จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นักวิชาการชี้การกระจายอำนาจการปกครอง เป็นหนึ่งทางออกให้กับประเทศ ชี้ 30 ปีข้างหน้า ไทยถึงสามารถปลดแอกยุคการเมืองประชานิยม
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการจัดเวทีสาธารณะ กสว. : ความรู้สู่การปฎิรูประเทศไทย ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอ "ทิศทางใหม่และทางเลือกของการกระจายอำนาจและการปกครองตนเองของท้องถิ่น" เพื่อรับฟังนโยบายและข้อเสนอแนะในการปกครองประเทศไทยไปสู่การออกแบบประเทศไทยใหม่ ไปสังเคราะห์และนำเสนอต่อพรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไปในอนาคต โดยมี ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานกล่าวเปิดว่า การรวมศูนย์อำนาจในประเทศไทย มีแนวโน้มจะให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ทั้งอำนาจและงบประมาณสูงขึ้น อันนำไปสู่การคอร์รัปชั่นมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องกระจายอำนาจที่เหมาะสม เพื่อจะสร้างความเจริญในระยะยาวแก่ประเทศไทยต่อไป
ศ.(พิเศษ) ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม และที่ปรึกษาชุดโครงการกระจายอำนาจของ สกว. กล่าวถึงทิศทางใหม่และทางเลือกของการกระจายอำนวจและการปกครองตนเองของท้องถิ่น" ว่า ประเทศไทยรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งข้อดีคือสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพในการปกครอง รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพจนสามารถพัฒนาจากประเทศยากจนและล้าหลังจนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ข้อเสียคือไม่สามารถกู้เงินช่วยเหลือได้ทั้งหมดแต่กลับต้องช่วยเหลือประเทศอื่นที่ยังยากจนกว่า ทั้งที่คนยากจนในประเทศไทยยังมีอยู่มาก เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรวมศูนย์อำนาจทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมก็ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เป็นพลังขับเคลื่อนก็กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวต่อไป ประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบที่รวมศูนย์อำนาจมาเป็นเอกรัฐที่มีระบบกระจายอำนาจ
ศ.(พิเศษ) ดร.สมชัยการเรียกร้องให้กระจายอำนาจในทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมี พรบ.กระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2540 แล้ว เนื่องจากความจำเป็น 3 ประการ คือ 1. เหตุผลทางเศรษฐกิจ การรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางทำให้เกิดการกระจุกตัว เกิดภาวะการณ์ความแตกต่างของระดับขั้นความเจริญ และขยายตัวมากขึ้น เพราะรากเหง้าที่ทำให้เกิดความแตกต่างมาจากการรวมศูนย์อำนาจ 2. เหตุผลทางการเมือง เมื่ออำนาจอยู่ที่ส่วนกลางและเป็นผู้ตัดสินใจใช้ทรัพยากรของแผ่นดินจากท้องถิ่นมีน้อยมาก ถ้าเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีมากขึ้นในหลายๆพื้นที่ เพื่อลดความเข้มข้นของการแข่งขันในพื้นที่เดียว ทั้งนี้การรวมศูนย์อำนาจเอื้อต่อการยึดอำนาจไว้เพียงจุดเดียว จึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจ และระดมคนที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เราต้องสร้างผู้นำในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ นายกรัฐมนตรีส่วนมากมาจากทหาร นักกฎหมาย และนักธุรกิจ แต่นักการเมืองที่เติบโตจากการเป็นผู้ปกครองในเชิงพื้นที่ระดับต่างๆ และ3. เหตุผลทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมมีส่วนในการปกครองตนเองและกำกับดูแลอำนาจรัฐมากขึ้น
ด้าน รศ. ดร.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้ว่า รากของปัญหาสังคมไทยวันนี้ ถือเป็นวิกฤติที่ยังมีปัญหาช่องว่างมากเกินไป นโยบายของคนและพรรคการเมือง ทรรศนะของประชาชนในการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันยังเป็นปัญหา ทำให้ระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่ โดยที่การตัดสินใจของประชาชนที่แตกต่างจึงไม่สามารถตำหนิได้เพราะประชาชนยังขาดโอกาสอยู่ อีกปัญหาหนึ่งคือความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในวันนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าต้องมาจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมากเป็นประชาธิปไตย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าต้องมีคุณธรรมและคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก นอกจากการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจแล้วเรายังต้องทำให้ประชาชนใช้เหตุผลกับความเห็นที่แตกต่างเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้
อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจทำได้บนพื้นฐานแนวคิดการปฏิรูปบริหารจัดการทรัพยากร โดยให้ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจเอง มีการกระจายอำนาจให้ชุมชน จังหวัดได้จัดการตนเอง โดยปัจจุบัน จะเห็นว่า การขยับตัวของกลุ่มต่าง ๆ และภาคประชาสังคมทำให้การตื่นตัวเรื่องนี้เข้าสู่ภาวะสุกงอมมากขึ้น แต่จะออกแบบอย่างไรที่จะไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ทศวรรษแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 อปท.เป็นเครื่องมือปรับบทบาทและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น การให้อิสระในการบริหารจัดการการกระจายอำนาจวันนี้ช่วยนำไปสู่ความมีส่วนร่วมของประชาชน รู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรและการตัดสินใจ การบริหารจัดการท้องถิ่นกลับไปที่ประชาชนผ่านองค์กรท้องถิ่น ไม่เฉพาะการเลือกตั้งแต่เป็นกระบวนการตัดสินใจทั้งหมด ในอนาคตคือการทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง นี่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม
ส่วนนายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) กล่าวว่า ได้มีการเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเองโดยเริ่มแห่งแรกที่เชียงใหม่เป็นเวลา 5 ปีแล้ว โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองจังหวัดตามเจตจำนงค์ของประชาชนและจัดการพื้นที่ของตนเอง เช่น การจัดการน้ำ ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแต่กลับมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจและถูกกดทับจากรัฐส่วนกลาง ต่างจากมหานครของประเทศอื่น ๆ ที่ปกครองตนเองอย่างอิสระ เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติจังหวัดปกครองตนเอง ขณะนี้ดำเนินการไป 45 จังหวัด ปักธง 24 มิถุนายน มีผู้ว่าจากการเลือกตั้ง สภาท้องถิ่น สภาพลเมือง
ขณะที่ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นยุคหลังสุดของการกระจายอำนาจ ยุบสุขาภิบาลยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด นายก อบจ.มาจากการเลือกตั้ง และเลือกตั้งอปท. โดยตรงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา หลังปี 2544 ถึงปัจจุบัน ท้องถิ่นมีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในการจัดบริการสาธารณะพื้นฐานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน บางเรื่องทำหน้าที่ได้ดีกว่ารัฐบาล เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม การเมืองท้อถิ่นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นักการเมืองท้องถิ่นมีมากขึ้น ประเด็นท้าทายในวันนี้คือ รัฐบาลและระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้อปท.ตามที่กฎหมายกำหนด และยังวางยา อปท. โดยใช้กลอุบายต่าง ๆ เช่น ไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ทำหน้าที่แต่ไม่ให้อำนาจและงบประมาณ โดย อปท.ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก รับถ่ายโอนภารกิจขนาดใหญ่และซับซ้อนไม่ได้ หลายแห่งอยากส่งคืนหน้าที่ให้รัฐบาลเพราะเมื่อจัดการไม่ได้ประชาชนก็จะสูญเสียประโยชน์
ศ.ดร.จรัส ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มของประเทศที่กำลังติดกับดัก แฮมิลตัน พาราด็อกซ์ (Hamiltion paradox) เป็นสภาวะที่รัฐบาลกับท้องถิ่นใช้งบประมาณจากแหล่งเดียวกัน ไม่ถ่ายโอนกระเป๋าตังค์ไปยังท้องถิ่น ทำให้เกิดการพึ่งพาและของบจากรัฐบาลกลางเท่านั้น เกิดความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง โดยหลายเมืองพบว่า ในระยะยาวท้องถิ่นไม่พึ่งพาตัวเองทางการคลัง แต่ล็อบบี้จากส่วนกลาง และเป็นฐานเสียงของส่วนกลาง เกิดปัญหาการพึ่งพารัฐบาลกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรัฐบาลแบกไม่ไหวและกลายเป็นการขาดดุลทางการคลัง โดยระหว่างนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงเพาะเชื้อและรอวันที่จะปะทุขึ้น
ศ.ดร.จรัส มองว่า ในอนาคต 30 ปีข้างหน้า จำนวนคนในเมืองเพิ่มขึ้น ขณะที่ชนบทลดลงพื้นที่เพาะปลูกลดลง คนในภาคการเกษตรลดลง ความมั่นคงด้านอาหารลดลง คนพึ่งพาระบบทุนนิยมมากขึ้น พึ่งตนเองได้น้อยลง โดยการปกครองของเมืองขนาดใหญ่ย่อมต้องการความเป็นอิสระจากรัฐมากขึ้น มีท่าที “แข็งเมือง” กับรัฐส่วนกลางมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามชุมชนชนบทจะอ่อนแอ และพึ่งพาเมืองใกล้เคียงมากขึ้น รัฐบาลไม่สามารถจัดการ ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์
"ในปี 2586 นโยบายการประชานิยมน่าจะหมดไป ส่วนการกระจายอำนาจน่าจะมี อปท.หลัก ๆ เพียง 2 ระดับ คือ อบจ.(จังหวัดปกครอง/จัดการตนเอง) และเทศบาล โดยแต่ละจังหวัดน่าจะมี อปท. ประมาณ 10 - 15 แห่ง อีกทั้งอาจมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่น ๆ เช่น เขตปกครองตนเอง 3 จังหวัดภาคใต้ เมืองชายแดน ฯลฯ รวมทั้งประเทศจะมี อปท. ไม่เกิน 760 - 1,140 แห่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับราชการส่วนภูมิภาค คือ จังหวัดและอำเภอจะลดความสำคัญและต้องยุบเลิกไปในที่สุด เมื่อหมดยุคการเมืองประชานิยมในระดับชาติแล้ว บทบาทของรัฐบาลในการจัดบริการในระดับชุมชนผ่าน(จังหวัด อำเภอ) จะค่อย ๆ หมดไป"ศ.ดร.จรัส กล่าว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน