จากประชาชาติธุรกิจ
วิกฤตเรียกคืนรถยนต์ทั่วโลก นอกจากจะทำลายชื่อเสียงด้านคุณภาพของโตโยต้าแล้ว ยังกลายเป็นบทเรียนราคาแพงอย่างแท้จริง ส่วนจะแพงแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ประเมิน
เอพีระบุว่า เนื่องจากมีกรณีใหม่ๆ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน ดังนั้นการคาดการณ์มูลค่าความเสียหายสุดท้ายสำหรับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ราย นี้จึงเป็นการคำนวณที่มีนักวิเคราะห์บางส่วนเท่านั้นพยายามจะทำ
ตัวเลขจากโตโยต้า ที่เปิดเผยพร้อมกับผลกำไรประจำไตรมาสเดือนตุลาคม-ธันวาคม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ระบุว่า การเรียกคืนรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมียอดประมาณ 8.5 ล้านคัน มีมูลค่าสูงถึง 180 พันล้านเยน หรือราว 2 พันล้านดอลลาร์ โดย 100 พันล้านดอลลาร์เป็นค่าซ่อมแซม และอีก 80 พันล้านดอลลาร์เป็นการสูญเสียยอดขาย โดยบริษัทระบุว่า การเรียกคืนอาจทำให้บริษัทเสียยอดขายทั่วโลกไป 100,000 คัน
ขณะเดียวกันบรรดานักวิเคราะห์ได้ประเมินตัวเลขความเสียหายรวมไว้ สูงกว่านั้น โดยโคเฮอิ ทาคาฮาชิ จากเจพี มอร์แกน คาดว่า โตโยต้าจะเสียหายทันที 500 พันล้านเยน หรือราว 5.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงค่าจัดการด้านคดีฟ้องร้องและต้นทุนที่เกี่ยวกับการเรียกคืนรถยนต์ พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจในรอบบัญชีต่อไป ที่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ จากเดิม 760 พันล้านเยน เหลือ 540 พันล้านเยน หรือ 5.9 พันล้านดอลลาร์
ด้านดอยช์ ซิเคียวริตี้ ประเมินว่า การเรียกคืนรถยนต์จะส่งผลกระทบราว 290 พันล้านเยน หรือ 3.2 พันล้านดอลลาร์ต่อผลกำไรรอบปีบัญชีต่อไปของโตโยต้า
ทั้งนี้นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โตโยต้าเรียกคืนรถยนต์ในสหรัฐไปแล้วกว่า 6 ล้านคัน เพราะปัญหาคันเร่งและเบรก และนับถึงล่าสุดมีคดีฟ้องร้องโตโยต้าอย่างน้อย 89 คดี ซึ่งอาจทำให้บริษัทสูญเสียเงินอย่างน้อย 3 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป
แมคไควรี ซิเคียวริตี้ ระบุว่า ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาสาธารณชน น่าจะทำให้ส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐของโตโยต้าลดเหลือประมาณ 13% ในรอบไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคม จากระดับ 17% ในช่วงก่อนมีการเรียกคืนรถยนต์ ทั้งนี้คลีฟ วิกกิ้นส์ นักวิเคราะห์ของแมคไควรี่ ซิเคียวริตี้ ประเมินว่าส่วนแบ่งการตลาดของโตโยต้าในปีหน้าจะตกลง 1.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 17.9% ซึ่งหมายความว่าบริษัทจะขายรถยนต์ได้น้อยลง 144,900 คัน และทำให้สูญเสียยอดขาย 3.3 พันล้านดอลลาร์
ท่ามกลางข่าวไม่ดีในช่วงที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ระบุว่ายังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับโตโยต้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่โตโยต้าประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนในช่วงปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทำนายว่าผลกำไรจะเติบโตอย่างมากในปีนี้ เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน ขณะที่งบบัญชีของโตโยต้ายังคงแข็งแกร่ง ด้วยสินทรัพย์เงินสดมูลค่า 23.6 พันล้านดอลลาร์ นับถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีกลาย
นาริยุกิ มัตซึชิมา นักวิเคราะห์รถยนต์ของซิตี้กรุ๊ป โกลเบิล มาร์เก็ตส์ ญี่ปุ่น จัดเรตติ้งหุ้นโตโยต้าไว้ที่ "ซื้อ/เสี่ยงปานกลาง" โดยอธิบายว่า เป็นหุ้นที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว พร้อมระบุว่า โตโยต้าได้ประกาศแผนรับมือกับการเรียกคืนรถยนต์ และกำลังดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันที และคิดว่าเรื่องราวการเรียกคืนน่าจะค่อยๆ หายไปภายในเดือนเมษายน หากบริษัทสามารถแก้ไขปัญหา พร้อมๆ กับสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า
นับถึงปัจจุบัน มาตรการส่งเสริมการขายของโตโยต้าส่งผลดี โดยดีลเลอร์รายงานยอดขายที่เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนนี้ หลังจากยอดขายโตโยต้าร่วงลง 9% เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โตโยต้ายังคงคาดว่าจะกวาดผลกำไรสุทธิ 80 พันล้านเยน หรือ 885 ล้านดอลลาร์ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม จากที่เคยขาดทุนสุทธิ 437 พันล้านเยนเมื่อปีกลาย