สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปม ไลค์-แชร์-โพสต์ แบบไหนรอด แบบไหนคุก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

 

ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างฝ่ายผู้ใช้อินเตอร์เน็ต กับอีกฝ่ายคือ รัฐบาล ผู้ควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย

โดยเฉพาะประเด็นร้อนล่าสุดอย่าง "กดไลค์เท่ากับอาชญากรรม" หลังจากมีผู้ต้องหาถูกจับในคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพียงเพราะไปกดไลค์กับภาพๆหนึ่งที่มีการแชร์ต่อๆกันมาในโลกออนไลน์

วันนี้ ตำรวจไซเบอร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ต และนักกฎหมายอิสระ จะมาไขคำตอบว่า ไลค์-แชร์-โพสต์ แบบไหนที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

3 กลุ่มความผิด อาชญากรรมทางไซเบอร์

พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รองผบก.ปอท.)  เผยว่า ปัจจุบันความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

เเฮกเกอร์ กลุ่มนี้มุ่งเอาคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเป็นเป้าหมาย ลักษณะเข้าไปบุกรุก ค้น ขโมย ทำลายข้อมูล ทำให้เสียทรัพย์หรือสร้างความเสียหาย สวมรอยหรือนำข้อมูลไปกระทำความผิด ในรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น กรณีอีเมลสแกม หรือการสร้างอีเมลขึ้นมาเลียนเเบบหรือปลอมตัว หลอกลวงกลุ่มคู่ค้าของเจ้าทุกข์ โดยแฮกอีเมล เพื่อเข้าไปรับรู้ความเคลื่อนไหวของผู้ขาย ก่อนจะปรับเปลี่ยนสวมรอยเพื่อลวงกลุ่มลูกค้า ให้โอนเงินเข้ามายังบัญชีใหม่ของคนร้าย โดยความผิดลักษณะนี้ ปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ร้องทุกข์กับปอท.แล้วกว่า 30 ราย

กลุ่มที่ใช้อุปกรณ์หรือระบบคอมพิวเตอร์ เป็นปัจจัยหลักในการก่ออาชญากรรม สร้างเหตุขึ้นมาเพื่อไปหลอกลวงคนอื่น ตัวอย่างชัดเจนคือ พวกลวงขายสินค้าหรือบริการรวมไปถึงการสร้างฝัน และขายฝัน เช่น กลุ่มชาวต่างชาติที่หลอกสาวไทยไปเเต่งงานก่อนจะหลอกลวงเอาทรัพย์ การขายอาวุธสงคราม ฉ้อโกงสินค้าหรือบริการต่างๆ เป็นต้น

“รูปแบบการหลอกลวง มีทั้งตั้งใจกับตกกระไดพลอยโจน บางคนแรกๆ ก็ตั้งใจขายสินค้าโดยสุจริต แต่ต่อมาเมื่อเห็นมีช่องทางที่พอทุจริตได้ ก็หลงผิดเลือกทางนั้น เห็นได้ชัดจากกลุ่มผู้ขายสินค้าออนไลน์ พักหลังรับออเดอร์อย่างเดียว แต่ไม่ส่งสินค้า ซึ่งความผิดในรูปแบบนี้มีการร้องทุกข์มากกว่า 300 รายในปีนี้” 

กลุ่มความผิดทางเว็บไซต์  มีจำนวนนับ 1,000 คดีต่อปี โดยเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ระบุไว้ว่า "ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ " ประกอบด้วย

1.โพสต์หรือเเชร์ข้อมูลที่เป็นเรื่องเท็จหรือปลอมแปลงข้อมูลอันทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

2.โพสต์หรือแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ  เช่นโพสต์ว่าจะมีระเบิดที่นั่นหรือโพสต์ข้อความที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ

3.โพสต์หรือแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงแห่งราชอาณาจักรหรือเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีนี้รวมไปถึงการหมิ่นเบื้องสูงด้วย

4.โพสต์หรือเเชร์ข้อมูลลักษณะลามกที่ประชาชนทั่วไปนั้นสามารถเข้าถึงได้

“ข้อมูลที่ส่งต่อกันในไลน์ทุกวันนี้เป็นความผิดหรือไม่ ขอเรียนว่า หากส่งต่อกันในระดับส่วนตัวนั้นนับเป็นปัจเจก แต่ถ้าส่งในกลุ่ม ถือว่าเข้าข่ายความผิดแน่ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ความผิดนั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งกลุ่มไลน์คอนโทรลไม่ได้และอาจหลุดรอด จนประชาชนทั่วไปเข้าถึง”

"ไลค์-แชร์-โพสต์"ล้วนมีความเสี่ยง

พ.ต.อ.สมพร  บอกชัดว่า แม้กฎหมายจะกำหนดฐานความผิดไว้แค่ในเรื่อง "โพสต์" "เเชร์" และ "คอมเมนต์" แต่สำหรับการ "กดไลค์" แม้ยังไม่เคยมีการตัดสินว่าผิด แต่ทุกคนก็ควรต้องระวัง

“เรื่องกดไลค์ต้องดูข้อเท็จจริงประกอบให้รอบด้าน อาจแสดงให้เห็นว่าเป็นการเชียร์ให้ผู้อื่นกระทำความผิดได้ สังเกตได้ว่ากฎหมายบางตัวเช่น การเเข่งรถบนถนนหลวง  กลุ่มกองเชียร์ก็โดนด้วย ถือว่าสมรู้ร่วมคิด ฉะนั้นการกดไลค์ต้องดูดีๆ อาจเป็นการเเสดงออกว่าเห็นด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่เคยมีใครได้รับโทษจากการกดไลค์ก็ตาม

กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา ไม่ว่าใครก็ตามหากรู้สึกถูกกระทำให้เดือดร้อน ก็สามารถร้องทุกข์ได้ แม้ว่าตัวเองไม่ได้รับความเสียหาย แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปเสียหาย ก็อาจลุกขึ้นมากล่าวโทษได้เช่นกัน ฉะนั้น คนกดไลค์ จึงอยู่ในข่ายที่เจ้าหน้าที่อาจเรียกมาสอบสวนได้"

พ.ต.อ.สมพร  กล่าวว่า เมื่อมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ กระบวนการยุติธรรมจะเริ่มต้นขึ้นโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายจะพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวมีฐานหรือมูลความผิดหรือไม่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง หากทำการสอบสวนสืบสวบแล้วพบว่ามีมูลความผิดจริง ก็จะรวบรวมพยานหลักฐานส่งต่อให้กับอัยการ ซึ่งอาจจะพิจารณาหรือไม่อย่างไร ก่อนส่งให้ศาลตัดสินต่อไป

"ขอแจ้งว่า ผู้ที่กดไลค์ อย่าทะนงตัวว่าไม่มีความผิด เพราะถึงอย่างไร คุณต้องใช้วิจารญาณ มีสติ และพยายามนึกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ถ้าข้อมูลเหล่านั้นมันเป็นเท็จหรือกระทบกระเทือนกับความมั่นคง อาจอยู่ในข่ายที่ต้องมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเชิญตัวมาสอบสวนเพื่อพิสูจน์เจตนาได้ ขณะเดียวกันผู้ที่เข้าร่วมหรืออยู่ในกลุ่มที่นำเสนอข้อมูลเท็จ กฎหมายถือว่ามีส่วนร่วม ภาษาชาวบ้านใช้คำว่ารู้เห็นเป็นใจ ไม่ได้บอกว่า ผิดหรือถูก เเต่อยู่ในข่ายที่อาจถูกกล่าวหาได้เช่นกัน"

พ.ต.อ.สมพร  บอกทิ้งท้ายว่า อนาคตมีความเป็นห่วงในเรื่องการหมิ่นประมาทซึ่งมีแนวโน้นว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากโลกออนไลน์นั้นรวดเร็วและกว้างขวางมาก แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบที่รุนแรงจนเกินจะคาดคิด

“มีผู้ร้องทุกข์เรื่องหมิ่นประมาทในระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลักพัน ซึ่งส่วนใหญ่ทำผิดในลักษณะการให้ร้ายป้ายสีหรือการโพสต์เเชร์ข้อมูลจนอีกฝ่ายได้รับความเสียหาย อยากฝากทุกคนว่า เวลาเราด่าใครเขาเสียหาย บิดเบือนข้อมูลจนสังคมสับสน จนถูกนำไปพูดต่อกันทั้งเมือง แต่พอพิสูจน์ว่าไม่เป็นจริง ความบริสุทธิ์นั้นกลับไม่ได้ถูกส่งต่อเท่ากับความเสียหาย เพราะฉะนั้นทำอะไรต้องคิดให้ดี พึงระวัง อย่าพูดว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์”

กดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม

ภาพรวมเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2558 จากรายงาน Freedom on the net 2015 รายงาน Open Data Barometer เเละรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในสถานะไร้เสรีภาพ โดยได้ 63 คะแนน จาก 100 คะแนน ซึ่งยิ่งใกล้ 100 หมายความว่าเสรีภาพน้อยที่สุด แบ่งเป็น อุปสรรคในการเข้าถึง (0-25) ได้ 9 คะแนน การจำกัดเนื้อหา (0-35) ได้ 22 คะแนน และ การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (0-40) ได้ 32คะแนน

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง เปิดเผยในวงเสวนาเรื่อง สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย ว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยไม่มีเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตเนื่องจากมีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ช่วงหลังจากมีการรัฐประหาร โดยเฉพาะการบังคับใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และดูหมิ่นกษัตริย์ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาไทยมีการจัดทำรายงานเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพเฉพาะปี 2556 เท่านั้น โดยได้ 60 คะแนน

อาทิตย์ มีความเห็นต่อการกดไลค์ว่า ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และหมิ่นกษัตริย์ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้มีความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างที่ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในทำความผิด ซึ่งการกดไลค์ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขใดเลย

“กดไลค์ยังก็ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ แม้จะมีโอกาสที่ระบบซอฟต์แวร์ของสื่อสังคมจะทำการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกดไลค์ต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นเจตนาของผู้กดไลค์ เขาไม่ได้มีอำนาจควบคุมใด ๆ ในการทำงานของซอฟต์แวร์ จะสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็ไม่ได้ มากไปกว่านั้นยังไม่มีอำนาจควบคุมเนื้อหาของข้อความต้นทางที่ตัวเองกดไลค์  ซึ่งสามารถถูกแก้ไขโดยผู้สร้างข้อความนั้น ๆ ได้ทุกเมื่อ ทำให้ข้อความที่แสดงให้เห็น ณ เวลาหนึ่ง อาจจะแตกต่างไปจากเวลาที่ผู้ใช้กดไลค์ก็ได้

รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีความตื่นตัวของพลเมือง ในแง่ของความสงสัยต่อประเด็นสาธารณะมาก อยากให้ยอมรับความเห็นต่าง และควรจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างกว้างขวาง  ไม่อยากเห็นการปราบปรามผู้เห็นต่าง และไม่อยากเห็นการคุกคามการตรวจสอบด้วยข้อหาหมิ่นประมาท"

ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง บอกว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปกดไลค์เพื่อการแสดงออกต่อเนื้อหาที่ชอบหรือไม่ชอบก็ได้ หลายคนมีเหตุผล แตกต่างกัน เช่น หากไม่มีการกดไลค์ก็กลัวว่าจะไม่ได้รับเนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊กนั้นอีก และเท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีประเทศไหนที่บัญญัติให้การกดไลค์มีความผิดทางกฎหมาย

ด้าน ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมพิวเตอร์ มองว่า การใช้สื่อออนไลน์ในการกดไลค์ หรือกดแชร์ เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการกดไลค์ เพื่อแสดงความเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบกับข้อความที่มีคนโพสต์ เป็นส่วนที่สามารถกระทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น แต่ในส่วนของการกดแชร์อาจต้องระมัดระวังเรื่องข้อมูลบางอย่างที่ผิดกฎหมาย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขปม ไลค์ แชร์ โพสต์ แบบไหนรอด แบบไหนคุก

view