วิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ต่อ)
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอนำวิธีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ มาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา การประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียก กรณีผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการ มีหลักเกณฑ์ทั่วไปอย่างไร
วิสัชนา การประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียก กรณีผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. อำนาจในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี (มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร)
2. อำนาจในการประเมินภาษีตามพยานหลักฐานที่ปรากฏตามผลการตรวจสอบ และอำนาจในการแจ้งจำนวนภาษีเงินได้ที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินตาม มาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร กรณี ผู้ต้องเสียภาษีปฏิบัติตามหมายเรียกและให้ความร่วมมือด้วยดี หรือตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง ผู้ต้องเสียภาษีต้องชำระภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 18 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีผู้ต้องเสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก และหรือไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีอากร ให้เป็นอันหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมิน
3. อำนาจประเมินเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร
4. อำนาจประเมินเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ปุจฉา การประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียก กรณีผู้มีเงินได้มิได้ยื่นแบบแสดงรายการ มีหลักเกณฑ์ทั่วไปอย่างไร
วิสัชนา การประเมินตามผลการตรวจสอบตามหมายเรียก กรณีผู้มีเงินได้มิได้ยื่นแบบแสดงรายการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. อำนาจในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี (มาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร)
2. อำนาจในการประเมินภาษีตามจำนวนที่ทราบข้อความตามผลการตรวจสอบ และอำนาจในการแจ้งจำนวนภาษีเงินได้ที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินตาม มาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้ต้องเสียภาษีปฏิบัติตามหมายเรียกและให้ความร่วมมือด้วยดี หรือตามมาตรา 25 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้ต้องเสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกและหรือไม่ให้ความร่วมมือในการ ตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีอากร ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีต้องชำระภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 18 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีผู้ต้องเสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก และหรือไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีอากร ให้เป็นอันหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมิน
3. อำนาจประเมินเบี้ยปรับจำนวนสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร
4. อำนาจประเมินเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน