จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
“มาตรา 286 เรื่องปฏิรูปการศึกษานั้น ระบุเรื่องการลดอำนาจกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระจายอำนาจไปยังโรงเรียน ให้อิสระในรูปแบบนิติบุคคลในโรงเรียนที่พร้อมมากขึ้น นโยบายการศึกษาของรัฐบาลใหม่ต้องไม่กระทบกับแผนปฏิรูปที่มีคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาของชาติควบคุมอยู่”
นี่คือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการศึกษาไทยทั้งระบบ
ตวงขยายความว่า ทิศทางการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ยึดเด็กหรือผู้เรียนเป็นเป้าหมาย อนุหนึ่งของมาตรานี้ลดอำนาจของ ศธ.ลงมา จากผู้จัดการศึกษา เป็นผู้ส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัด โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับติดตาม ประเมิน ควบคุมทิศทาง สนับสนุนให้ท้องถิ่นและเอกชนจัดการศึกษา
“เมื่อ ศธ.เล็กลง อำนาจการบริหารตัดสินใจเรื่องต่างๆ ก็จะไปอยู่ที่จังหวัดและพื้นที่แต่ละแห่ง อยู่กับท้องถิ่นที่เป็นโรงเรียนนิติบุคคลมากขึ้น โครงสร้างของ ศธ.จะเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ เพราะการลดขนาด ลดอำนาจในโรงเรียนที่พร้อมเป็นนิติบุคคลให้จัดการตัวเองได้มากขึ้น เช่น เลื่อนขั้นเงินเดือนครูเองได้ เปลี่ยนผู้บริหารที่ล้มเหลวเพราะผลักดันโรงเรียนได้ต่ำกว่าเป้าที่ทำไว้ได้ จะทำให้มีมืออาชีพเข้ามาบริหารการศึกษามากขึ้น แต่ค่อยๆ เปลี่ยนโรงเรียนที่พร้อมก่อน เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด ประจำอำเภอ หรือเป็นกลุ่มโรงเรียนรวมตัวกัน แต่ไม่ใช่การโอนถ่ายไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น”ตวง กล่าว
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูปรอบนี้ คือ “ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา” ที่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ. รวมถึงการพิจารณาตั้งงบประมาณด้านการศึกษาด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะดูแลเพียงนโยบาย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ศธ.ไม่เห็นด้วย คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. เคยตีกลับร่างกฎหมายในเรื่องนี้เพื่อให้ทบทวนใหม่ โดยเฉพาะกรณีของอำนาจหน้าที่เรื่องการแต่งตั้งปรับข้าราชการระดับสูง การพิจารณาตั้งงบประมาณด้านการศึกษา รวมถึงองค์ประกอบของซูเปอร์บอร์ด เสียงค้านในเรื่องนี้เริ่มดังขึ้นโดยยังมองไม่เห็นทางออกเพื่อลดแรงเสียดทาน
ประเด็นดังกล่าว ตวงกล่าวว่า มีเหตุผลที่ต้องมองในเรื่องนี้ คือการสรุปบทเรียนจากการใช้อำนาจจากการเมือง ที่เมื่อเข้ามาบริหารก็มักโยกย้ายคนของตัวเองมาดำรงตำแหน่งระดับสูงในกระทรวง ส่งผลให้แนวคิดด้านการปฏิรูปต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่การเมืองเปลี่ยน ทั้งๆ ที่นักการศึกษา นักวิชาการด้านการศึกษาต่างทราบดีว่าการปฏิรูปการศึกษาที่จะเห็นผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คือการยึดตามแผนเดิมเป็นเวลาต่อเนื่องนับ 10 ปี แต่ที่ผ่านมาพบว่านโยบายการศึกษาถูกเปลี่ยนทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล
“รอบนี้เราถึงต้องคิดให้รอบคอบ ใครจะมาเป็นรัฐมนตรี ศธ. ก็เข้ามาเปลี่ยนนโยบายแบบฉับพลันเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญทางราชการตามใจชอบไม่ได้ ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย หรือประเทศอื่นๆ ก็เคยใช้แนวคิดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเพื่อไม่ให้นโยบายทางการเมืองกระทบต่อแผนหลักการปฏิรูปที่ต้องทำต่อเนื่อง ใครจะแก้ตรงนี้หรือบอกว่านโยบายของตัวเองคือซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ทำได้ แต่ไม่ง่ายนัก เพราะหมายถึงต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ”ตวง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่องทางที่การเมืองจะเปิดโอกาสให้การเมืองผุดนโยบายตามที่หาเสียงไว้ยังมีเหลืออยู่บ้าง โดยจะต้องตีความเรื่องแนวคิดการสนับสนุนการศึกษาและต้องขอให้สภาอนุมัติ
“แน่นอนแนวคิดนี้ต้องกระทบกับโครงสร้างใหญ่ กระทบกับอำนาจการบริหารแบบเดิมของ ศธ. แน่นอนว่าต้องมีเสียงค้านในเรื่องนี้ แต่อย่าลืมว่าหากกลับข้างคิดนี่จะเป็นการปฏิรูปจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ต่างจากอดีตที่คิดกันถึงโครงสร้างการปกครองที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปอย่างตรงจุดนักและปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องกระทบคนจำนวนหนึ่ง แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะเห็นผลในอีก 10 ปี”ตวง กล่าวทิ้งท้าย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน