จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวในประเทศ
หากเจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจ ... ประชาชนที่รวมตัวกันอยู่ใน “พื้นที่ความมั่นคง” เพื่อประกาศจุดยืนคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีโอกาสถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ
ยิ่งหากเจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจบุกเข้าสลายการชุมนุม ... กระจายกำลังกวาดต้อนล้อมรวบชาวบ้านตาดำๆ เข้ากรงขัง โดยอ้างอำนาจตามกฎหมายความมั่นคงด้วยแล้ว แน่นอนว่า “ผู้เสียหาย” ยากจะต่อต้าน
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทาง “แข็งขืน” หรือไม่มีทาง“ต่อสู้” !!!
ถ้าคุณเดินทางไปร่วมม็อบด้วยความเชื่อ ด้วยศรัทธา ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ และมั่นใจว่าตลอดการชุมนุมไม่เคยพกพาอาวุธ ไม่เคยละเมิดกฎหมาย ไม่เคยทำลายสมบัติสาธารณะ ไม่เคยทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือใครผู้ใด
ถ้า 2 มือของคุณ ข้างหนึ่งถือมือตบ ข้างหนึ่งกุมนกหวีด ... มีเท่านั้นแล้วยังถูกจับ
โปรดฟังทางนี้...
มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
นอกจากนั้นแล้ว ... ใครหน้าไหนก็ไม่สามารถจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้
สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ อธิบายว่า ถ้าประชาชนมาร่วมชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐานโดยปราศจากอาวุธ ตามหลักการแล้วรัฐบาลไม่สามารถจำกัดสิทธิด้วยการประกาศเขตความมั่นคงได้
ที่สำคัญหากชาวบ้านมาแสดงออกโดยไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีความรุนแรง ไม่ใช้การสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชาวบ้านไม่ควรมีความผิดและไม่ควรถูกจับกุมแต่อย่างใด
“ถ้าเกิดปัญหาขึ้นระหว่างการชุมนุมจริง เจ้าหน้าที่รัฐควรเล่นงานแกนนำมากกว่าชาวบ้าน” สุรพงษ์ ระบุ
ทนายความรายนี้ อธิบายต่อไปว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมจริงจำเป็นต้องแยกชาวบ้านออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ชาวบ้านที่กระทำผิดกฎหมาย พกพาอาวุธ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ใช้ความรุนแรง หากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานสามารถจับกุมได้โดยทันที
2.ชาวบ้านที่มาชุมนุมอย่างสงบสันติด้วยความบริสุทธิ์ใจ กลุ่มคนเหล่านี้มีช่องทางการต่อสู้
“ชาวบ้านเหล่านี้ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่ทราบสิทธิของตัวเอง และเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการจับกุมโดยไม่เคยแจ้งสิทธิให้ทราบ จึงมีข้อแนะนำเพื่อให้สามารถต่อสู้ได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองโดยทนายความ” สุรพงษ์ กล่าว
สำหรับข้อแนะนำจาก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ประกอบด้วย
1.เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจับกุมประชาชนต้อง แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นพนักงานรัฐและมีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น ถ้าไม่มีความชัดเจนไม่ถือว่ามีอำนาจดำเนินการ
2.ผู้ที่ถูกจับกุมต้องถามเจ้าหน้าที่ว่า กระทำความผิดข้อหาอะไรและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอะไรมาจับ อย่างไรก็ตามหากเจ้าหน้าที่ชี้แจงไม่ชัดเจนแต่ยืนยันที่จะนำตัวไปยังโรงพัก แนะนำว่าอย่าขัดขืนหรือต่อสู้ใดๆ
3.เมื่อถูกควบคุมตัวมายังโรงพักแล้ว ให้ผู้ถูกจับกุมให้เฉพาะข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวเอง อาทิ ชื่อ สกุล ที่อยู่ อาชีพ แก่เจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่ควรให้ข้อมูลอะไรมากกว่านี้ ที่สำคัญเมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบข้อกล่าวหาได้แต่ห้ามรับสารภาพโดย เด็ดขาด
4.ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่ให้การเป็น คำพูด แต่จะขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเอกสารแทน ซึ่งตามกรอบของกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ถึง 30 วัน
5.ให้ติดต่อทนายความเพื่อจัดทำคำให้การสำหรับต่อสู้คดีต่อไป
“กฎหมายบังคับให้ผู้ต้องหาต้องมีทนายความสำหรับต่อสู้คดีในชั้นศาลเท่า นั้น ส่วนชั้นสอบสวนหลังถูกจับกุมกฎหมายไม่ได้บังคับ นั่นจึงอาจเป็นเรื่องลำบากของชาวบ้านตาดำๆ ที่มาชุมนุมอย่างบริสุทธิ์ใจ ข้อแนะนำคือให้ญาติจ้างทนายความ หรือถ้าไม่มีกำลังให้ติดต่อมายังสภาทนายความเพื่อขอทนายอาสาเข้าไป” ทนายความรายนี้ระบุ
สอดคล้องกับคำแนะนำจาก พวงทิพย์ บุญสนอง หรือ ทนายมิ้นท์ ที่ระบุว่า เมื่อถูกดำเนินคดีในการสลายการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง
1.ให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ไปหาทนายความที่ไว้ใจ
2.ให้แจ้งพนักงานสอบสวนว่าต้องการทนายความ
3.ผู้เสียหายสามารถให้ข้อมูลเบื้องต้น เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ อาชีพ ที่อยู่ โดยไม่ต้องให้รายละเอียดอื่น และให้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
4.แจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน 5.ห้ามเซ็นชื่อในเอกสารทุกชนิด โดยพิมพ์ลายนิ้วมือได้ แต่ห้ามเซ็นชื่อในแบบพิมพ์ลายนิ้วมือจนกว่าทนายความจะมา
สำหรับสภาทนายความ ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน โดยเปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. ส่วนในต่างจังหวัดมีสภาทนายความประจำจังหวัดเช่นกัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน