จากประชาชาติธุรกิจ
"อีคอมเมิร์ซ" สะท้าน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ใหม่คุ้มครอง "ภาพ-คลิป-คอนเทนต์" ออนไลน์ นักกฎหมายเตือน "แชร์-โพสต์" ขายของบน "โซเชียลเน็ตเวิร์ก"เสี่ยงคุก 2 ปี-ปรับ 4 แสน เข้าข่ายใช้เพื่อการค้า ขณะที่ "สาวกโซเชียล" ไม่ต้องตื่นตูมแค่ระบุตัวตนเจ้าของผลงาน แนะ "ไอเอสพี-เว็บโฮสติ้ง-ค่ายมือถือ" ปรับตัวรับมือหวั่นกระทบสิทธิ์ผู้ใช้บริการ
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ 4 ส.ค.นี้ มีผลโดยตรงในการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ที่มีการนำไปใช้บนอินเทอร์เน็ต และเพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศไทยติดอยู่ในบัญชีประเทศที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) จึงปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องหลักสากล
สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ต้องระวังกรณีมีการนำภาพหรืองานลิขสิทธิ์ที่มีการระบุข้อมูลลิขสิทธิ์ว่าทำโดยใคร ไม่ว่าจะเป็นภาพ, คลิป, งานเขียนในทวิตเตอร์, อินสตาแกรม(ไอจี) และเฟซบุ๊ก ไปแชร์ต่อหรืออ้างอิงต้องระบุที่มาด้วย
ทุกอย่าง (ไม่) ฟรีบนอินเทอร์เน็ต
"ตามกฎหมายเดิมไม่ต้องให้ระบุหากเป็นการนำไปใช้ส่วนตัว แต่กฎหมายใหม่ การกด Link กดแชร์ทำได้ตามปกติ แต่ต้องระบุอ้างอิงที่มาให้ชัดเจน ห้ามลบลายน้ำ ลบเครดิตในรูป แต่งสีใหม่แล้วอ้างว่าเป็นของตนหรือไปรีทวีตใครแล้วไปลบชื่อคนที่ทวีตออก ถือว่าดัดแปลงแก้ไขมีโทษปรับ สูงสุด 1 แสนแม้ใช้ส่วนตัว ต้องระบุถึงตัวตนผู้เป็นเจ้าของผลงานด้วยจะระบุแค่มาจากยูทูบ, ทวิตเตอร์ลอยๆ ไม่ได้"
ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ช่วยให้วัฒนธรรมที่คิดว่าทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตเป็นของฟรี เอามาใช้มาตัดต่อหาประโยชน์กันได้อย่างเสรีเปลี่ยนไป และเคารพสิทธิผู้สร้างสรรค์งานมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอ้างอิงทุกครั้งก่อนแชร์หรือโพสต์ อย่างน้อยช่วยให้หลุดพ้นกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ กฎหมายอาญาเรื่องหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
แนะ ISP-ค่ายมือถือปรับตัวรับ
สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี)รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ต ตามกฎหมายใหม่ระบุว่า หากปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่เจ้าของสิทธิ์ไปร้อง โดยยกเลิกและสกัดการเผยแพร่งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับยกเว้นโทษ แต่ที่ต้องเร่งปรับตัวคือ การวางแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า เมื่อมีคำสั่งศาลออกมา ต้องมีขั้นตอนปฏิบัติ และการตรวจสอบอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิ์ผู้ใช้บริการ คาดว่าจะมีคดีฟ้องร้อง ทำให้ไอเอสพีต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการเพื่อไม่ให้มีปัญหา
"เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา เว็บไซต์ และไอเอสพีต้องลบข้อมูลตามที่ระบุไว้ทันที เหมือนกฎหมาย Digital Millennium Copyright Act (DMCA) ของต่างประเทศ ฉะนั้นต้องปรับปรุงข้อสัญญาการให้บริการว่า ผู้ให้บริการจะยกเลิกการให้บริการได้ทันทีหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ตรงนี้ไอเอสพีรายเล็ก เว็บโฮสติ้งโฮสติ้งเซิร์ฟเวอร์ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสัญญาต่างจากรายใหญ่"
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับการแก้ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ์ดีขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มักมีปัญหาในการขอให้ไอเอสพี และผู้ให้บริการมือถือระงับการเผยแพร่งานที่มีการละเมิดสิทธิ์ เพราะกระบวนการที่ยุ่งยาก ซึ่งกฎหมายใหม่ระบุให้ขอให้ศาลสั่งให้ ไอเอสพี นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ลงได้ โดยไม่ต้องเจรจากับไอเอสพีเองแต่เพียงอย่างเดียว
"เป็นสิทธิ์ของเจ้า ของลิขสิทธิ์ว่าจะใช้กระบวนการเจรจากับผู้ให้บริการเพื่อให้นำลงเองก็ได้ หรือใช้กระบวนการทางศาลตามที่กฎหมายใหม่กำหนด แต่จากประสบการณ์ที่ทำคดีพวกนี้มา พบว่าตามที่กฎหมายใหม่ระบุอาจก่อให้เกิดปัญหาพอสมควร เพราะไม่ได้ระบุว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เป็นการให้ภาพกว้าง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาจะมีข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติอะไรเพิ่มเพื่อให้สอดคล้อง กับกฎหมายใหม่ เพราะกฎหมายใหม่ระบุไว้มาตราเดียว ไม่มีรายละเอียด"
"โซเชียลคอมเมิร์ซ" เสี่ยงสุด
กรณีที่ระบุยกเว้นให้สถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ เผยแพร่งานที่ลบหรือเปลี่ยนแปลงการข้อมูลบริหารสิทธิ์ได้ ถือเป็นข้อยกเว้นตามหลักสากลที่ล้อมาจากอนุสัญญาโลกว่าด้วยลิขสิทธิ์ (world copyright treaty) อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการลดทอนสิทธิ์ของเจ้าของลงแต่อย่างใด
"การแก้กฎหมายเพื่อลดการกดดันของอเมริกา และให้ไทยหลุดจากบัญชี PWL โดยแปลถ้อยคำบางอย่างที่เกี่ยวกับการบริหารสิทธิ์ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้กว้างมาก และผมไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดโทษสูงไว้ถึง 2 ปี หากใช้เพื่อการค้า เพราะจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเยอะ เช่น อาจมีคนตีความเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ กลั่นแกล้งหรือใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง"
สำหรับกลุ่มคนที่ต้องระวังที่สุดหลัง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ใหม่มีผลบังคับใช้คือ ผู้ขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากไม่เข้าข่ายเป็นการใช้งานส่วนตัว แม้การแชร์หรือโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอจะอ้างอิงแหล่งที่มาแต่ยังถือว่าละเมิดสิทธิ์เจ้าของผลงาน เพราะเป็นเพจเพื่อการค้าไม่ถือเป็นการใช้เพื่อส่วนตัว
"เจ้าของสิทธิ์เรียกร้องค่าสิทธิ์ได้ก็จะโดนโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เดิม และเพิ่มโทษในส่วนมาตรการทางเทคโนโลยีและข้อมูลการบริหารสิทธิ ถือว่าไปลบหรือเปลี่ยนแปลง มีโทษปรับสูงสุด 4 แสนบาท จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่อุปสรรคยังอยู่ที่การบังคับใช้ ที่น่ากลัวมากกว่าคือกม.ฉบับนี้แปลจากศัพท์เทคโนโลยีค่อนข้างเยอะกังวลว่าจะซ้ำรอย พ.ร.บ.คอมพ์ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ อัยการ ตำรวจ ทนายความ ศาล ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอาจมีปัญหาตีความเหมือนที่เกิดขึ้นกับการตีความ ม.14 พ.ร.บ.คอมพ์ แต่คดีลิขสิทธิ์เป็นคดีที่ยอมความกันได้"
หวั่นผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ด้าน นางภูมิจิตศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้งกล่าวว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ เน้นงานที่เกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ แต่ที่ห่วงคือ กฎหมายไม่ได้ระบุโดยคำนึงถึงเจตนาในการใช้หรือแชร์ข้อมูลเท่าที่ควรจึงอาจ เกิดการกระทำผิดโดยรู้เท่าถึงไม่ถึงการณ์เมื่อภาครัฐไม่ได้ประชาสัมพันธ์ อย่างเพียงพอทั้งที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่จึงอาจทำให้เกิดกรณีการกระทำผิด เพิ่มขึ้นและมองได้ว่าเป็นกฎหมายที่เน้นปกป้องเจ้าของสิทธิ์เกินไปหรือไม่ ทั้งมีทั้งโทษจำคุกและปรับ อาจกลายเป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจนำไปบังคับใช้อย่างไม่ถูกต้อง
"กม.นี้ คุ้มครองเจ้าของคอนเทนต์มากเกินสมควร ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน อีกประเด็นคือการรับสื่อสารของผู้พิการที่จำเป็นต้องนำสารหรือสื่อมาผลิตซ้ำในอีกรูปแบบเพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงได้ ใน กม.ระบุว่าอาจต้องได้รับคำสั่งหรือประกาศจากรัฐมนตรีก่อน ตนมองว่าอาจเป็นการกีดกันการรับรู้ของผู้พิการ กลายเป็นป้องกันสิทธิ์ผู้สร้างจนตัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลของคนอีกกลุ่ม ไม่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์จากข้อมูล หรือครีเอทีฟคอมมอนส์อย่างในต่างประเทศ"
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน