมีจรรยาบรรณที่มีกฎหมายรองรับ จนหลังๆผมเห็นในหลายวงการที่บอกว่ามีจรรยาบรรณมีเหตุให้ต้องพิสูจน์วิชาชีพตัวเอง คนที่บอกว่าอยู่ในวิชาชีพ นึกอยากจะออกจากสมาคมหรือสภาก็ออก เพราะไม่พอใจที่ถูกสมาชิกหรือคณะกรรมการติงในบางเรื่อง หรือมีการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เป็นต้น สภาหรือสมาคมก็ทำอะไรไม่ได้ วิชาชีพนั้นก็ต้องถูกทดสอบโดยสังคม และไม่ผ่าน สุดท้ายก็เสื่อมเพราะบทกำหนดโทษไม่มี ถึงมี ทำผิดก็ไม่เป็นไร จรรยาบรรณกฎระเบียบเป็นแค่กระดาษที่เปื้อนตัวอักษรแต่ไร้อำนาจรองรับ กรรมการวิชาชีพก็คุมจรรยาบรรณหรือมรรยาทไม่ได้
ผมถึงเข้าใจว่าความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ ก็ในเมื่อมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง เหมือนสภานักบัญชีตั้งแต่สมัยเป็นสมาคมจนเป็นสภานักบัญชีมีผู้สอบบัญชีถูกถอนใบอนุญาตหลายคน ถูกถอนไปแล้วหมดอนาคตทางวิชาชีพทำมาหากินไม่ได้ ยังมีคนฝ่าฝืนกันเยอะ ดังนั้นในบางวงการที่ไม่มีบทลงโทษการละเมิดจรรยาบรรณหรือมีแล้วทำอะไรไม่ได้ความเป็นวิชาชีพคงไม่เหลือ
ส่วนตัวสภานักบัญชีเองผมเข้าใจว่า ต้นแบบมาจากสภาทนายความ ที่ต้องเป็นสภาทนายความก็คงเพราะความแข็งแรง และความเก่าแก่ ผ่านปัญหาที่ท้าทายจรรยาบรรณมาเยอะ แต่สุดท้ายก็ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และผมก็ยังเข้าใจว่ามีผู้ใหญ่ในสภาทนายความบางท่านได้ให้ความช่วยเหลือในการเปลี่ยนจากสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นสภานักบัญชีเป็นอย่างดี
ในวงการวิชาชีพบัญชีแต่เดิมจรรยาบรรณคงมีใช้เฉพาะตัวผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แต่ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติการบัญชี จรรยาบรรณไม่ได้มีบังคับเฉพาะผู้สอบบัญชีแต่หมายความรวมไปถึงนักบัญชี ผู้ให้บริการทางบัญชี รวมถึงพนักงานบัญชีของกิจการด้วย(คนที่ต้องลงนามผู้ทำบัญชี) ความรับผิดชอบต่างๆสำหรับพนักงานบัญชีของบริษัทที่ต้องลงนามเป็นผู้จัดทำบัญชีต้องเพิ่มขึ้น จนมีความรับผิดชอบแทบเสมือนหนึ่งกิจการตัวเอง
การนำเอาจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมาให้อ่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเข้าใจว่า ความรับผิดชอบของนักบัญชีในบางตำแหน่งนั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อผู้ว่าจ้างหรือเจ้านายตัวเองในบริษัทเท่านั้น แต่ยังคงมีความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกอื่นอีกมาก ความเสี่ยงจึงต้องเพิ่มมากขึ้น
วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าที่ไม่ไกล คุณอาจได้เห็นนักบัญชีหรือผู้ทำบัญชีเป็นจำเลยถูกฟ้องร้องคู่กับกรรมการผู้จัดการ โดยที่คุณจะไม่เห็นผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด หรือผู้จัดการฝ่ายบุคคล หรือผู้จัดการส่วนงานอื่นๆ ที่เขาคิดว่า ส่วนงานฉันเป็นหัวใจของบริษัท ร่วมเป็นจำเลยในคดีทางเศรษฐกิจด้วยก็เป็นได้
คนที่ไม่เข้าใจว่า กฎระเบียบที่บังคับเขาไปถึงไหนแล้วจะได้เข้าใจว่า ทำไมผมถึงเขียนบทความก่อนๆเอาไว้ และทำไมผู้ประกอบการถึงหานักบัญชีที่จะมาลงนามในกิจการของคุณยากมากขึ้นทุกวัน ๆ
ผมคิดว่า วันนี้เวลานี้ ตัวนักบัญชีเองต้องคิดและชั่งใจว่า คุณจะป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคุณอย่างไร ความเสี่ยงกับผลตอบแทนคุ้มกันหรือไม่ ในเมื่อความรับผิดชอบของนักบัญชีเองแทบไม่ต่างจากเจ้าของกิจการเลย ถ้าคุณถูกถอนใบอนุญาตผู้ทำบัญชี อนาคตทุกอย่างในวิชาชีพนี้คุณก็แทบจบสิ้น
ส่วนเรื่องที่ผมจะกังวลถัดไปหลังจากที่คนได้อ่านและนักบัญชีรู้ว่าเจ้าของกิจการรู้แล้วว่าความรับผิดชอบเขาขนาดไหน ค่าตัวนักบัญชีจะเรียกกันแพงหนักขึ้นเหมือนในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญส่วนของ innovation กับ finance มากๆ ก็ช่วยไม่ได้ เอาเป็นว่าอย่าไปเรียกร้องเงินเดือนเขาใกล้กับกรรมการผู้จัดการ ในฐานะจำเลยที่ ๑ ร่วม ก็พอ ...... 5555
ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่๑๙) เรื่อง จรรยาบรรณ ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีพ.ศ. ๒๕๕๓
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีด้านการทำบัญชีด้านการสอบบัญชีด้านการบัญชีบริหาร ด้านการวางระบบบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชีและบริการเกี่ยวกับการบัญชีด้านอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นวิชาชีพบัญชีรวมทั้ง ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีและให้หมายรวมถึงหัวหน้าคณะบุคคลหรือหัวหน้าสำนักงาน หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล ตามมาตรา ๑๑ ด้วย
ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นผู้ทำบัญชีตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๔ หรือที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙
ผู้รับบริการ หมายความว่า ผู้รับบริการ ตามมาตรา ๔๗ (๓) ได้แก่
(๑) ผู้ว่าจ้างผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและ/หรือ
(๒) ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และบุคคลอื่นที่ใช้ผลงานของผู้ประกอบ วิชาชีพบัญชีด้วยความสุจริตและจำเป็น
“ผู้ที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้” หมายความว่า ผู้ที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน บุคคลหรือนิติบุคคล ตามมาตรา ๔๗ (๔)
ความโปร่งใส หมายความว่า ภาพลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่าง ๆ และมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้และไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบได้.
ความเป็นอิสระ หมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอิทธิพลของบุคคลอื่นที่ทำให้เกิดความสงสัยในความเป็นกลางหรือความเที่ยงธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีความเป็นอิสระนี้จะต้องเป็นที่ประจักษ์เพื่อให้ผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้.
ความเที่ยงธรรม หมายความว่า การใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยปราศจากความลำเอียง อคติความขัดแย้งทางผลประโยชน์และอิทธิพลของบุคคลอื่น
กรอบวิชาชีพบัญชี หมายความว่า หลักการ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติของวิชาชีพบัญชี
ความซื่อสัตย์สุจริต หมายความว่า การประพฤติอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ ซื่อตรงต่อวิชาชีพ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ปฏิบัติงานบนหลักฐานที่เป็นจริงและเชื่อถือได้ ไม่อ้างหรือยินยอมให้บุคคลอื่น อ้างว่าได้ปฏิบัติงานถ้าไม่ได้ปฏิบัติงานจริง
ความรู้ความสามารถ หมายความว่า การใช้ความรู้ความสามารถ ความชำนาญในการปฏิบัติวิชาชีพบัญชีด้วยความเอาใจใส่อย่างเต็มความสามารถ ความเพียรพยายาม และความระมัดระวัง รอบคอบเพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมั่นใจได้ว่ามีผลงาน ทางวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์มาตรฐานในการปฏิบัติงาน และวิชาการที่เกี่ยวข้อง
การรักษาความลับ หมายความว่า การไม่นำข้อมูลใด ๆ ที่โดยปกติองค์กรไม่ได้เปิดเผย ต่อสาธารณชนไปเปิดเผย หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่น เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการเปิดเผย ตามสิทธิหรือหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
ความเสื่อมเสียเกียรติศักด์ิแห่งวิชาชีพบัญชี หมายความว่า
(๑) การกระทำการใด ๆ ที่เป็นเหตุให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องได้รับโทษการประพฤติผิด จรรยาบรรณ ตามมาตรา ๔๙ โดยมีลักษณะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ลงลายมือชื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีโดยมิได้ปฏิบัติงานตรวจสอบใด ๆ หรือควบคุมการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชี
(ข) มีพฤติกรรมรับจ้างลงลายมือชื่อ หรือยอมให้ใช้ชื่อ ทั้งที่ไม่ได้มีการปฏิบัติงาน ตามมาตรฐานการสอบบัญชีหรือมาตรฐานการบัญชี
(ค) แสดงความเห็นต่องบการเงินที่นำส่งหน่วยราชการหลายแห่ง โดยงบการเงิน แต่ละชุดแสดงข้อมูลต่างกันโดยไม่มีเหตุผลสมควร
(ง) แจ้งข้อความหรือจัดทำรวมถึงการใช้พยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือรู้อยู่ว่าเป็น พยานหลักฐานอันเป็นเท็จไม่ว่าจะจัดทำโดยบุคคลใดก็ตามในการประกอบวิชาชีพบัญชี
(จ) แนะนำให้ผู้รับบริการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทุจริตหรือมีเจตนา หลีกเลี่ยงภาษีอากร
(ฉ) มีพฤติกรรมอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีกำหนดว่าเป็นพฤติกรรม อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักด์ิแห่งวิชาชีพบัญชี
(๒) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพบัญชีจากหน่วยงานราชการ หรือสถาบันวิชาชีพอื่นที่ควบคุมและหรือกำกับดูแล เนื่องจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในสาระสำคัญ
ข้อบังคับนี้ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติใด ๆ ให้หมายความรวมถึง การกระทำของบุคคลอื่น ผู้ซึ่ง
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีรับรู้ หรือ
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชียินยอมให้อ้างชื่อ ในการปฏิบัติ ใดๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับฉบับนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือบุคคลอื่นโดยมิชอบด้วย
จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชีพ.ศ. ๒๕๔๗
ความโปร่งใส ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส
ความเป็นอิสระ
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจและปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ปฏิบัติงานที่ตนขาดความเป็นอิสระภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี
ความเที่ยงธรรม
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความยุติธรรม ซื่อตรงต่อวิชาชีพ และต้อง ไม่มีส่วนได้เสียในงานที่ตนประกอบวิชาชีพ นอกจากค่าตอบแทนที่ได้รับจากการประกอบวิชาชีพนั้น
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจบนหลักฐานที่เชื่อถือได้โดยปราศจากความมีอคติและความลำเอียง
(๓) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจอย่างเที่ยงธรรมโดยหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์หรือ สถานการณ์ใด ๆ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่สามารถปฏิบัติงานได้โดยโปร่งใส อิสระ และซื่อสัตย์สุจริต
ความซื่อสัตย์สุจริต
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงาน อย่างตรงไปตรงมา จริงใจ ซื่อตรงต่อวิชาชีพ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานตรงตามหลักฐานที่เป็นจริง
(๓) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่อ้างหรือยินยอมให้บุคคลอื่นอ้างว่าได้ปฏิบัติงาน โดยที่ไม่ได้มีการปฏิบัติงานจริง
ความรู้ความสามารถ และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
ความรู้ความสามารถ
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ วิธีปฏิบัติกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง ความชำนาญและประสบการณ์ทางวิชาชีพด้วยความมีสติเอาใจใส่อย่างเต็มความสามารถ และระมัดระวังรอบคอบ
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องประกอบวิชาชีพ โดยมีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติงาน ให้สำเร็จได้.
(๓) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องประกอบวิชาชีพ ด้วยความมุ่งมั่นและขยันหมั่นเพียร
(๔) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องศึกษาหาความรู้และความชำนาญทางวิชาชีพเพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้ทันสมัยอยู่เสมอ
มาตรฐานในการปฏิบัติงาน
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องประกอบวิชาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบและด้วยความชำนาญตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง
การรักษาความลับ
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่นำข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรที่ตนได้มาจาก การปฏิบัติงานวิชาชีพ และความสัมพันธ์ในทางธุรกิจ รวมทั้งความลับขององค์กรที่ตนสังกัด ไปเปิดเผยต่อบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากองค์กร เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการเปิดเผยตามสิทธิหรือหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่นำข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรที่ตนได้มาจากการ ปฏิบัติงานวิชาชีพ และความสัมพันธ์ในทางธุรกิจ รวมทั้งความลับขององค์กรที่ตนสังกัด ไปใช้เพื่อ ประโยชน์ของตนหรือบุคคลอื่นโดยมิชอบ
ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการ
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องมีความรับผิดชอบตามกรอบวิชาชีพบัญชีต่อผู้รับบริการ
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานตามกรอบวิชาชีพบัญชีเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อผู้รับบริการ
ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน บุคคลหรือนิติบุคคล ที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้.
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติตามจริยธรรมทางธุรกิจขององค์กรที่ตนสังกัด
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตน ทุ่มเท ดูแลทรัพย์สินขององค์กรที่ตนสังกัด
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้เวลา และทรัพย์สินขององค์กรที่ตนสังกัดให้เกิด ประโยชน์สูงสุด ไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลที่สามทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องเปิดเผยความสัมพันธ์กับองค์กร สถาบัน ธุรกิจภายนอก หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์.
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง และการ ดำเนินการขององค์กรที่ตนสังกัด
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ มีเหตุผลในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรที่ตนสังกัด รวมถึงนายจ้าง (ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน เจ้าของ) ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
ความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ และจรรยาบรรณทั่วไป
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่แย่งงานวิชาชีพบัญชีจากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีด้านเดียวกันรายอื่น
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ปฏิบัติงานทางวิชาชีพบัญชีเกินกว่าที่รับมอบหมายจาก ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีรายอื่น
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานของตนเกินความเป็นจริง ไม่โอ้อวด หรือเปรียบเทียบตนหรือองค์กรที่ตนสังกัดอยู่กับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีด้านเดียวกันรายอื่น หรือองค์กรที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีด้านเดียวกันรายอื่นสังกัดอยู่
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่ให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคคลอื่นแนะนำหรือจัดหางานวิชาชีพบัญชีมาให้ตน
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบุคคลใด เมื่อบุคคลนั้นได้รับงานจากการแนะนำหรือการจัดหางานของตนในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีขององค์กรนั้น
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องไม่กำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนในการ ให้บริการวิชาชีพบัญชีโดยมิได้คำนึงถึงลักษณะ ความเสี่ยง ความซับซ้อนและปริมาณของงาน ที่ตนให้บริการหรือมีส่วนร่วมในการให้บริการวิชาชีพบัญชี
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร สำนึกในหน้าที่และไม่ปฏิบัติตนในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักด์ิแห่งวิชาชีพบัญชี