สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร

การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตามที่รัฐบาล ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

(ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 เพื่อยกเลิกความในมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความใหม่แทน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 (วันถัดจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา) เป็นต้นไป จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีเหตุผลอย่างไรในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว

วิสัชนา เจตนารมณ์หรือเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้แสดงไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 กล่าวคือ โดยที่มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้การขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียให้ยื่นคำร้องขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นบทบัญญัติในลักษณะทำนองเดียวกันทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย สมควรปรับปรุงระยะเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าว

ปุจฉา บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีข้อความอย่างไร

วิสัชนา ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ยกเลิกความในมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 63 บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

บุคคลใดที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีแต่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้วนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้”

ปุจฉา การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวมีผลต่อการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร

วิสัชนา นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้ผู้มีเงินได้ยื่นคำร้องขอคืน ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

กรณีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และหรือมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

1. สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีนั้นคืนตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย

(2) กรณีที่ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วนั้น ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้อง (ตามขอ ค.10) เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้วนั้นคืน ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร (2)

ขอนำประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา บทบัญญัติมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร มีผลใช้บังคับกับการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายด้วยหรือไม่

วิสัชนา โดยทั่วไปบทบัญญัติมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วน 2 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร นั้นเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่เฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณหักภาษีเงินได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่า ตามความในมาตา 63 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีผลใช้บังคับกับการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายด้วย แต่ทั้งนี้ เฉพาะการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร หรือการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เท่านั้น ไม่รวมถึงการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา บทบัญญัติมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ที่แก้ไขใหม่ ในส่วนที่มีผลใช้บังคับกับการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร คือข้อความส่วนใด และมีข้อความอย่างไร

วิสัชนา บทบัญญัติแก้ไขมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ในส่วนที่มีผลใช้บังคับกับการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร คือข้อความวรรคแรก ซึ่งมีข้อความดังนี้

“มาตรา 63 บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด”

ปุจฉา การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวมีผลต่อการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร

วิสัชนา นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ยื่นคำร้องขอคืน ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ จึงให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีนั้นคืน ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เมื่อพ้นกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การขอคืน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประมวลรัษฎากร

view