วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด "ระบอบทักษิณ" ในตลาดทุน (1)
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผ่านกลางเดือนมกราคม ปี 2014 สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน ภายใต้การนำของ กปปส.
ยังดูมืดมนไม่เห็นทางออก เพราะ กปปส. ยืนกรานว่าถึงอย่างไรก็ต้อง “ปฏิวัติประชาชน” ยึดเอาอำนาจรัฐมาจัดการ “ปฏิรูปประเทศ”
ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าจะ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ประเทศก็วุ่นวายทั้งนั้น แต่ระดับความวุ่นวายไม่เท่ากัน ถ้าเลือกตั้งก่อนเปรียบเสมือนวิ่งลงหลุม แต่ถ้าเรายอมให้ กปปส. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั่นเท่ากับเราจะวิ่งไปตกเหว ถอยหลังไปนับสิบปีเลยทีเดียว
เนื่องเพราะการปฏิรูปโดยธรรมชาติต้องใช้เวลา และที่สำคัญกว่านั้นคือ ใครก็ตามที่กุมอำนาจรัฐมาจัดการปฏิรูป จะต้องได้รับความชอบธรรมจากประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ “มวลมหาประชาชน” ดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ สรุปไว้ว่า
“ถ้าจะมีบทเรียนอะไรที่สังคมไทยควรเรียนรู้ได้จากความพยายาม "ปฏิรูป" ประเทศที่ผ่านมาและล้มเหลวสิ้นเปลืองเงินทอง เรี่ยวแรง ความคิดและชีวิตผู้คนไปเปล่าๆ แล้ว มันคือสิ่งนี้ - “ความชอบธรรมของอำนาจที่จะมาทำการปฏิรูป” สำคัญที่สุด
ต่อให้เป็นแผนปฏิรูปที่วิเศษสุดของนักปราชญ์ราชบัณฑิต สถาบันวิจัยหรือเทคโนแครตท่านใด หากอำนาจที่ใช้มาผลักดันกำหนดการปฏิรูป ไม่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากฉันทานุมัติของประชาชนเจ้าของประเทศ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องแล้ว ในที่สุดมันจะถูกรื้อทิ้ง ย้อนกลับ โยนไว้ในกองขยะประวัติศาสตร์ตลอด …ไม่ว่าคุณจะโดยสารรถถังมาเหมือนคราวก่อน หรือโดยสาร กกต.+ศาลรธน.+กปปส. มาในคราวนี้ สุดท้ายก็จะล้มเหลว คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับอยู่ดี”
ข่าวดีในข่าวร้ายคือ วิกฤตรอบนี้จุดประกายให้ “การปฏิรูปประเทศไทย” จุดติดเป็นกระแสสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เราได้เห็นข้อเสนอการปฏิรูปประเทศจากหลายกลุ่มที่มีความหลากหลายสูงมาก ตั้งแต่ กปปส. องค์กรภาคประชาสังคม ไปจนถึงองค์กรธุรกิจเอกชน
ถ้าเราโชคดี ผ่านพ้นช่วงเวลาคับขันนี้ไปได้ เราน่าจะได้เห็นวิวาทะเรื่องการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมในสาธารณะมากขึ้นมาก รวมถึงอาจได้เห็นการ “ปัดฝุ่น” ชุดข้อเสนอซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยเคยยื่นต่อรัฐบาลสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ แต่ไม่ได้รับการสานต่อเป็นนโยบาย
อย่างไรก็ดี ในบรรดาชุดข้อเสนอปฏิรูปต่างๆ ผู้เขียนยังไม่เห็นข้อเสนอที่จะขจัด “ระบอบทักษิณ” ในมิติที่เกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งหมายรวมทั้ง “คอร์รัปชั่นทางตรง” คือผิดกฏหมาย เช่น การซุกหุ้น กับ “คอร์รัปชั่นทางอ้อม” คือไม่ผิดกฏหมาย เช่น การแทรกแซงหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนให้ตัดสินเข้าข้างตัวเอง และการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง แต่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงกว่าเดิม
ในฐานะคนหนึ่งที่วิพากษ์ “ระบอบทักษิณ” ในตลาดทุน โดยมองผ่านพฤติกรรมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปลายปี 2548 เรื่อยมาจนเกิดดีลอัปยศขายหุ้นชินคอร์ปเมื่อต้นปี 2549 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เขียนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 7 ชิ้น (อ่านฉบับที่ตีพิมพ์แล้วได้จากบล็อกของผู้เขียน www.fringer.org) ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้รวบรวมข้อเสนอต่างๆ ที่เคยเขียนในคอลัมน์นี้และท้ายรายงานวิจัยต่างๆ มานำเสนอในที่เดียวกันอีกครั้งหนึ่ง
1. ข้อเสนอปฏิรูปเพื่อเพิ่มต้นทุนของการทุจริตในตลาดทุน (คอร์รัปชั่นทางตรง)
1.1. ออกกฏห้ามไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหลักทรัพย์ และกำหนดให้รายการซื้อขายหลักทรัพย์ทุกกรณีเป็นข้อมูลสาธารณะ
1.2. ปรับปรุงกฏเกณฑ์การเปิดเผยตัวตนผู้ถือหุ้นที่แท้จริง โดยแก้ไขนิยามของ “บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน” ตามมาตรา 258 ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ให้ครอบคลุม “นอมินี” และ “เจ้าของหุ้นที่แท้จริง” ด้วย
1.3 ออกกฏระเบียบที่เอื้อต่อการใช้กองทุนถือแทน (blind trust) สำหรับนักการเมือง
1.4. เพิ่มบทลงโทษสถาบันตัวกลาง (อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ คัสโตเดียน บริษัทจัดการกองทุน ฯลฯ) ฐานร่วมมือกับนักการเมืองซุกหุ้น หรือกระทำการทุจริตอื่นใดในตลาดทุน
1.5. แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจทางแพ่งแก่ ก.ล.ต.
1.6. ปรับปรุงกลไกที่จะช่วยให้นักลงทุน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย สามารถฟ้องเรียกความเสียหายจากผู้กระทำผิดได้อย่างสะดวกและมีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการออกกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action law)
1.7. เพิ่มโทษกรณีทุจริตตามกฏหมายหลักทรัพย์ ให้ทัดเทียมกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค
1.8. เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์และกฏเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเปิดเผยข้อมูล บังคับใช้กฏระเบียบด้านนี้กับสื่อมวลชนที่รายงานข่าวหุ้นด้วย
1.9. เปลี่ยนทัศนคติและแนวพิพากษาของศาลไทย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการป้องปรามคอร์รัปชั่น มิใช่ยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลอย่างตายตัว
2. ข้อเสนอปฏิรูปตลาดทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มต้นทุนในการแทรกแซงองค์กรกำกับดูแลตลาดทุน (คอร์รัปชั่นทางอ้อม)
2.1. เร่งแปลงสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นบริษัทมหาชน และเปิดเสรีธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์อย่างครบถ้วนตามแผนพัฒนาตลาดทุน (ซึ่งถูก กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันและอดีตผู้จัดการ ตลท. “แขวน” มานาน) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมเป็นเจ้าของตลาดหลักทรัพย์โดยตรง จากปัจจุบันที่โครงสร้างคณะกรรมการ ตลท. ยังถูกครอบงำโดยบริษัทหลักทรัพย์
2.2. เก็บภาษีผลได้จากทุน (capital gains) เฉพาะกรณีขายหุ้นเก่าล็อตใหญ่ (big lot) บนกระดาน big lot เพื่อลดแรงจูงใจในการหลบเลี่ยงภาษี และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งตลาดทุนมีส่วนสร้าง โดยไม่บั่นทอนแรงจูงใจของคนทั่วไปในการเข้ามาลงทุนในตลาดทุน
2.3. ขจัดลักษณะถดถอย (regressive) ของนโยบายภาษีที่เกี่ยวกับตลาดทุนให้เป็นลักษณะก้าวหน้า (progressive) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งจำเป็นต่อการลดระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น เปลี่ยนระบบการลดหย่อนภาษีกรณีกองทุน LTF และ RMF และขจัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มอบให้กับบริษัทจดทะเบียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
2.4. ใช้ตลาดทุนเป็น “เครื่องมือ” เชิงรุก (proactive) ในการบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น ออกหน่วยลงทุนเพื่อผู้มีรายได้น้อย
2.5. ให้ความรู้แก่สื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกันติดตามสอดส่องผู้กำกับดูแลตลาดทุน และผู้เล่นในตลาดทุกระดับ
ผู้เขียนจะอธิบาย แจกแจงหลักการและเหตุผล ข้อกังวล ความเสี่ยง และวิธีจัดการความเสี่ยง ของข้อเสนอแต่ละข้อข้างต้น นับตั้งแต่ตอนหน้าเป็นต้นไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน