สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเก็บภาษี

การเก็บภาษี

โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ได้มีการพูดกันว่ารัฐบาลควรเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาพัฒนาประเทศให้ขยายตัวเร็วยิ่งขึ้น

และเพื่อให้รัฐบาลนำรายได้ดังกล่าวที่เก็บจากคนรวยมาใช้จ่ายและจัดสรรให้คนจน เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ปัจจุบันรัฐบาลเก็บภาษีได้ประมาณ 17-18% ของจีดีพี แต่อยากเก็บให้ได้ 20% ของจีดีพีใน 2-3 ปีข้างหน้าและมองว่าประเทศพัฒนาแล้วเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของจีดีพี รัฐบาลจึงมีเงินมากพอที่จะนำไปพัฒนาประเทศและลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน


วันนี้ผมขอนำเอาตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาเปรียบเทียบให้ดูและหาข้อมูลทางวิชาการมาพยายามตอบคำถามว่าสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีที่เหมาะสมนั้นควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งข้อสรุปคือปัจจุบันเข้าใจว่ายังไม่มีใครคำนวณว่าสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ แต่หากให้ประเมินก็จะต้องสรุปว่าอาจจะไม่ได้สูงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ได้ ที่สำคัญคือในหลักการแล้วหากรัฐบาลคิดจะตั้งเป้าว่าจะเก็บภาษีให้ได้เป็นสัดส่วน 20 หรือ 25 หรือ 30% ของจีดีพี ก็ควรจะต้องศึกษาในเชิงวิชาการและแจ้งให้ประชาชนทราบว่าสัดส่วนภาษีใดเหมาะสมด้วยเหตุผลประการใดบ้าง กล่าวคือทำไมควรเป็น 25% ไม่ใช่ 20% หรือ 30% ของจีดีพี เป็นต้น


จุดเริ่มต้นคือการดูสัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีในประเทศอื่นๆ ซึ่งผมนำมาสรุปดังปรากฏในตาราง


ผมแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น 6 กลุ่มคือกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้หลักจากการขุดน้ำมันมาขาย ทำให้ไม่ต้องไปรบกวนประชาชนมากจึงเก็บภาษีต่ำมาก เช่น คูเวตและซาอุดีอาระเบีย อีกกลุ่มที่เก็บภาษีไม่ได้มากเพราะขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง เช่น ลิเบีย อัฟกานิสถานและเยเมน และกลุ่มที่ไม่ได้ใส่เอาไว้ในตารางคือประเทศเช่นคิวบาและซิมบับเว ซึ่งมีระบบการเมืองที่เข้มงวดและปิดค่อนข้างมาก ทำให้เก็บภาษี (และควบคุม) ประชาชนเป็นสัดส่วนสูงถึง 45-49% ของจีดีพี


ส่วนที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศในเอเชียที่จนกว่าหรือมีฐานะเทียบเท่าหรือร่ำรวยกว่าไทยนั้นล้วนแล้วแต่จะมีสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น เว้นแต่จีนและมาเลเซียที่เท่ากับไทย (17%) และอินเดียที่สูงกว่าไทยเล็กน้อย (17.1%) แต่น่าสังเกตว่าสิงคโปร์และฮ่องกงนั้นเก็บภาษีเป็นสัดส่วนเพียง 14.2% และ 13% ของจีดีพีตามลำดับ


สำหรับประเทศพัฒนาแล้วนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มที่เก็บภาษีน้อยกว่า เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ แคนาดา และนิวซีแลนด์ (25% ถึง 35% ของจีดีพี) ซึ่งจะเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงกับประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลีและฝรั่งเศส (ภาษีสูงกว่า 40% ของจีดีพี) ซึ่งจีดีพีขยายตัวค่อนข้างต่ำ ยกเว้นเยอรมนีซึ่งได้เปรียบเพราะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรซึ่งหลายประเทศในกลุ่มนั้นเศรษฐกิจเปราะบาง ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อน แต่เศรษฐกิจเยอรมันค่อนข้างแข็งแรงจึงได้ประโยชน์อย่างมากจากเงินยูโรที่อ่อนค่า


ในเชิงวิชาการนั้นพอจะสามารถคำนวณได้ว่าสัดส่วนภาษีเท่าใดจะทำให้จีดีพีขยายตัวได้สูงสุด (optimum tax level to maximize economic growth) เช่น หากภาษีต่ำไปก็จะไม่สามารถป้องกันประเทศ รักษาความสงบและบังคับคดีด้านการพาณิชย์ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้ประชาชนเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถได้ ในกรณีดังกล่าวจีดีพีของประเทศก็จะขยายตัวต่ำกว่าเกณฑ์ แต่หากเก็บภาษีมากเกินไปก็จะเริ่มทำให้จีดีพีขยายตัวต่ำลง เพราะจะมีความพยายามที่จะเลี่ยงภาษีมากขึ้น (รวมทั้งการลดเวลาทำงานและพักผ่อนดีกว่าทำงานเพราะต้องเสียภาษีสูง) ตลอดจนหากรัฐบาลเก็บภาษีจากประชาชนมากก็อาจนำไปใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังและให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการคืนภาษีให้ประชาชนนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ


กล่าวคือในหลักวิชาการนั้นอัตราภาษีที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดนั้นจะต่ำกว่าอัตราภาษีที่จะทำให้รัฐบาลมีรายได้สูงสุด ตัวอย่างเช่น วิทยานิพนธ์ของ Yolande Van Heerden ในปี 2008 เรื่อง Finding the optimum tax ratio and tax mix to maximize growth and revenue for South Africa ต่อมาวิทยาลัย Poetaria สรุปว่าสัดส่วนภาษีที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดนั้นเท่ากับ 18.9% ของจีดีพี (ปัจจุบันสัดส่วนภาษีของแอฟริกาใต้อยู่ที่ 26.9%) แต่หากต้องการเก็บภาษีให้ได้มากที่สุด (tax rate to maximize tax revenue) นั้นสามารถเก็บได้สัดส่วนสูงถึง 56.9% ของจีดีพี


ผมไม่ได้บอกว่าตัวเลขดังกล่าวแม่นยำถูกต้องในรายละเอียด แต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าการจะเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ใดและในรายละเอียดนั้นก็อาจจะต้องคำนึงว่าจะเก็บภาษีประเภทใดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น หากเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะเก็บภาษีได้มาก แต่จะเป็นภาระสำหรับคนจนมากกว่าคนรวย แต่เนื่องจากเลี่ยงได้ยากและเป็นฐานภาษีที่กว้างจึงอาจจะไม่กระทบกับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและทำให้การขยายตัวของจีดีพีไม่ได้รับผลกระทบมากนักหากจะขึ้นภาษีดังกล่าวในสภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เป็นต้น



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเก็บภาษี

view