สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เข้าสู่เทศกาลเงินทุนไหลออก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ทันทีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศจะทยอยปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ด้วยการลดวงเงินการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลงจากเดิมเดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และอาจหยุดการทำคิวอีในกลางปี 2557

ปรากฏการณ์เงินทุนต่างชาติที่ไหลทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียเมื่อ 5 เดือนที่แล้วจนหลายประเทศต่างงัดมาตรการต่างๆ มาดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายก็พลิกผัน เป็นการพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เนื่องจากเงินทุนไหลเข้าดาหน้าถอนทุนออกไปจากประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนกันเป็นว่าเล่น

เพราะเล็งเห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าเฟดจะยังไม่ประกาศชัดเจนขนาดนั้นก็ตาม

เงินทุนต่างชาติจากฝั่งยุโรป สหรัฐ รวมถึงญี่ปุ่น ต่างทยอยไหลกลับภูมิลำเนาอย่างบ้าคลั่ง เพราะหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศตัวเองจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ สูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่ต่ำเตี้ยติดดินเพียง 0.25-0.5% เท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่การันตีปรากฏการณ์ไหลบ่าออกไปของเงินทุนต่างชาติ สามารถดูได้จากยอดซื้อขายสะสมในช่วงวันที่ 124 มิ.ย.ที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทย กลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิแล้ว 47,000 ล้านบาท

และหากพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 1 ม.ค. 24 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 68,011 ล้านบาทเศษ

ขายจนดัชนีหุ้นไทยร่วงจนหลุดจาก 1,500 จุด มาอยู่ที่ 1,364 จุด จนส่งผลให้นักลงทุนไทยที่เคยร่ำรวยฟูฟ่องจากราคาหุ้น พากันสลบเหมือดคาห้องค้าและจอคอมพิวเตอร์ออนไลน์

ขณะที่การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยก็ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ถ้าดูยอดคงค้างจากปลายปี 2555 สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 7.2 แสนล้านบาท และพอมาถึงล่าสุด ณ วันที่ 21 มิ.ย. 2556 เหลือยอดคงค้างที่ 7.89 แสนล้านบาท แสดงว่าต่างชาติยังถือสุทธิ

แต่หากพิจารณาจากช่วงที่เงินทุนต่างชาติเข้ามาถือลงทุนมากที่สุดคือ ช่วงก่อนสิ้นเดือน เม.ย. ที่สูงถึง 8.7 แสนล้านบาท

แสดงว่ามีเงินไหลออกไปจากตลาดตราสารหนี้แล้วร่วม 8.1 หมื่นล้านบาท

“แต่ถ้าดูเฉพาะในเดือน มิ.ย. ที่มีข่าวเรื่องเฟด จะพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้าง 8.16 แสนล้านบาท เหลือ 7.89 แสนล้านบาท เพราะนักลงทุนต่างชาติขายตราสารระยะยาว ขณะเดียวกันก็ไม่กลับมาซื้อตราสารระยะสั้น” อริยา กล่าว

เงินทุนที่ไหลออกจากสองตลาดนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เห็นเพียงฉากหน้า

ข้อมูลที่ ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ที่ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายฉายภาพคือ ความเป็นจริง

ผ่องเพ็ญ บอกว่า เงินทุนที่ไหลออกในขณะนี้ยังไม่น่าห่วง เพราะเงินทุนต่างชาติที่เคยไหลเข้ามาลงทุนในไทยยังออกไปไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ เงินทุนที่เคยไหลเข้ามาในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

แต่ ผ่องเพ็ญ ก็ยอมรับว่า แนวโน้มที่เงินทุนจะไหลออกจากไทยไปอีกยังมีอยู่ต่อเนื่องในระยะต่อไป

“การไหลออกของเงินทุนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงกับเศรษฐกิจไทย คงทำให้เงินต้นทุนการกู้ยืมเงินของไทยแพงขึ้น ฉะนั้นใครก็ตามที่กู้เงินจากตลาด ต้นทุนที่แพงขึ้นอาจมีผลทำให้ความต้องการกู้ยืมมันเบาลง เพราะต้นทุนแพงขึ้น ต้องคิดมากขึ้นว่าควรกู้หรือไม่ และโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างในช่วงเดือน เม.ย คงไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้” ผ่องเพ็ญ สรุปความเห็น

เป็นการบอกเป็นนัยว่า หลังจากนี้ไปคนไทยจะเห็นเทศกาลเงินทุนไหลออกมากกว่าเงินทุนไหลเข้า

ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณให้ภาคการธนาคารจะต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นและภาคธุรกิจของไทยจะต้องปรับตัวรับมือต้นทุนทางการ เงินที่สูงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

ดอกเบี้ยสูงกำลังคุกคามประชาชนคนไทยแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนก่อนหน้า รัฐบาลพยายามบีบธนาคารกลางของไทยให้ลดดอกเบี้ยลงมา

เพราะถึงตอนนี้ แม้แต่คนใน ธปท. ก็ยอมรับว่า แม้ว่าดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของ ธปท. งวดสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จะพบว่าเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าสุทธิที่ 4,166 ล้านบาท หรือประมาณ 1.29 แสนล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ 31 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.นี้ ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจจะไหลออกสุทธิก็เป็นไปได้สูง

ปัญหาจากภาวะเงินทุนไหลออกต่อเนื่องเหมือนท่อรั่วในขณะนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพคล่องในระบบเหือดหายเท่านั้น ยังกดดันให้ค่าเงินบาทผันผวนรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากค่าความผันผวนของเงินบาทขณะนี้เพิ่มเป็น 6.4% จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 4% และยังมีโอกาสอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 3132 บาท/เหรียญสหรัฐได้ไม่ยากภายในสิ้นปีนี้ หากเงินทุนต่างชาติยังไหลออกอยู่เช่นนี้

ขณะที่การไหลออกของเงินทุนต่างชาติยังทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระยะยาวของไทยปรับสูงขึ้นด้วย

ที่สำคัญ ภาวะเงินทุนไหลออกยังกดดันสภาพคล่องในระบบให้ลดน้อยลง ดันให้ดอกเบี้ยไทยปรับสูงขึ้น สวนทางกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ที่ 0.25% เหลือ 2.50% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยในระยะต่อไป

นัยเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น

ประกาศให้ทราบกันตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า กระแสเงินทุนไหลออกทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยถูกปิดประตูลงแล้ว ในทางกลับกันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากเงินยังไหลออกเร็วและต่อเนื่อง ธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินทุนไหลออก เหมือนธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

เช่นเดียวกัน การระดมทุนจากตลาดการเงินจะยากขึ้นและต้นทุนโน้มสูงขึ้น ไม่ว่าจะผ่านตลาดหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ทิศทางเช่นนี้ สถาบันการเงินจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่เงินลงทุนในพันธบัตรที่ถืออยู่มากมีแนวโน้มขาดทุน

สถานการณ์เช่นนี้ ส่งผลลบต่อธุรกิจสถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก

สถานการณ์ความไม่แน่นอนของค่าเงิน ไม่เพียงแต่ทำให้ดอกเบี้ยที่สะท้อนต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นเท่านั้น ยังจะทำให้การขยายธุรกิจการลงทุน ซึ่งจะไปเกื้อหนุนให้เกิดการจ้างงาน หนุนช่วยการบริโภคในประเทศที่กำลังชะลออยู่ในตอนนี้กลับฟื้นคืนก็อาจจะกลาย เป็นฝันสลายไปด้วย

แถมอาจจะกระทบยาวไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ให้หดต่ำกว่าเดิมก็ได้

ประชาชนรายย่อยตาดำๆ ที่คาดหวังจะกู้เงินเพื่อมาซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม รถยนต์ หรือแม้กระทั่งกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยให้คล่องมือขึ้น อาจจะกู้ยากขึ้น เพราะในภาวะที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มแพงขึ้น มีโอกาสที่หนี้จะเสียมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น

ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง สภาพคล่องเหือดหาย คงไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดคิดจะลดดอกเบี้ยลงเป็นแน่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เข้าสู่ เทศกาลเงินทุน ไหลออก

view