พัฒนาคุณภาพบัญชี เพื่อตลาดทุนไทยเติบโตยั่งยืน
โดย : ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“งบการเงิน” เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงฐานะทางการเงินผลการดำเนินงานรวมถึงความมั่นคงของบริษัท
ทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ติดตามว่าบริษัทที่ตนลงทุนมีคุณภาพทางการเงินเป็นเช่นไรก.ล.ต.จึงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและพัฒนาคุณภาพงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มีการแสดงข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในการตัดสินใจและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดทุน
การพัฒนาคุณภาพงบการเงินต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการจัดทำงบการเงิน ทั้งบุคลากรภายในบริษัท และบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาช่วยดูแลงบการเงินคือ ผู้สอบบัญชีโดยทุกฝ่าย จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของตนเอง เช่น กรรมการและผู้บริหารต้องจัดสรรทรัพยากรและบุคคลากรให้เพียงพอ ในการจัดทำบัญชีรวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ทำบัญชีของบริษัทได้รับการฝึกอบรมมาตรฐานการบัญชีใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
กรรมการตรวจสอบมีบทบาทสำคัญในการให้แนวนโยบายเพื่อให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงิน และคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพมีประสบการณ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของบริษัท อีกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคือผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน หรือCFO(Chief Financial Officer)CFO มีความรับผิดชอบโดยตรงในการจัดทำบัญชีของบริษัท จึงต้องมีความรู้เรื่องมาตรฐานและการจัดทำบัญชี ในเรื่องใหม่ ๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน REIT ฯลฯ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงคุณภาพของข้อมูล ที่เปิดเผยในงบการเงินเพื่อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ
ผู้สอบบัญชีเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาดูแลคุณภาพงบการเงิน มีหน้าที่สนับสนุนให้งบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีโดยผู้สอบบัญชีจะเข้ามาตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อความถูกต้องของงบการเงินเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล (information asymmetry)อันอาจเกิดจากคุณภาพการจัดทำงบการเงินโดยบริษัท โดยผู้สอบบัญชีที่จะมาทำหน้าที่สอบบัญชีให้กับบริษัทจดทะเบียน จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามที่กำหนด
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. สนับสนุนการเสริมสร้างคุณภาพในงานสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนให้ได้มาตรฐาน โปร่งใส น่าเชื่อถือ ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลจนได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิก International Forum of Independent Audit Regulator (IFIAR) ตั้งแต่ปี 2553 การบัญชีและการสอบบัญชีของประเทศไทยก็ได้รับการประเมินว่ามีคุณภาพดีเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย โดย Asian Corporate Governance Association (ACGA) ในปี 2555 และ 2556
รวมถึงคณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับมาตรฐานการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนไทย และอนุญาตให้ผู้สอบบัญชีไทยตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัท ที่เสนอขายหลักทรัพย์ในยุโรปได้ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป นั่นคือผู้สอบบัญชีของไทยสามารถตรวจสอบ และรับรองงบการเงินของบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ในยุโรปได้ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
การพัฒนาคุณภาพงบการเงิน เป็นงานที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นภารกิจสำคัญ ที่จะต้องประสานความร่วมมือกัน ทั้งบุคลากรของบริษัทผู้สอบบัญชี และ ก.ล.ต. เพื่อคงความเป็นมาตรฐาน รองรับพัฒนาการที่จะเกิดในอนาคต และเพื่อการยอมรับในสากลอย่างต่อเนื่อง ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชีฯ จึงร่วมกันจัดโครงการอบรมCFO ที่เน้นเรื่องการดูแลการจัดทำรายงานทางการเงินและโครงการ “สร้างผู้สอบบัญชีตลาดทุน” เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สร้างผู้สอบบัญชีเพื่อรองรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีความพร้อมระดมทุนในตลาดทุนเพื่อ เตรียมความพร้อมให้ตลาดทุนไทยแข่งขันได้ทั้งในภูมิภาคและในระดับสากล
โดยโครงการอบรมCFOมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้CFO ซึ่งเปรียบเสมือนด่านแรกในการกลั่นกรองคุณภาพของงบการเงินสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆในรายงานทางการเงิน มาตรฐานทางบัญชีเพื่อให้สามารถจัดทำงบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าของกิจการและลดความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลทางการเงินที่ผิดพลาด
ก.ล.ต. ยังได้ริเริ่มโครงการ “สร้างผู้สอบบัญชีตลาดทุน” เพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดทุน เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบให้สอบบัญชีในตลาดทุนยังมีจำนวนไม่เพียงพอ มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ปฏิบัติงานอยู่ 5,000 คน แต่มีผู้สอบบัญชีที่สามารถสอบบัญชีในตลาดทุนเพียง 145 คน ในขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนประมาณ 600 บริษัท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ตลาดทุนได้รับความสนใจให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนของกิจการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การส่งเสริมให้มีผู้สอบบัญชีในตลาดทุนมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณงานจากบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องจำเป็น ก.ล.ต. จึงร่วมมือกับสภาวิชาชีพบัญชีฯ จัดโครงการนี้เพื่อพัฒนาผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีให้มีคุณภาพและมีปริมาณมากขึ้น โดยจะคัดเลือกผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีนอกตลาดทุนเข้าร่วมโครงการ มีการอบรม เข้าไปตรวจเยี่ยมเพื่อให้คำแนะนำ และพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสำหรับสำนักงานที่ให้บริการด้านการตรวจสอบและการสอบทานงบการเงิน(TSQC 1 : Thai Standard on Quality Control 1)ซึ่งในการเตรียมความพร้อมนี้ ผู้สอบบัญชีแต่ละรายอาจใช้เวลา 12เดือน เนื่องจากเราเน้นเรื่องคุณภาพ มากกว่าการเร่งให้มีผู้สอบบัญชีมากๆ
โครงการนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีให้สามารถรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีแนวโน้มจะเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนมากขึ้นด้วย สอดคล้องกับแนวคิดการจัดตั้งกระดานเอสเอ็มอีที่จะเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนที่เป็นAccredited Investorsเช่น ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายบุคคลมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซื้อขายได้เท่านั้น โดย ก.ล.ต. อาจผ่อนปรนคุณสมบัติบางประการให้ผู้สอบบัญชีกลุ่มนี้เช่น ประสบการณ์งานสอบบัญชี ขนาดของกิจการที่เคยตรวจสอบ แต่จะยังคงกำหนดให้ต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีและปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชี
ที่ผ่านมา คุณภาพงานสอบบัญชีในตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับในเวทีสากลอย่างต่อเนื่องนะครับ การส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดและเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพ จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ทุกภาคส่วนพร้อมรับการขยายตัวของตลาดทุนไทยในอนาคตและช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้รับข้อมูลงบการเงินที่มีคุณภาพอันจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการและตลาดทุนไทยยิ่งขึ้นไปครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน