สิทธิพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย
โดย : ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์มีหลายประเภท และแน่นอนว่าเราทุกคนยอมรับสิทธิความเป็นพลเมืองของแต่ละคนเป็นปัจจัยสำคัญของความเป็นมนุษย์
ดังนั้น การยอมรับและเคารพในสิทธิพลเมืองจึงเป็นการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมของการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตยในแต่ละสังคม
การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองที่สำคัญๆ ในแต่ละสังคมมักจะเน้นไปที่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งและลงคะแนนเสียง ซึ่งสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยและเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย
หากจะหันมามองประเด็นพัฒนาการของสิทธิพลเมืองในสังคมไทยเพื่อที่จะมองแนวโน้มพัฒนาการของประชาธิปไตยก็เห็นว่าเราอาจมองเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่ง เนื่องด้วยเห็นว่าพัฒนาการของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองมีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยโดยรวมเพราะทิศทางของการใช้สิทธิพลเมืองนอกจากจะเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยแล้วยังเป็นรากฐานของการเสริมสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและสังคมแห่งนิติธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย
การตื่นตัวในการเรียกร้องและแสดงออกซึ่งสิทธิพลเมืองจึงเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน โดยเฉพาะหากเป็นการตื่นตัวในเรื่องของการเรียกร้องความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม การแสดงออกร่วมกันทางการเมืองของกลุ่มคนหรือองค์กรที่มีความคิดเห็นร่วมกันอย่างสงบและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนเกินเหตุอันควร ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยมาโดยตลอด แต่จะถือเป็นพัฒนาการของสังคมประชาธิปไตยเพียงใดดังที่กล่าวไว้ข้างต้น น่าจะต้องมองเรื่องนี้อย่างรอบด้าน
พัฒนาการของการใช้สิทธิพลเมืองถือว่าเป็นกระบวนการทางสังคมที่เป็นกระบวนการเดียวกันและทับซ้อนไปกับกระบวนการพัฒนาสังคมนิติธรรมและสังคมสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ในทางสากลถือว่าเป็นเสาหลักของการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้น การจับตามองพัฒนาการของการส่งเสริมคุ้มครองและการใช้สิทธิความเป็นพลเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้จึงสะท้อนทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตได้เป็นอย่างดี
หากเริ่มต้นมองจากการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติและต้องได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ประเด็นนี้พบว่าสังคมไทยมีพัฒนาการในด้านนี้มาโดยตลอดแต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าและถูกตั้งคำถามด้วยเหตุของการรัฐประหารในปีพ.ศ.2549 รวมไปจนถึงประเด็นการบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ.2553 ซึ่งหากเห็นว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อการพัฒนาต่อไปก็คงจะต้องมีการทบทวนและสังเคราะห์ประสบการณ์และบทเรียนทั้งในเชิงระบบคุณค่าและในทางปฏิบัติเพื่อหาทิศทางที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัญหาเรื่องการอำนวยความยุติธรรมและบทบาทของระบบงานยุติธรรมมีความเกี่ยวพันกับการเข้าถึงและการใช้สิทธิพลเมืองอย่างใกล้ชิดจนอาจนำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมนั้นๆ มีพื้นฐานเป็นสังคมประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบงานยุติธรรมอย่างต่อเนื่องจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามในขณะนี้คือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้สิทธิพลเมืองที่มีผลต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย เรื่องนี้เราได้รับประสบการณ์ร่วมกันมาโดยตลอดและเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่ายังขาดความชัดเจนในทิศทางของการพัฒนาความเข้าใจในความหมายและขอบเขตของการใช้สิทธิพลเมืองประเภทนี้ ส่งผลให้สังคมเกิดความลังเลและสับสนจนเชื่อมโยงไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ถูกกล่าวหาและลงโทษว่าใช้อำนาจเกินขอบเขตและเป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจนนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมมาโดยตลอด
ในสังคมประชาธิปไตยการแสดงออกทางความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมต้องถือว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่สำคัญ เพราะถือเป็นกระบวนการที่ประชาชนสามารถแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการปกครองทั้งในแง่การวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและภาคประชาชนด้วยกันเอง และเช่นกันสำหรับสังคมไทยการเข้าถึงและการแสดงออกซึ่งสิทธิพลเมืองในด้านนี้ยังคงไม่อาจพัฒนาตัวเองไปสู่การยอมรับร่วมกันเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ได้
การใช้สิทธิพลเมืองในสังคมไทยยังคงต้องการเวลาในการสร้างความหมายและขอบเขตร่วมกันจนเอื้อต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่มีบริบทเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน