ปัญหากิจการ SMEs
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แม้การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท
หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่เคยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเกินกว่า 5 ล้านบาทและรายได้จากการ “ขายสินค้า” และหรือ “การให้บริการ” เกินกว่า 30 ล้านบาท หรือที่นิยมเรียกกันว่า SMEs ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีปัญหาบ้างประปราย จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา รายได้ของกิจการ SMEs 30 ล้าน รวมรายได้อะไรบ้าง
วิสัชนา คำว่า “ขาย” “สินค้า” และ “บริการ” มีบทบัญญัติเกี่ยวกับนิยามศัพท์ ดังนี้
“ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
“สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น
“บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า
ดังนั้น รายได้ของกิจการ SMEs ในส่วนที่ไม่เกิน 30 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้ “ทางภาษีอากร” ที่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร
1. รายได้จากการ “ขายสินค้า” ได้แก่ รายได้จากการขาย “สินค้าที่มีเพื่อขาย” หรือการขายสินค้าอันเป็นปกติธุรกิจของกิจการ เท่านั้น อาทิ การขายสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งไม่รวมถึงการขาย “ทรัพย์สิน” หรือ “เศษซาก” หรือ “ผลพลอยได้จากการผลิตที่ไม่นับเป็นสินค้าที่มีเพื่อขาย”
2. รายได้จากการ “ให้บริการ” ได้แก่ รายได้จาก “การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า” ประกอบด้วย
(1) รายได้จากการให้บริการทุกชนิด เช่น ค่านายหน้า ค่าบริการการใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ค่าบริการเช่าทรัพย์สิน ค่าบริการวิชาชีพ ค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ค่าบริการการใช้พื้นที่ ค่าบริการอื่นใด
(2) รายได้การกระทำใดๆ อันก่อให้เกิดรายได้ อาทิ ผลได้จากทุน เช่น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืม
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ค) ผลประโยชน์ที่ได้จากการเพิ่มทุน และการลดทุน รวมทั้งการควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน