จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “วางแผนภาษีมรดก และการส่งมอบความมั่งคั่ง” ซึ่งนับเป็นหัวข้อที่ได้รับการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลาย...“ASTVผู้จัดการ รายวัน” จึงตัดทอนเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจจากวิทยากรท่านหนึ่ง “ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร” ประธานชมรมคนออมเงิน มาแบ่งปัน ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มความกระจ่างชัดในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งมีแง่คิดในการจัดการดูแลทรัพย์สินต่อไป
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดก
..เท่าที่ติดตามข่าวก็ทางกรมสรรพากรได้ยกร่างเสร็จแล้วในขณะนี้ กำลังส่งร่างไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เสร็จแล้วก็จะเสนอ ครม. ก็คิดว่าจะเป็นในเดือนนี้ ก็หมายความว่าจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วก็ออกเป็นกฎหมายซึ่งก็น่าจะทันในปีนี้ อัตราภาษีก็คือ 10% เก็บจากไหน ก็ลองมาดูจากประวัติศาสตร์กัน ประเทศไทยเคยมีกฎหมายภาษีมรดกออกมาฉบับหนึ่งในปี 2487 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกมาได้ประมาณ 10 ปี ก็ยกเลิกไป สาเหตุก็บอกว่าจัดเก็บได้น้อยบ้าง มีคนต่อต้านบ้าง
การจัดเก็บก็มีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน วิธีที่ 1 เก็บจากมรดกตกทอดทายาท วิธีที่ 2 เก็บจากกองมรดก และวิธีที่ 3 เก็บทั้งจากต้นทาง ปลายทาง ก็คือ เก็บจากกองมรดกด้วย เก็บจากมรดกตกทอดทายาท
อันนี้ถ้าตัวกฎหมายจริงออกมาก็อาจจะต้องมาดูอีกครั้ง แต่ตามข่าวก็บอกว่าจะเก็บจากทรัพย์สินที่มีทะเบียน ก็จะเป็นไม่ว่า บ้าน ที่ดิน คอนโดฯ ยานพาหนะ หุ้น พันธบัตร กองทุนต่างๆ ส่วนกรณีทรัพย์สินไม่มีทะเบียน เช่น พระเครื่อง นาฬิกา ศิลปะโบราณคดี อาจจะยังไม่ได้อยู่ในข่าย เพราะว่าหาหลักฐานกันค่อนข้างยาก
ผมดูตรงนี้ หากมีการยกเว้นพวกโบราณวัตถุ หรือภาพวาด เมื่อกฎหมายออกมาจริงๆ คนไทยคงหันไปเก็บภาพวาดปิกัสโซ ภาพละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐกันหมด
นอกจากนี้ ก็มีคำถามว่าทองคำต้องเสียภาษีมรดกหรือไม่ คือถ้าเป็นทองรูปพรรณที่คุณซื้อมาสวมใส่โดยไม่มุ่งหากำไร เป็นเครื่องประดับของใช้ส่วนตัวก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเป็นกองทุนทอง เป็นโกลด์ ออปชัน เป็นตราสารก็คงจะต้องเสียภาษี
ต่อไปสินทรัพย์ในต่างประเทศต้องเสียภาษีมรดกหรือไม่ อันนี้เท่าที่ทราบ เมื่อทรัพย์สินอยู่ในประเทศไหนก็ให้เสียภาษีของประเทศนั้น อย่างเช่น ถ้าลูกไปเรียนหนังสือที่ลอนดอน ก็เลยไปซื้ออพาร์ตเมนต์ที่ลอนดอน ถามว่าเสียภาษีหรือไม่ คือตอนนี้ถ้าเทศบาลเมืองลอนดอน มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน คุณก็ต้องจ่ายตรงนั้น แต่ว่าถ้าขายแล้วนำกลับมาจะเสียภาษีมรดกหรือเปล่าต้องรอดูตอนกฎหมายออกมา ซึ่งก็คงไม่เกิน 2 เดือนจากนี้
มุมมองหลักการจัดเก็บภาษีมรดก
ต่อไปมาดูเรื่องหลักการในการจัดเก็บภาษีมรดก คือ หนึ่ง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดเก็บได้เท่าไหร่ เพราะเป็นภาษีตัวใหม่ สอง รัฐบาลไม่ได้หวังว่าภาษีมรดกจะเป็นรายได้หลัก เพราะอะไร...จำนวนผู้ที่ต้องเสียไม่น่าจะมาก อย่างที่บอกกว่าคนจะเสียก็คือ ได้มรดกเกินกว่า 50 ล้าน มีลูก 3 คน ได้คนละ 50 ล้าน นั่นหมายถึงคนคนนั้นจะต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 150 ล้าน...ถามว่าในประเทศไทยเรามีคนที่มีเงินเป็น 100 ล้านสักเท่าไหร่ ผมว่าในจำนวนประชากร 67 ล้านคน อาจจะมีไม่ถึง 1% ที่มีทรัพย์สินเกิน 100 ล้าน มันไม่เหมือนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนไทยทุกคนต้องเสีย ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น ถ้าคนที่อยู่ในข่ายมันมีนิดเดียว จะนำมาเป็นรายได้หลักมันก็พูดยาก
สาม หวังว่าจะเป็นการมาตรการในการกระจายทรัพย์สู่ประชาชน สี่ ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บอาจจะเท่ากับภาษีที่จัดเก็บได้ อันนี้ เมื่อเช้าผมเจอคนสิงคโปร์คนนึง เขาถามผมว่า “เมืองไทยจะเก็บภาษีมรดกหรือ ประเทศสิงคโปร์ยกเลิกการจัดเก็บไปเมื่อปี 2007” ผมก็ถามว่า “ทำไม” เขาตอบว่า “ต้นทุนการจัดเก็บสูงมาก”
และห้า ภาษีมรดกเป็นภาษีใหม่ ทั้งผู้จัดเก็บ และผู้เสีย ยังไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการบริหารการจัดเก็บที่ดี และการเตรียมการกันมากสมควร
อุปสรรค-ปัญหา
นอกจากตัวหลักการของทางรัฐบาลแล้ว ผมเองก็มีประเด็นที่เป็นห่วงเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดกอยู่เช่นกัน
หนึ่ง การบริหารการจัดเก็บ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการจัดตั้งทีมขึ้นมา ต้องมีการลงทุน ซึ่งสมัยนี้สิ่งที่ต้องลงทุนมากที่สุดก็คือ ระบบซอฟต์แวร์ที่มูลค่าการลงทุนสูง อย่าง..ถ้าเราเป็นบริษัท ประกันชีวิตสักแห่ง เราจะออกรมธรรม์มาฉบับหนึ่ง ต้องคิดต้องไปคำนวณค่าเบี้ยออกมาว่าจะเป็นเท่าไหร่ แล้วถ้าคุณลงทุนไป 10 ล้านบาท แล้วขายกรมธรรม์นั้นได้เพียง 1 ล้านฉบับ เท่ากับต้นทุนก็หน่วยละ 10 บาท...แต่ถ้าเป็นกลุ่ม ยูนิตใหญ่อย่างพวก AIA เขาลงทุน 10 ล้าน แล้วขายกรมธรรม์ได้ 100 ฉบับ ต้นทุนหน่วยละ 10 สตางค์ ฉะนั้น ถ้าภาษีมรดกออกมาแล้วเก็บคนกระจุกหนึ่ง กับภาษีเงินได้เก็บคน 67 ล้านคน ต้นทุนในการจัดเก็บจะไม่เหมือนกัน
สอง ข้อมูลที่ใช้ในการจัดเก็บยังไม่มีการสำแดง หรือเปิดเผย อย่างภาษีเงินได้ จะมีข้อมูลผู้รับ มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย มันมีข้อมูลเยอะ แต่ภาษีมรดก จะเอาข้อมูลมาจากไหน รัฐบาลก็บอกว่า พวกคุณต้องสำแดงกันละ แล้วสำแดงยังไง ในเมืองไทยมีคนทีต้องไปยื่นเกี่ยวกับบัญชีสินทรัพย์ ก็คือคนที่จะไปเป็นรัฐมนตรี อย่างเราๆ เคยไปยื่นมั้ย...ไม่เคย หรือจะบอกว่าโฉนดที่ดินก็มีข้อมูลอยู่ กรมที่ดินก็บอกว่า เมืองไทยมีโฉนดอยู่ 35 ล้านฉบับ แต่มีเพียง 7 ล้านฉบับเท่านั้นที่กำหนดราคาประเมิน อีก 28 ล้านฉบับ ยังไม่ได้กำหนดราคาประเมิน แล้วอย่างนี้จะไปตีค่ากันได้ยังไง ผมก็ไม่รู้
สาม อุปสรรถทางด้านกฎหมาย คือ กฎหมายออกมาเป็นตัวกฎหมายเองสัก 20 กว่าหน้า แต่เป็นกฎกระทรวง เป็นกฤษฎีกา ประกาศกระทรวง คำสั่งอธิบดี อีกรวมๆ แล้วเป็นพันหน้าเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น กฎหมายเนี่ยออกมาแล้ว ไม่ใช่ออกมาฉบับเดียวแล้วมันจะเดินหน้าได้ แต่มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก
สี่ ยังมีปัญหาเรื่องผู้จัดการมรดก และผู้ครองทรัพย์มรดก เป็นเรื่องของกองมรดกที่ยังไม่แบ่ง จะมีการจัดเก็บอย่างไร เพราะตอนนี้รายได้จากกองมรดกก็เสียภาษีอยู่แล้ว
และห้าภาษีการยกให้ ซึ่งเป็นภาษีตัวหนึ่งที่เก็บยากมากทีเดียว สหรัฐฯประเทศที่เก็บภาษีเก่งที่สุดในโลกนี้ เรื่องกฎหมายภาษีเขาแรงมาก ไม่มีหมดอายุความ ขนาดอัลคาโปน ไม่ได้เสียภาษีมา 40 ปี ไม่ได้ตายเพราะเรื่องค้าเหล้า ค้าของเถื่อน แต่มาตายกับกฎหมายภาษี ฉะนั้น ตรงนี้ที่ขนาดสหรัฐอเมริกาเองยังเก็บยาก แล้วไทยที่จะเก็บนี่จะทำกันยังไง
ประเด็นการจัดการ-ข้อสังเกต
แล้วก็ยังมีข้อสังเกตอีกบ้างสำหรับการที่จะมีการจัดเก็บภาษีมรดก อย่างขณะนี้รัฐบาลมีการจัดเก็บภาษีต่างๆ อยู่แล้ว 11 ประเภท ก็มีเงินได้จากตรงนั้นอยู่มากพอสมควร แล้วยังมีความจำเป็นที่จะประเภทที่ 12 อีกรึเปล่าก็ว่ากันไป ขณะที่ประเทศอื่นมีการยกเลิกจัดเก็บภาษีประเภทนี้ อย่าง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย
นอกจากนี้ การที่จะออกภาษีมรดก จะต้องออกภาษีอีกตัวควบคู่กันด้วย คือ ภาษีการยกให้ เพราะถ้าไม่ออก ภาษีมรดกจะกลายเป็นหมันไปเลย ก็คือ คนจะยกทรัพย์สินให้ลูกหลานก่อนตาย เพื่อไม่ต้องเสียภาษีมรดก แล้วเรื่องการจัดเก็บภาษีการยกให้ ก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่ายาก
อีกเรื่องก็คือ เมื่อจะมีภาษีนี้เกิดขึ้น สิ่งที่อาจตามมาก็อาจมีการโยกย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ อันนี้เกิดขึ้นแล้วกับนิวซีแลนด์ และไต้หวัน เอาเงินไปเก็บที่ฮ่องกง สิงคโปร์กันหมด เพราะถ้าอยู่ก็ต้องเสียภาษี ถามว่าเคยเกิดขึ้นประเทศไทยมั้ย...เมื่อสัก 35 ปีมาแล้ว ตอนที่ไซ่ง่อนแตก ถัดมาอีก 2 เดือน ลาวแดงเข้าไปยึด สปป.ลาว อีก 1 เดือนถัดไป เขมรแดงยึดเขมร พอรอบๆ บ้านไปหมดเหลือแต่ไทย คนก็เริ่มโยกเงินออกไปต่างประเทศกันแล้ว ตอนนั้นที่ดินขายกันถูกๆ ก็มี
แล้วก็กรณี...หากต้องเสียภาษีมรดก แล้วคนที่ได้รับไม่มีเงินก็อาจต้องขายสมบัติเพื่อมาเสียภาษี อันนี้เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา...อเมริกาเป็นประเทศที่เก่งทางการเกษตร ที่สุดในโลก คนอเมริกัน 100 คน เป็นเกษตรกรแค่ 4 คน แต่ก็สามารถผลิตผลผลิตเลี้ยงคน 100 คนได้ ชาวนา เกษตรกรมีฐานะดี มีพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทีนี้เมื่อมีมรดกตกทอดมาถึงทายาท ก็มีแต่ที่ดิน-ทรัพย์สิน ไม่ได้มีเงินสดมาก พอต้องเสียภาษีก็ต้องขายที่ ทีนี้จะตัดขายเพียงบางส่วนคนซื้อก็ไม่เอา ก็ต้องขายทั้งแปลง พอขายไปแล้วจะซื้อใหม่ก็ซื้อยาก พอมีปัญหาอย่างนี้เกิดมากขึ้น เกษตรกรตัวจริงก็น้อยลง กลายเป็นกลุ่มนิติบุคคลเข้ามาแทนที่ แล้วทำให้ระบบเสีย ผูกขาดราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น
วางแผนรับภาษีมรดก
มาถึงการเตรียมพร้อมวางแผนมรดก เพื่อรองรับกับอนาคตที่จะมีภาษีมรดก...ก็คือ มองที่ทรัพย์สินในอนาคตมากกว่าปัจจุบัน...เวลาซื้อทรัพย์สินก็ซื้อเป็นชื่อ ลูกๆ ไป ก็จะไม่มีภาษีมรดก แล้วถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดการขาย ก็ทำหนังสือมอบอำนาจเก็บไว้ที่ตัวเอง อย่างกรณีที่จะซื้อที่ดิน ต่อไปก็ให้ใส่เป็นชื่อลูก และเพื่อป้องกันการนำไปขาย ก็เก็บโฉนดไว้ หรือจะใส่ชื่อเป็นเจ้าของร่วม ซึ่งเราอาจจะร่วมแค่ 1% อีก 99% เป็นของลูก ก็จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องนำไปที่ไปขายโดยที่เราไม่รู้
นอกจากนี้ ก็ซื้อทรัพย์สินที่เป็นที่ดินให้น้อยลง ถือหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีแทน หรือจะเป็นการตั้งโฮลดิ้ง คอมปานี ทรัสต์ ก็ได้ เพราะคนธรรมดมันตาย แต่บริษัทไม่ตาย แต่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่เอาค้ำประกันอะไรกันจนมั่ว
หรือจะถือเป็นทองคำ เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนมากขึ้น การลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่เก็บภาษีมรดกก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะเข้าไปศึกษามากขึ้น
ท้ายสุด...ที่สำคัญนะครับ จะรวย ต้องรวยอย่างสุขภาพดี และมีความสุข...
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน