จากสำนักข่าวอิสรา
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งผ่านเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
การประเมินผลกระทบนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
และความเปราะบางและความเสี่ยงทางการคลัง ภายใต้นโยบายการลงทุนของรัฐบาล
4 ผลงานวิจัย ที่คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอสดๆ ร้อนๆ บนเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ครั้งที่ 36 เรื่อง “2 ปีนโยบายเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์:ความฝันกับความจริง” ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท กรุงเทพฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อเร็วๆ นี้
สำหรับผลงานวิจัยชิ้นแรก สำนักข่าวอิศรา นำเสนอผ่านรายงาน “ความฝันกับความจริง (1) เปิดงานวิจัย กู้ 2 ล้านล้าน โอกาสสำเร็จ หรือต้องถมเงินใส่ทุกปี” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ไปก่อนหน้านี้แล้ว
บริบทนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ให้ผ่าน
ผลงานวิจัยชิ้นต่อไป “การประเมินผลกระทบนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” โดยดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบหลังจากดำเนินนโยบายไปแล้ว (Post-Evaluation)
ดร.ศุภชัย มองในบริบทค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเป็นเวลานาน ความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน “ ให้นโยบายนี้ผ่าน” ด้วยเหตุผลเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์
แต่ทั้งนี้ ก็ยังมี “จุดอ่อน” ที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอาจทำให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวในเมือง เพราะไม่มีแรงจูงใจให้กระจายการผลิตไปต่างจังหวัด เนื่องจากมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น อีกทั้งการนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ กลายเป็นนโยบายที่ช่วยแรงงานต่างชาติ เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น
ผลการที่ค่าแรงของประเทศสูงขึ้นนั้น ดร.ศุภชัย มองอีกแง่มุมว่า ยังส่งผลให้การแข่งขันในด้านการส่งออกของประเทศอาจเกิดปัญหา อาจมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า รวมถึงประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์กันมาก คือ การปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าบริการสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ทำให้เกิดภาวะของแพง จนท้ายที่สุดผู้บริโภคทั้งประเทศกลายเป็นผู้รับภาระ
“นโยบายนี้ทำบนพื้นฐานของความไม่พร้อมตั้งแต่แรก ทั้งทิศทาง การประชาสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม” ตรงจุดนี้ ดร.ศุภชัย ประเมินให้ตก ก่อนมีข้อเสนอแนะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคต ต้องมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านด้วย เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขผลกระทบอย่างบูรณาการ เช่น มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่อาจไม่ตรงจุด มาตรการทางภาษี SME ไม่ได้มีกำไร ไม่ต้องเสียภาษี ฉะนั้น การลดภาษี ผู้ได้ประโยชน์ คือ บริษัทใหญ่ เป็นต้น
ดร.ศุภชัย สรุปสุดท้ายว่า ความฝันกับความจริง นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ความจริง ในเรื่องการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานในภาพรวม แต่ที่เหลือบางส่วนอาจเป็นความฝัน ยังไม่สำเร็จจริง นั่นก็คือ การเพิ่มผลิตภาพความสามารถในการแข่งขัน การรักษาระดับราคาสินค้าและบริการ และทักษะแรงงานที่ยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้
ฝัน...ปรับโครงสร้างภาษี ช่วยผู้มีรายได้น้อย
อีกหนึ่งนโยบายเศรษฐกิจ ช่วง 2 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีการปรับโครงสร้างภาษีที่น่าสนใจ คือ การปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% ในปี 2554 ลงมาอยู่ที่ 20% ในปี 2556 และการประกาศปรับโครงสร้างอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีการแบ่งขั้นของการจัดเก็บและอัตราการจัดเก็บใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีปฏิทิน 2556
ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า รายได้ส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ 90% มาจากการจัดเก็บภาษี ของ “กรมสรรพากร กรรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร” ส่วนรายได้ที่รัฐบาลหามาได้เองผ่านการทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักษ์ และหน่วยงานอื่นๆ มีแค่ 10% เท่านั้น ฉะนั้นการเรียกร้องสิ่งต่างๆไปยังรัฐบาล ก็คือเงินที่มาจากกระเป๋าพวกเราเอง
จากการประมาณการเบื้องต้น การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ดร.ภาวิน ระบุว่า จะส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2563 ราว 2.32 ล้านล้านบาท ขณะที่การปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่จัดเก็บได้ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มเติมอีกราว 3.05 แสนล้านบาท
“รายได้ที่รัฐบาลสูญเสียไปเทียบได้กับรายจ่ายทั้งปีงบประมาณ 2555 เลยทีเดียว ในมุมมองของผม นโยบายการปรับลดภาษี ไม่ต่างจากนโยบายการใช้จ่ายของรัฐบาล ฉะนั้นการปรับลดภาษีต้องดูด้วยว่า ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ได้รับประโยชน์ คือใคร คุ้มหรือไม่ ที่ต้องใช้จ่ายเงินถึง 2.6 ล้านล้านบาท สูงกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่ง 2 ล้านล้าน ช่วง 7 ปีข้างหน้า”ดร.ภาวิน ชี้ให้เห็นรายได้ที่รัฐต้องสูญเสีย จากการทำนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ไม่ตรงจุด
อย่างไรก็ตาม งานศึกษานี้ได้เสนอแนะให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเพื่อทำหน้าที่ในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยรัฐต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้าง “ค่าลดหย่อน”ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในขณะเดียวกันอาจเพิ่มองค์ประกอบของ Negative Income Tax เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับประชากรไทยได้
ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของนโยบายการลดหย่อนภาษีอย่างจริงจัง เช่น ปรับกระบวนการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน ลดความซ้ำซ้อนภาษีเงินโอนระหว่างประเทศ และระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจถูกใช้เพื่อจูงใจให้เกิดการวิจัยและพัฒนาภาย ในประเทศได้
ข้อกังวลต่อความเปราะบางระบบการคลังในระยะยาว
สุดท้าย โครงการต่างๆ การปรับโครงสร้างภาษี โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากับภาวะความสุ่มเสี่ยงของระบบการคลังประเทศจะเป็นเช่นไร ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ผู้ทำวิจัย มีข้อสรุปจากกรณีศึกษาความเสี่ยงความเปราะบางและความเสี่ยงทางการคลัง ภายใต้นโยบายการลงทุนของรัฐบาล โดยพบความจริงว่า ภาระผูกผันทางการคลังทั้งที่อยู่ในงบประมาณและนอกงบประมาณ ยังสามารถรองรับได้ด้วยฐานะการคลังที่มีอยู่ในระยะสั้น
แต่ในระยะยาว หากมีการนำผลขาดทุนการจำนำข้าวมารวมในระบบงบประมาณ จะมีผลต่อความเปราะบางทางการคลัง
“ในระยะยาว รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจำกัดการเพิ่มของงบประมาณเชิงนโยบาย ประชานิยม ที่ผูกพันงบประมาณให้น้อยลง พยายามรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่สูง รวมถึงอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับโครงสร้างภาษี ทั้งระบบ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ในอนาคต เพื่อเสริมความมั่นคงทางการคลัง”ศ.ดร.สกนธ์ เสนอแนะ พร้อมแสดงความกังวลทิ้งท้ายต่อความเปราะบางของระบบการคลัง ที่ประเทศเคยได้รับความน่าเชื่อถือว่า มีวินัยทางการคลังที่ดีจะต้องอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงความไม่ยั่งยืนได้ในระยะ ยาว
ฉะนั้น หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ฝันร้ายอาจจะตามหลอกหลอนเราไปอีกนาน...
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน