จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
กงล้อประวัติศาสตร์การเลือกตั้งปี 2549 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้โมฆะกำลังมาเยือนอีกครั้ง แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็ได้รับการปฏิเสธ ด้วยการอ้างเหตุผลว่าต้องการรักษาประชาธิปไตย
การเลือกตั้งที่มีขึ้นจึงกำลังนำประเทศไปเผชิญปัญหาที่เห็นอยู่ตรงหน้า และรอระยะเวลาการแก้ไขอีกนานหลายเดือนกว่าทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ปัญหาที่ 1 การนับคะแนนและการประกาศผลการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. มีแนวโน้มจะซ้ำรอยการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ถูกขัดขวาง โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและเกือบจะทุกจังหวัดในภาคใต้
สิ่งที่จะตามมาจากปัญหาข้างต้นก็คือ จะไม่สามารถนับคะแนน สส.บัญชีรายชื่อได้ เพราะต้องใช้คะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. มารวมกันเพื่อคิดหาค่าเฉลี่ยกลางและนำไปคำนวณคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับว่าจะได้ สส.เท่าไหร่จากทั้งหมด 125 คน เมื่อได้คะแนนไม่ครบจากทุกหน่วยเลือกตั้ง จึงประกาศผลการเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อไม่ได้
ขณะที่การเลือกตั้ง สส.ระบบแบ่งเขต แม้จะมีปัญหาในเชิงกฎหมายน้อยกว่า แต่หากมีหน่วยเลือกตั้งหน่วยใดไม่อาจจัดให้ลงคะแนนได้และการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ายังไม่สมบูรณ์ก็จะประกาศผลการเลือกตั้งไม่ได้เช่นกัน
ปัญหาที่ 2 ได้ สส.ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 บัญญัติให้หลังจากการเลือกตั้งจะต้องมี สส.อย่างน้อย 95% จากจำนวน สส.ทั้งหมด หรือ 475 คน จากทั้งหมด 500 คน ถึงจะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานสภาและเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญยังกำหนดการเปิดประชุมรัฐสภาต้องมีขึ้นภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง
แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อได้ สส.ไม่ครบ ทั้งจากเกิดภาวะสุญญากาศของ สส.บัญชีรายชื่อและการไร้ผู้สมัคร สส.ระบบแบ่งเขตถึง 28 เขตเลือกตั้ง จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ สส.จนเปิดสภาได้ทันตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ปัญหาที่ 3 สุญญากาศรัฐบาลไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ จะมีผลต่อเนื่องให้การตั้งรัฐบาลทำไม่ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก ถ้าเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาไม่ได้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องรักษาการต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด
ปัญหาที่ 4 การเลือกตั้งเสี่ยงเป็นโมฆะ
จากปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ความสุ่มเสี่ยงที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะจากผลพวงของการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของรัฐบาล ซึ่ง กกต.ได้ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลไว้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. แล้วว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีเฉพาะปัญหาทางกฎหมายเท่านั้น เพราะแน่นอนว่ากลุ่ม กปปส.จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง สส.ในบางเขตที่ไม่สามารถเลือกตั้งได้ในวันเลือกตั้งใหญ่ 2 ก.พ. ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุว่า การจะเลือกตั้งให้ได้ สส.ครบ 500 คน ภายใน 180 วัน จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“แต่หากเปิดสภาไม่ได้และตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะทำให้รัฐบาลปัจจุบันต้องรักษาการและต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่อไปเรื่อยๆ”อดีต กกต. ระบุ
ด้านภาคเอกชนซึ่งจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อต้องปรับตัวรับมือ พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ผลกระทบจะขยายในวงกว้างขึ้น หากการเมืองเกิดสุญญากาศยาวไปจนถึงกลางปี นอกจากกระทบด้านความเชื่อมั่นคู่ค้าต่างประเทศแล้ว ยังจะกระทบการลงทุนด้วย เพราะหลายกรณีเอกชนต้องขออนุมัติ
เช่น โครงการที่ต้องขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน หากเกินกว่า 200 ล้านบาท ต้องขออนุมัติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่ปัญหาการเมืองทำให้ตั้งบอร์ดใหม่แทนชุดเดิมไม่ได้ ทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากต้องชะลอออกไป
พยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดที่ ส.อ.ท.ได้ยื่นหนังสือ กกต.พิจารณาและเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการให้วงเงินสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท แต่จนขณะนี้ก็ไม่ได้รับคำตอบ นักลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น้อยอยู่แล้วยิ่งลดลงไปอีก
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประเมินว่า จะมีผลกระทบเกิดขึ้น 3 ด้าน คือ
1.การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมานานแล้ว และหากยังยืดเยื้อต่อไป ประเทศต่างๆ ต้องคิดหนักมากในการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย เชื่อว่าปีนี้การท่องเที่ยวคงหมดหวัง ยอดคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ 20 ล้านคน ไม่ขยายตัว
2.การบริโภคภายในประเทศจะไม่ขยายตัว เพราะท่องเที่ยวไม่โต คนในประเทศไม่มีอารมณ์ใช้จ่าย
3.การลงทุนจะไม่เกิดขึ้นเลย รัฐบาลไม่มีนโยบายมากระตุ้นการลงทุน ภาคเอกชนก็ต้องชะลอการลงทุนตามไปด้วย
“หลังวันที่ 2 ก.พ. อย่างน้อย 6 เดือน จะเป็นรัฐบาลกระดาษต่อไป ทุกอย่างต้องชะลอหมด โดยรวมประเทศไทยยังแย่ต่อไป และต้องทนกันต่อไป”พรศิลป์ กล่าว
เช่นเดียวกับ ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่เห็นว่า ตลาดท่องเที่ยวในประเทศสูญเสียโอกาสทางการตลาด จากกลุ่มราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะหยุดการเดินทางท่องเที่ยวจัดการประชุมสัมมนา (ไมซ์) คิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 30% จากรายได้ทั้งหมด
ขณะที่ ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) การไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ จะกระทบต่อการขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายการผลักดันให้ประเทศไทยมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาท ใน|ปี 2558 เป็นไปได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ แผนการเจรจาตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 ประเทศไทยจะตกขบวนจากสุญญากาศทางการเมืองยาวนาน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน