แก่นความยุติธรรม
โดย : ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เป้าหมายของการอำนวยความยุติธรรมคือความยุติธรรมที่สังคมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และศรัทธาในผลลัพธ์ที่ปรากฏ
หากเป็นเช่นนี้ย่อมหมายถึงความยุติธรรมที่มีความเป็นภาวะวิสัยที่สังคมโดยส่วนรวมมีความมั่นใจ แต่การอำนวยความยุติธรรมเช่นว่านี้จะมีอะไรเป็นแก่นสาระสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความยุติธรรมดังที่ทุกคนต้องการและคาดหวัง
การอำนวยความยุติธรรมเกิดขึ้นได้มากมายหลายรูปแบบและมีกลไกในการอำนวยความยุติธรรมอยู่มากมายขึ้นอยู่กับว่ากลไกเหล่านั้นจะมีภารกิจอะไร การอำนวยความยุติธรรมอาจเกิดขึ้นในบ้าน ในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อให้มองการอำนวยความยุติธรรมในทางกว้างไม่จำกัดอยู่เฉพาะการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาเท่านั้น เพราะในการดำรงชีวิตประจำวันของเราในยุคนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมอยู่เสมอ
การอำนวยความยุติธรรมจึงหนีไม่พ้นจะต้องเกี่ยวพันและต่อเนื่องกับความชอบธรรม จนอาจกล่าวได้ว่าความชอบธรรมนี่แหละคือแก่นสาระสำคัญของการอำนวยความยุติธรรม
การมองวิธีการและกลไกในการอำนวยความยุติธรรมในสังคมอย่างกว้างที่ครอบคลุมไปถึงการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในบ้านจนไปถึงสังคมใหญ่ รวมไปถึงการเริ่มมองเรื่องความเป็นธรรมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านไปจนถึงเรื่องการกำหนดวิถีชีวิตของคนในสังคม จะเป็นบันไดเริ่มไปสู่การพัฒนาวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยควบคู่กันไปด้วย
การคำนึงถึงวิธีการ ขั้นตอน และกลไกในการสร้างความเป็นธรรมที่เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวจะเป็นพื้นฐานของวิธีคิดแบบยุติธรรมชุมชนที่ใส่ใจกับแก่นสาระของความยุติธรรมมากกว่าการเข้าใจว่าการอำนวยความยุติธรรมเป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้พิพากษาเท่านั้น เพราะการมีกรอบความคิดและความเข้าใจเช่นนั้นจะทำให้การอำนวยความเป็นธรรมเสมือนถูกยึดอยู่กับระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมายที่เป็นแบบพิธีเท่านั้น และผู้อำนวยความเป็นธรรมจะต้องเป็นผู้ที่ถืออำนาจรัฐหรือผู้ที่ได้รับการฝึกฝนหรือร่ำเรียนมาในทางกฎหมายเท่านั้น
การสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมด้วยการทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาในความยุติธรรมจึงต้องมุ่งไปที่ความชอบธรรมของขั้นตอนและวิธีการของการอำนวยความยุติธรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายหรือผลลัพธ์ในแต่ละเรื่องหรือแต่ละกรณี จึงอาจกล่าวได้ว่าขั้นตอนและวิธีการในการอำนวยความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นที่มาของความชอบธรรม
การอำนวยความยุติธรรมในแต่ละเรื่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องสร้างความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของกระบวนการ นอกจากนั้นวิธีการในการอำนวยความยุติธรรมจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละกรณีไปจึงจะส่งผลให้การอำนวยความยุติธรรมเกิดความชอบธรรมจนเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นแก่สังคมโดยทั่วไป
ย้อนกลับไปจากที่กล่าวไว้ในตอนต้นจะเห็นได้ว่าวิธีคิดและวิธีการเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่คิดว่าวิธีการและกลไกในการอำนวยความยุติธรรมจะต้องเป็นกระบวนการและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอาชีพทางด้านกฎระเบียบหรือกฎหมายโดยเฉพาะเท่านั้น เมื่อเหลียวมองไปในการดำรงชีวิตประจำวันแล้วจะเห็นได้ว่าไม่เป็นเช่นที่เคยคิด ด้วยเหตุที่ว่าทุกคนในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุที่การอำนวยความยุติธรรมมีความหมายและภารกิจที่กว้างขวางขึ้นและเพื่อให้ยังคงศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม การคำนึงถึงแก่นสาระของความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความหลากหลายของสถาบันทางสังคมที่มีภารกิจในการอำนวยความยุติธรรม และต่อจากนั้นจึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขั้นตอนและวิธีการในการอำนวยความยุติธรรมจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
หากเป็นไปได้จริง ผลพวงของพัฒนาการเรื่องนี้ในอนาคตจะเป็นพื้นฐานของสังคมนิติธรรมซึ่งถือเป็นเสาหลักสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่คนในสังคมมีการตื่นรู้และคำนึงถึงความชอบธรรมของขั้นตอนและวิธีการในการอำนวยความยุติธรรมซึ่งถือเป็นแก่นสาระแห่งความยุติธรรมที่แท้จริง มากกว่าเพียงการรับฟังผลลัพธ์ของการอำนวยความยุติธรรมแต่ไม่ไว้วางใจหรือเคลือบแคลงในผลที่ปรากฏแก่สาธารณะ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน