จาก โพสต์ทูเดย์
เปิดคำพิพากษาศาลแพ่งฉบับเต็ม ไม่เพิกถอนพรก.ฉุกเฉิน แต่สั่งห้ามนำประกาศ-ข้อกำหนดตามพรก.9ข้อมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.เวลา 15.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ 275/2557 ที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม , ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะรองผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ในบางอำเภอ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 และ 11 เมื่อวันที่ 23 มกราคม โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น
โดยการออกประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องกีดกั้นการใช้สิทธิของโจทก์ในการชุมนุมรวมทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มีการประกาศยุบสภาแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จึงได้เป็นเพียงรักษาการณ์ ประกอบกับเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยย่อมได้รับประโยชน์ทับซ้อน จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม
นอกจากนี้ท้ายคำฟ้องยังขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้มีการดำเนินการตามประกาศหรือข้อกำหนด 12 ข้อ ประกอบด้วย 1.ห้ามจำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน
2. ห้ามจำเลยทั้งสามมีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์หรือวัตถุอื่นใดที่ใช้ในการชุมนุมของโจทก์
3. ห้ามจำเลยทั้งสามออกคำสั่งตรวจค้น รื้อถอน หรือทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดขวางของโจทก์
4. ห้ามจำเลยทั้งสามสั่งการให้การซื้อขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภคฯ ที่อาจใช้ในการชุมนุมของโจทก์ต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
5.ห้ามจำเลยทั้งสาม สั่งการห้ามกระทำการที่เป็นการปิดการจราจร เส้นทางคมนาคม หรือกระทำการที่ไม่อาจใช้เส้นทางได้ตามปกติ ในทุกเขตพื้นที่ ที่โจทก์ใช้ในการชุมนุม
6.ห้ามจำเลยทั้งสามประกาศ กำหนดพื้นที่ที่ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
7.ห้ามจำเลยทั้งสามสั่งการห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม ที่ใช้ในการชุมนุม
8.ห้ามสั่งโจทก์ใช้อาคารหรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ
9.ห้ามจำเลยทั้งสามสั่งให้โจทก์และประชาชนที่ร่วมกันชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุม หรือออกคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่การชุมนุม
10. ห้ามจำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์
11.อนุญาตให้โจทก์และประชาชนทั่วไปใช้หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดได้
12.อนุญาตให้โจทก์ใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือจอดยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดได้
ขณะที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าการชุมนุมของโจทก์กับพวกได้ยืดเยื้อเป็นเวลานานมีการปิดศูนย์ราชการและเดินขบวนปิดเส้นทางในกทม.รวม 14 เส้นทาง รวมทั้งมีการตัดไฟฟ้าและประปา จึงส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนและยังมีการจัดการรักษาความปลอดภัยแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมายบ้านเมือง และก่อนการประกาศได้เกิดเหตุรุนแรงที่ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมารวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ขณะที่ในการชุมนุมมีการใช้ประทัดยักษ์และระเบิดปิงปอง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แม้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากบุคคลใด แต่ก็ได้มีการปลุกระดม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจัดทำให้เกิดการจลาจลระหว่างการชุมนุม และตำรวจกับผู้ชุมนุม จึงไม่ได้เป็นไปโดยสงบ ดังนั้นฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด จึงต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อวันที่ 21 ม.ค.
ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้องได้เพราะการออกข้อกำหนดบางส่วนได้กระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่ได้มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และ3 อ้างว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแพ่งนั้นเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2553 ไว้ว่าการใช้อำนาจออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มิได้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ดังนั้นศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และ 3 ขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ออกประกาศและข้อกำหนด โดยเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเท่านั้น เห็นว่า เมื่อนายกฯได้ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้วก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบขึ้นมาโดยให้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนาจการและเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นรองผอ.ศรส. ดังนั้นหากการออกประกาศและข้อกำหนดเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 2 และ 3 ย่อมจะไม่พ้นความรับผิดชอบด้วย
ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานนั้น ฝ่ายโจทก์ได้มีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯสมช. เบิกความสอดคล้องกันทำนองว่า การชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมสืบเนื่องจาก 3 ข้อ
1. ฝ่ายรัฐบาลได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เห็นว่าจำเลยที่ 1 น่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับคดีทางการเงินด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เคยเป็นผู้ที่ถูกอายัดบัญชีทรัพย์สิน 982 ล้านบาท จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้านบาท
2. การเสนอแก้กฎหมายเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ
3. การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หลังจากนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค. 56 แล้ว ยังได้มีการพยายามที่จะกู้เงินจำนวน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อไปแก้ไขปัญหาโครงการจำนำข้าว ซึ่งทางป.ป.ช.ได้มีการรวบรวมหลักฐานและแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 1 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา157
การชุมนุมของโจทก์และประชาชน เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัย กรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ผู้สมัครสส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องว่าการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯกปปส.กับพวกตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 56 เป็นการล้มล้างการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ซึ่งได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 68
ขณะที่ยังได้ความจากนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า ช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้มีเหตุเกิดความรุนแรงที่บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ฝ่ายบริหารได้เพิกเฉยและไม่ได้มีการติดตามหาผู้กระทำผิด โดยโฆษกศรส.ได้ออกมาแถลงว่าน่าจะเป็นการก่อเหตุของมือที่ 3 หรือฝ่ายตรงข้าม โดยการออกประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นไม่ได้เป็นเพื่อการควบคุมและแก้ปัญหาสถานการณ์ แต่ใช้เป็นเครื่องมือกีดกันเสรีภาพการชุมนุมของโจทก์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
การออกประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นแม้ว่าฝ่ายบริหารจะมีอำนาจดำเนินการได้แต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปด้วยความเป็นธรรม เสมอภาครวมทั้งการดำเนินการใดๆของฝ่ายบริหารจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักดังกล่าวมีความสำคัญศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐานปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าการชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธแล้ว โจทก์และผู้ชุมนุมก็ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประกาศและข้อกำหนดที่ออกมาเช่นการห้ามเข้าอาคาร สถานที่ การใช้ยานพาหนะและเส้นทางจราจร รวมทั้งการอพยพจากพื้นที่การชุมนุม ย่อมเป็นการละเมิดและกระทบต่อสิทธิของโจทก์และผู้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้นประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และผู้ชุมนุม
โดยเมื่อโจทก์และประชาชนได้ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้กำลังหรืออาวุธสลายการชุมนุมได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในขณะนี้ว่า มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้ามาในกทม. เพื่อเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ศาลจึงเห็นควรมีคำพิพากษาเพื่อคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
พิพากษาว่า ห้ามจำเลยทั้งสามนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมาใช้บังคับ เพื่อจะออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชนนับแต่วันที่ 21 ม.ค.57
รวมทั้งไม่ให้จำเลยทั้งสามกระทำการดังต่อไปนี้ รวม 9 ข้อ
1. ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.63 วรรคหนึ่ง
2.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามมีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุบโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนของโจทก์และประชาชน
3.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวางของโจทก์และประชาชน
4.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการ ให้การซื้อขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการชุมนุมของโจทก์และประชาชน
5.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการ ห้ามกระทำการอย่างใดๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในทุกเขตพื้นที่ที่โจทก์และประชาชนใช้ในการชุมนุม
6.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามประกาศกำหนดพื้นที่ที่ห้ามมีการชุมนุมของโจทก์และประชาชนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
7.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะของโจทก์และประชาชนในการชุมนุม
8.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งห้ามโจทก์และประชาชนใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ
9.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งห้ามให้อพยพโจทก์และประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุม และห้ามมิให้ออกคำสั่งห้ามโจทก์และประชาชนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม
อย่างไรก็ดีในองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 5 คน มีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย 2 คน มีความเห็นแย้งโดยเห็นว่า ควรจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับที่อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 57 เนื่องจาก เห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการออกมาเพื่อมุ่งใช้บังคับบุคคลบางกลุ่ม คือโจทก์และผู้ชุมนุม ซึ่งในการชุมนุมศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมที่ออกมาคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นการลิดรอนสิทธิของโจทก์และผู้ชุมนุมตามกฎหมาย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน