จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน
เชื่อว่าในปี 2558 จะเป็นปีที่การดำเนิน “นโยบายการเงิน” มีความ “ท้าทาย” เป็นอย่างมาก
และคงเป็น “โจทย์ยาก” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้ง 7 ท่าน จะต้องคิด วิเคราะห์ กันอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจใดๆ ออกไป
เวลานี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ “แบงก์ชาติ” ปรับ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยหยิบยกเหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่คาด หลายหน่วยงานเริ่ม “หั่น” ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตลง
แม้แต่แบงก์ชาติเองก็ออกมา “ปรับลด” ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งในปี 2557 และ 2558 ลง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5% ในปี 2557 และ 4.8% ในปี 2558 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ประกาศตัวเลขคาดการณ์ใหม่ โดยปรับลดตัวเลขปี 2557 เหลือเติบโตเพียง 0.8% และในปี 2558 ปรับลงเหลือ 4%
นอกจากนี้ “เงินเฟ้อ” ก็ลดแรงกดดันลงอย่างมาก โดยประมาณการใหม่ของแบงก์ชาติในปี 2558 ปรับลดเหลือ 1.2% จากเดิมคาดการณ์ไว้สูงถึง 2.1% ซึ่งประมาณการใหม่ที่ลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงฮวบฮาบ และทั้งหมดนี้เป็นแรงกระทุ้ง ที่ถูกส่งไปยังแบงก์ชาติเพื่อให้มองถึง “ทางเลือก” ในการ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลง
แต่ทว่า.. หากมองยาวตลอดทั้งปีแล้ว มีหลายปัจจัยที่ “เร่งเร้า” ให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทย “ปรับขึ้น” ได้เช่นกัน โดยเฉพาะแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” ที่คาดการณ์กันว่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่กลางปีนี้เป็นตัวไป
นอกจากนี้ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจ แม้หลายหน่วยงาน จะปรับลดประมาณการเติบโตในปีนี้ลง แต่ตัวเลขคาดการณ์ส่วนใหญ่ที่ประเมินกันไว้ยังสูงในระดับ 3.5-4% ขึ้นไป เรียกว่าเป็นตัวเลขที่เริ่มใกล้เคียงศักยภาพเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ คงทำให้ กนง. ทั้ง 7 ท่าน ต้องคิดและวิเคราะห์กันอย่างหนัก ก่อนจะตัดสินใจใดๆ ออกไป แต่ถ้า “จับสัญญาณ” จากทางฟาก “แบงก์ชาติ” แล้ว ผมยังเชื่อว่า โอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายจะลดมีค่อนข้างน้อย
ผมมีโอกาสได้ถามไถ่ถึง "ความท้าทาย" ของการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2558 กับ “คุณผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินของแบงก์ชาติ ..โดย “คุณผ่องเพ็ญ” ยอมรับว่า ในปี 2558 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะ “ประสิทธิผล” ของ "นโยบายการเงิน" ในสภาพการณ์แบบนี้ “มีค่อนข้างต่ำ”
คุณผ่องเพ็ญ บอกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าประมาณการ คนจะรู้สึกว่าต้องลดดอกเบี้ยลง แต่นั่นเป็นเพราะเขายัง “ไม่เข้าใจ” ใน “ประสิทธิภาพ” ของ “นโยบายการเงิน” ซึ่งในบางสถานการณ์ นโยบายการเงินไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้
“เมื่อรู้ว่าไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ เราก็ต้องเก็บเอาไว้ใช้ในเวลาที่จำเป็นจริงๆ เพื่อที่การใช้จะได้เกิดประสิทธิผล” คุณผ่อนเพ็ญบอกเช่นนั้น
นอกจากนี้ เท่าที่แบงก์ชาติสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ พบว่า ต้นทุนเรื่องดอกเบี้ยถือเป็นอุปสรรคท้ายๆ เพราะปัญหาใหญ่ของเขาตอนนี้ คือ ขายของไม่ได้ เป็นปัญหาในด้านธุรกิจ ไม่ใช่ปัญหาจากดอกเบี้ย
คุณผ่องเพ็ญ ย้ำด้วยว่า “ลดดอกเบี้ยวันนี้ ถามว่าคนจะลงทุนหรือไม่ ลดดอกเบี้ยแล้วคนจะบริโภคเพิ่มหรือไม่ การลดดอกเบี้ยในภาวการณ์แบบนี้ อาจเป็นกุญแจที่ไม่ถูกดอก”
ได้ฟังเช่นนี้.. คงพอคาดเดาได้ว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม โอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงมี “น้อยมาก” หรือถ้าจะลดก็คงต้องรอให้สถานการณ์สุกงอมเต็มที่ แบบว่าลดแล้วต้องเกิดประสิทธิผล ไม่เสียของ!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน