จากประชาชาติธุรกิจ
โรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคหัวใจโรคไต โรคมะเร็ง ภัยร้ายเหล่านี้ล้วนเป็นชื่อโรคที่คนทั่วไปคุ้นเคย และขยาดหวาดกลัว เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากเอ่ยถึง "โรคตับ" หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะประเมินว่าตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากอายุยังน้อย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และยังหมั่นสรรหาวิตามินนานาชนิดมาดูแลตนเองอยู่เสมอ
แต่หารู้ไม่ว่าจากการเปิดโผสถิติปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคตับจำนวนมาก และพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งโรคไขมันพอกตับ ตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยสถิติมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้ชาย และเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาตับที่ถูกต้อง และที่สำคัญปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคในตับ ไม่ได้มีแค่เพียงประเด็นการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เพราะวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่กินดีอยู่ดีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะโภชนาการไม่สมดุล ความเครียดจากสภาพแวดล้อม และความกดดันจากรอบด้านในชีวิตยุคใหม่ ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารและตับ
ดังนั้น สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคตับจึงมีทั้งจากด้านโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมุนไพร ยารักษาโรค และวิตามินต่าง ๆ จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงจากโรคร้ายอื่น ๆ อาทิ โรคเบาหวาน หรือโรคเอสแอลอี เป็นต้น
เดิมทีการตรวจโรคตับนิยมอัลตราซาวนด์เป็นหลัก ซึ่งมีช่องโหว่ตรงที่ไม่สามารถบ่งชี้อาการของโรคในระยะแรกเริ่มได้ แต่ในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวล้ำทำให้เกิด "ไฟโบรสแกน (Fibro Scan)" เทคโนโลยีล่าสุดที่สามารถตรวจวัดภาวะพังผืด และปริมาณไขมันสะสมในเนื้อตับได้ตั้งแต่ในระยะอนุบาลได้อย่างไม่ต้องเจ็บตัว เพื่อป้องกันภาวะไขมันพอกตับ อันเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งของการก่อให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ
ในทางการแพทย์หากมองไปถึงทางเลือกทางป้องกันอื่น ๆ เกี่ยวกับโรคตับ เมื่อสอบถามไปยัง นายแพทย์ณัฐวุฒิ สิริมนตาภรณ์ แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้เชี่ยวชาญโรคตับและทางเดินอาหาร ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า
"โรคไขมันในตับยังไม่มียารักษา แต่สามารถหายขาดได้ด้วยวิธีที่ทุกคนรู้กันดี แต่ไม่ค่อยมีใครยอมทำนั่นคือ การควบคุมอาหาร แอลกอฮอล์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับการป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งสามารถติดต่อทางสารคัดหลั่งได้ เรื่องประจำวันอย่างการรับประทานอาหารก็ควรที่จะใช้กฎกินร้อน ช้อนกลางเข้ามาช่วย นอกจากนี้ ยังสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนในด้านการชวนเชื่ออื่นที่ว่าสามารถขับสารพิษ ไขมัน หรือสิ่งไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ออกจากตับ ในฐานะแพทย์ตับ ไม่สนับสนุนให้ทำ เนื่องจากหากอิงตามข้อเท็จจริงแล้วการกระทำเช่นนั้นไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดเลย"
อย่างไรก็ดี สำหรับในบางรายที่พบว่าตนเองเป็นโรคตับแล้ว ก็ควรไปพบแพทย์และดูแลตนเองอยู่เสมอ เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้วถ้าถึงคราวต้อง "เปลี่ยนตับ" บอกได้เลยว่าต้องกุมขมับกันอย่างแน่นอน เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนตับถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายต้องพร้อม
ตัวอย่างกรณีของ "เพ็ญศรี แซ่โค้ว" เจ้าของบูราโน่ รีสอร์ท สวนผึ้ง ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมานานถึง 20 ปี ก่อนจะส่งผลลงมายังตับ ทำให้เกิดโรคตับแข็งรุนแรงถึงขนาดที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ
"ในตอนนั้นคุณหมอแจ้งว่า การเปลี่ยนตับเป็นทางเดียวที่จะทำให้มีชีวิตรอด มันเหมือนอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกระหว่างเตียงกับโลง เพราะที่ผ่านมามีแต่ทรงกับทรุด เราและครอบครัวจึงตัดสินใจสู้ให้ถึงที่สุด กระทั่งได้ผ่าตัดเปลี่ยนตับเมื่อวันที่ 9 กันยายนปีที่แล้ว ซึ่งใช้เวลาผ่าถึง 11 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่าย 4 โมงเย็นถึงตี 3 ของอีกวันหนึ่ง ราว 5 เดือนหลังผ่าตัดเหมือนเรามีชีวิตใหม่เลยทีเดียว อยากให้คนที่เป็นโรคตับอย่ากลัว อย่าท้อ รีบปรึกษาหมอเลย อย่านิ่งนอนใจ"
นายแพทย์ณัฐวุฒิผู้ดูแลเคสดังกล่าวบอกว่า "กรณีคุณเพ็ญศรีคือหนึ่งในความสำเร็จที่แท้จริงของการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เพราะการหาตับที่เข้ากับคนไข้ได้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และการเปลี่ยนตับก็ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านเข้าร่วมด้วย ทั้งระบบหัวใจ ระบบไต ระบบเลือด ระบบทางเดินหายใจและการติดเชื้อ และอื่น ๆ อีกมาก ถือเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย นอกจากนี้ คนไข้ต้องสู้ด้วยเพราะนอกจากเจ็บตัวจากการผ่าตัด ยังต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะติดเชื้อ ซึ่งคุณเพ็ญศรีปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้เป็นอย่างดี"
เห็นอย่างนี้คงยืนยันภาษิตที่ว่า "อโรคยาปรมาลาภา" ได้เป็นอย่างดี
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน