รื้อโครงสร้างภาษี เศรษฐีขนหน้าแข้งไม่ร่วง!!
โดย : สาวิตรี รินวงษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วงสัปดาห์ผ่านมา มีข่าวกระทรวงการคลังเสนอแนวทาง ปรับโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เลยไปถึงภาษีมรดก รับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใน 3 ข้อ คือ ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ สร้างความเป็นธรรม และสร้างรายได้ให้รัฐ กลายเป็น "แรงกระเพื่อม" ของสังคม กับคำถามที่ว่า...ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น จะตอบโจทย์ 3 ข้อที่ คสช. ให้ไว้ได้จริงหรือไม่ ?
บนพื้นฐานการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง "ทุกแปลง" โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ เป็นเกณฑ์
กำหนดโครงสร้างภาษี ไว้ 3 อัตรา แบ่งเป็น
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เก็บในอัตรา 0.1% และที่ดินเพื่อการเกษตร เก็บในอัตราไม่เกิน 0.05%
ในกรณีที่ที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ความควรแก่สภาพที่ดิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกเก็บในอัตรา 0.05% ของราคาประเมินที่ดิน และ หากยังไม่ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ให้เพิ่มภาษีอีก "หนึ่งเท่า" ทุกๆ สามปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมินที่ดิน
ทั้งนี้หากมีการจัดเก็บภาษีตามโครงสร้างนี้จริง ย่อมจะทำให้เจ้าของ "สิ่งปลูกสร้าง" มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือมาก สำหรับผู้มีรายได้มากย่อมจะกระทบน้อย เพราะมีความสามารถในการชำระภาษีมากกว่า หรือแม้กระทั่งที่ดินเพื่อการเกษตรที่ "บางราย" มีที่ดินไว้เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพจริงๆ ในอดีตไม่เคยต้องจ่ายภาษี
แต่หนนี้ "จำต้องจ่าย"
อีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องจับตาคือบรรดาเจ้าของที่ดิน หรือ แลนด์ลอร์ด ผู้มั่งคั่งสั่งสมที่ดินไว้ทั่วประเทศจะหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสนไร่ บางแปลงความเจริญยังไปไม่ถึง จึงยังไม่มีการพัฒนา คราวนี้ก็เตรียมเสียภาษี 0.05%
แต่ที่ต้องร้อนๆ หนาวๆ คือกรณีที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์ เจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น "เท่าตัว" ทุกๆ สามปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมินที่ดิน
ในเรื่องนี้ "วสันต์ คงจันทร์" กรรมการผู้จัดการ โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ กล่าวไว้น่าสนใจว่า การเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า 0.05% ไม่กระทบต่อ "ราชันย์ที่ดิน" มากนัก เพราะเมื่อดีดลูกคิดคำนวณคร่าวๆ พบว่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่าบางแปลงราคา "สูงกว่า" ราคาประเมินของรัฐค่อนข้างมาก เมื่อเทียบมูลค่าหรือผลตอบแทนถือว่า "มาก" กว่าการจ่ายภาษีให้รัฐด้วยซ้ำ
แม้ที่ดินดังกล่าวที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ จะถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเท่าตัว ฟังดูเป็นตัวเลขที่ต้องฉุกคิด แต่ดูเหมือนอัตราที่ว่านี้จะยังมี "ช่องโหว่" เพราะแลนด์ลอร์ดสามารถพัฒนาที่ดินได้ทันทีด้วยการนำต้นไม้ พืชไร่ต่างๆ ไปปักปันไว้เสมือนหนึ่งมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่
เท่านี้การจ่ายภาษีก็ "น้อยลง" จากเท่าตัว เหลือเพียง 0.05% ได้แล้ว
"คิดคร่าวๆ กรณีแลนด์ลอร์ดมีที่ดิน 2 แสนไร่ ราคาซื้อขายจริง 2 แสนบาทต่อไร่ สูงกว่าราคาประเมินจริงที่ 5 หมื่นบาทต่อไร่ รวมมูลค่าที่ดินราว 1 หมื่นล้านบาท จะต้องเสียภาษีเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น หากไม่นำมาใช้ประโยชน์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเท่าตัวไม่เกิน 2% จะต้องจ่ายภาษีมากถึง 200 ล้านบาท"
แล้วใครจะอยากจ่าย!!
ดังนั้นหากรัฐจะงัดไม้แข็ง ยึดหลัก "ผู้มีรายได้" ต้อง "เสียภาษี" ตามหลักสากลโลก แต่การทำหน้าที่ "พลเมือง" ของบรรดาเศรษฐีไทย
ถึงอย่างไรก็ขนหน้าแข้งไม่ร่วง!!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน