จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย เชอรี่ประชาชาติ cheryd@gmail.com
ปัจจุบัน "สมาร์ทโฟน" กลายเป็นอุปกรณ์ติดตัวของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว บ้างก็ว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายคนเราไปโน่นเลย เพราะคนที่พกไว้ข้างตัวตลอดเวลาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คาดว่ายอดขายสมาร์ทโฟนในปีนี้จะมีสัดส่วนถึง 80-90% ของยอดขายโทรศัพท์มือถือโดยรวม จากทั้งหมด 18-20 ล้านเครื่อง
คนยุคนี้ ตื่นขึ้นมาก็ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูก่อนล้างหน้าแปรงฟัน ถึงเวลานอนในแต่ละคืนก็ต้องหยิบขึ้นมาดูก่อนถึงจะหลับลงได้
ว่ากันว่า อิทธิพลของโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้เราติดหนึบอยู่กับเจ้าสมาร์ทโฟน ถึงกับมีคนเรียกขานผู้คนในยุคสมัยนี้ว่า เป็นชนเผ่าก้มหน้า เพราะก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่ที่หน้าสมาร์ทโฟนมากกว่าจะเงยหน้าขึ้นมองโลกรอบตัว หรือพูดคุยกับคนรอบข้าง
การห้ามใจไม่กดเข้าโซเชียลเน็ตเวิร์ก "เฟซบุ๊ก" ยากกว่าเลิกเหล้าบุหรี่เสียอีก
ไม่เฉพาะแค่การสื่อสาร
"ยูทูบ" เพิ่งเข้ามาเปิดตัวในเมืองไทย เมื่อ 9 เดือนที่แล้ว และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาหลายล้านชั่วโมงในการดูวิดีโอผ่านเครือข่าย "ยูทูบ" และมากกว่า 1 ใน 3 รับชมผ่านสมาร์ทดีไวซ์ (ทั้งแท็บเลต และสมาร์ทโฟน)
ตั้งแต่ยูทูบเปิดตัวในไทย จำนวนการชมวิดีโอบนช่องพาร์ตเนอร์ของยูทูบเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว
คนรุ่นใหม่ดูรายการโทรทัศน์ผ่าน "ยูทูบ" มากกว่านั่งดูจากจอโทรทัศน์
การเปลี่ยนระบบการแพร่ภาพออกอากาศของรายการโทรทัศน์ในบ้านเราจากระบบแอนะล็อกเป็น "ดิจิทัล" ไม่ได้มีผลอะไรกับคนในยุคสังคมก้มหน้า
การสำรวจของยูทูบประเทศไทยพบด้วยว่า 87% ของคนไทยเปิดยูทูบเป็นอันดับแรกเมื่อต้องการค้นหาวิดีโอ และ 50% ใช้ยูทูบระหว่างรับชมรายการโทรทัศน์ด้วย
ช่วงเวลาที่มีการรับชมสูงสุดอยู่ระหว่าง สองทุ่มถึงห้าทุ่ม มีปริมาณ 40 ล้านครั้ง แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามความนิยมได้เป็น 10 หมวดหมู่ ได้แก่ เพลง, ความบันเทิง และคนดัง, ภาพยนตร์, ตัวอย่างภาพยนตร์, เฮฮา, เกมโชว์, การ์ตูนและการแสดงสำหรับเด็ก, ชีวิตดราม่า, ท่องเที่ยว และแนะนำวิธีทำต่าง ๆ (How to)
ผู้ชายชอบดูกีฬาและตัวอย่างภาพยนตร์มากที่สุด ส่วนผู้หญิงชอบดูเรื่องความสวยความงาม และ How to
หากแบ่งตามช่วงอายุจะพบว่า อายุ 16-24 ปี ชอบดูวิดีโอที่คนทั่วไปสร้างขึ้นมาเอง ส่วนกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปชอบดูข่าวและเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเป็นพิเศษ
"อริยะ พนมยงค์" ผู้บริหาร กูเกิล ประเทศไทย เจ้าของ "ยูทูบ" บอกว่า แนวโน้มการรับชมวิดีโอผ่านยูทูบของคนไทยในปี 2558 นี้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 อีกอย่างมหาศาล
ปัจจุบันประเทศไทยมีคนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์พีซีมากกว่า 33 ล้านคน ผ่านโทรศัพท์มือถือ 44 ล้านคน เพราะเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมีการพัฒนาขึ้นมา ขณะที่อุปกรณ์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มีราคาถูกลงมาก เมื่อราคาสมาร์ทโฟนเหลือแค่ 1-2 พันบาท ยิ่งผลักดันให้การรับชมคลิปวิดีโอผ่านยูทูบเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ไม่ยาก
"ยูทูบ" จึงกลายเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์
ไม่แปลกที่แบรนด์สินค้าต่าง ๆ จะลุกขึ้นมาทำการตลาดออนไลน์ผ่านยูทูบ แม้ว่าการสคิป (Skip) ข้ามโฆษณาจะเป็นสิ่งที่คนดูยูทูบควบคุมได้เอง
สิ่งที่นักการตลาดต้องให้ความสำคัญ คือทำอย่างไรให้คนดูไม่กดข้ามโฆษณา
"วัชรพงษ์ ศิริพากย์" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานแบรนด์คอมมิวนิเคชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของโฆษณาชุด The Power of love ที่มียอดการรับชมถึง 17.5 ล้านวิว เป็นอันดับหนึ่งจากการจัดอันดับของ Youtube Ads Leaderboard ประจำปี 2557 พูดถึงเคล็ดลับการทำหนังโฆษณาให้ประสบความสำเร็จว่า "ด้วยพฤติกรรมของคนดูทีวี และบนสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมือนกัน การทำโฆษณาจึงต้องคิดให้ต่าง เพราะการทำโฆษณาบนสื่อออนไลน์อย่างยูทูบ จะมีเวลาแค่ 5 วินาทีเท่านั้นที่ต้องทำหนังให้โดนใจคนดูเพื่อไม่ให้กดข้าม"
"โฆษณา ยุคนี้ไม่ใช่แค่ Content is King แต่เป็นยุคของ Customer is the god อำนาจอยู่ในมือผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ผู้บริโภคเลือกได้เดี๋ยวนั้นว่าจะดูหรือไม่ดูโฆษณา"
ดังนั้นภายใน 5 วินาทีแรกต้องทำให้คนอยากรู้ว่า จะมีอะไรต่อ
จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทยระบุว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา มูลค่าการโฆษณาออนไลน์อยู่ที่ 5,863 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 38% คิดเป็นสัดส่วน 4.82% ของเงินโฆษณาทุกรูปแบบ
ปัจจุบันแบรนด์ต่าง ๆ มีแนวโน้มทำโฆษณาออนไลน์มากขึ้นด้วย เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันไม่ได้รับสื่อผ่านช่องทางหลักอีกต่อไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับสื่อ "มัลติสกรีน" เป็นหลัก
การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของจำนวนคนใช้สมาร์ทโฟนทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปอีกต่อไป
ไม่เฉพาะทีวี หรือการทำโฆษณาเท่านั้น
รีบเปลี่ยนก่อนที่จะโดนบังคับให้ต้องเปลี่ยน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน