จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อ 30 ปีมาแล้ว อดีตรัฐมนตรี ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ได้ประกาศสัจธรรมว่า "ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ" "ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ"
ปัจจุบันสัจธรรมข้างต้นนี้ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมลาง ๆ เมื่อทางการมีนโยบายให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติ ขณะที่เปลี่ยนบทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจ
สาธารณชนคนไทยได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, การวิจัยและพัฒนา, ตลอดจน "นวัตกรรม" บ่อยขึ้น ในถ้อยแถลงตามโอกาสต่าง ๆ ของบุคคลสำคัญ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อย่างน้อยที่สุดก็แสดงว่า เมืองไทยเราเริ่มจะให้ความสนใจต่อเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดของการพัฒนาบ้านเมืองบ้างแล้ว
ปรากฏการณ์ที่หว้ากอเมื่อปีพ.ศ. 2411 ถือว่าเป็นโอกาสแรกที่ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของคนไทยได้กระจายไปทั่วโลกภายหลังจากนั้น นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ถูกนำเข้ามาใช้ในการพัฒนาเมืองไทยไปสู่ความทันสมัย
เมื่อโลกกำลังเข้าสู่มหาสงครามครั้งที่ 2 ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ปลุกจิตสำนึกให้คนไทยได้เห็นความจำเป็นในการสร้างขีดความสามารถทางวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีที่พึ่งตนเองได้มิใช่เพียงการใช้สินค้าและบริการที่ผลิต จากเทคโนโลยีของต่างประเทศเท่านั้น
ต่อจากนั้นมาอีกครึ่งศตวรรษนายดำรงลัทธพิพัฒน์ ก็ได้รื้อฟื้นหลักคิดของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ขึ้นมาเป็นพื้นฐานของนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง "การวิจัยและพัฒนา" ที่จะกระตุ้นให้เกิด "นวัตกรรม" และขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" ที่ได้ริเริ่มในสมัยอดีตรัฐมนตรี ดำรง ลัทธพิพัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเรียกร้องให้ "มีที่ยืน" ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยแลกกับชีวิต
ได้ทำให้ภาครัฐยอมรับว่า งบประมาณสำหรับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิใช่ค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า
ตลอดเวลาสามทศวรรษที่ตามมา ได้เห็นประเทศไทยมีองค์กรที่รับผิดชอบในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การควบคุมดูแลของภาครัฐ ตลอดจนงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นความภาคภูมิใจ ขณะที่มีบุคลากรซึ่งมีคุณวุฒิ Ph.D. ในสาขาวิชาดังกล่าวจำนวนนับพันคน
อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยได้ใช้เวลา 30 ปี ในการเตรียมความพร้อมที่จะสร้างขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีในระดับที่จำเป็นและเหมาะสมสิ่งที่เป็นความต้องการณจุดนี้ ก็คือ "นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National SciencePolicy) ที่มีความชัดเจน เข้มแข็งและเป็นที่เข้าใจของสาธารณชนอย่างถ่องแท้
นโยบายระดับชาติดังกล่าวนี้ จะเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งต้องการส่วนแบ่งของทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งที่เป็นเงินออม เงินลงทุน สติปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ และกำลังคนระดับหัวกะทิจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องที่จะพูดกันอย่างรัว ๆ โดยมิได้มีการอธิบายให้สาธารณชนได้มีความเข้าใจและยอมรับ
อย่างน้อยที่สุด ในเบื้องแรกก็จะต้องชี้แจงความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ
วิทยาศาสตร์ (Science) คือ การศึกษาอย่างมีระบบ เพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติในทุกมิติ เทคโนโลยี (Technology) คือ สิ่งประดิษฐ์ วิธีการ และกระบวนการที่สร้างขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการสำเร็จประโยชน์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออาจเรียกว่า "เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์" (Science-Based Technology) ซึ่งแตกต่างไปจากเทคโนโลยีที่มีมาก่อนวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ (Economy) คือ พฤติกรรมต่าง ๆ ในสังคม ทั้งที่เป็นพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและพฤติกรรมส่วนรวม ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (Production) การบริโภค (Consumption) การแลกเปลี่ยน (Exchange) การออม (Saving) และการลงทุน (Investment) เศรษฐกิจจะเติบโตขยายตัวเมื่อพฤติกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และการนี้จะต้องการเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมทั้งเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สังคม (Social Technology)
"การผลิต" เป็นหัวใจของ "เศรษฐกิจ" ไม่มีการผลิต ก็ไม่มีเศรษฐกิจ การผลิตนั้นมีทั้งการผลิต "สินค้า" (Goods) และการผลิต "บริการ" (Services)
ปัจจัยในการผลิตมีหลายประการ ซึ่ง "เศรษฐศาสตร์ริคาร์โด" (Ricardian Economics) ให้ความสำคัญต่อที่ดิน (Land) แรงงาน (Labour) และทุน (Capital) แต่ในสมัยปัจจุบัน ภายใต้ "เศรษฐศาสตร์ชุมปีเตอร์"(Schumpeterial Economics) และอื่น ๆ เป็นที่ยอมรับกันว่า "ผู้ประกอบการ" (Entrepreure) และ "นวัตกรรม" เป็นปัจจัยหลักของการผลิต อีกทั้งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่โลกได้ประจักษ์ในช่วงเวลาสองสามทศวรรษที่ผ่านมา
ไม่มีผู้ประกอบการและนวัตกรรมก็ไม่มีการผลิตและต้องย้ำอีกว่า ไม่มีการผลิต ก็ไม่มีเศรษฐกิจ
โดยปกติ "ผู้ประกอบการ" น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมาแต่กำเนิด (Inborn) แต่สิ่งแวดล้อมและการฝึกอบรมก็อาจสร้าง "ผู้ประกอบการ" ได้เป็นอย่างดี สำหรับ "นวัตกรรม" (Innovation) ซึ่งหมายถึง การใช้และการพัฒนา "การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจาก "การวิจัยและพัฒนา" ขณะที่ "การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" ซึ่งหมายถึง การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ หรือความคิดใหม่ ๆ นั้นเป็นผลผลิตจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะหากปราศจาก "การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" แล้ว วิทยาศาสตร์ก็เป็นเพียงความรู้ความเข้าใจทางวิชาการ ซึ่งจะมีประโยชน์แต่ในวงจำกัด และก็มิได้ช่วยเหลืออะไรแก่ผู้ใด สำหรับ "เทคโนโลยี" ก็คือ ภาพรวมของทั้ง"การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" และ "นวัตกรรม" เพราะทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเพื่อการสำเร็จประโยชน์ ไม่ว่าจะในบริบทของการพัฒนาหรือในบริบทของการแก้ไขปัญหาก็ตาม
ในขณะที่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจน "การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" ก็ต้องดำเนินไปตามการศึกษาวิจัย ซึ่งโดยปกติจะเป็นความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาชั้นสูง "นวัตกรรม" ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีนัยทางเศรษฐกิจ ต้องการ "การวิจัยและพัฒนา" เป็นการยากมากที่ "นวัตกรรม" จะเกิดขึ้นและบรรลุเป้าประสงค์โดยไม่มี "การวิจัยและพัฒนา" ซึ่งกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน และสามารถประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้นได้ตามสมควร
"การวิจัยและพัฒนา" มุ่งจะประยุกต์ใช้ "การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" ในการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิม ๆ หรือผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ให้บังเกิดผลใน 3 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง สองอย่าง หรือทั้งหมด คือ 1.ลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเดิม 2.เพิ่มคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการเดิม โดยไม่เพิ่มต้นทุนการผลิต 3.พัฒนาสินค้าและบริการเดิมให้สะดวกใช้ หรือมีประโยชน์ในการใช้สอยมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ
เป้าประสงค์ทั้ง 3 ประการข้างต้นนี้ คือสิ่งที่จะรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุถึง ก็หมายถึง ความหายนะทางเศรษฐกิจ (Economic Disaster)
"การวิจัยและพัฒนา" เป็น "การลงทุน" ในระดับชาติ เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและการลงทุนในการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งในระยะเริ่มต้นก็จะเป็นภารกิจของภาครัฐเกือบจะโดยสิ้นเชิง ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็น "การลงทุน" จำนวนมหาศาลที่ไม่อาจคาดหมายในผลสำเร็จ หากก็เป็น "การลงทุน" ที่จำเป็นที่สุดในความคงอยู่ของเศรษฐกิจระดับชาติ
"นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" ต้องการความเข้าใจที่ถูกต้องและถ่องแท้ อีกทั้งความมุ่งมั่น (Determination) ของประชาชาติเป็นส่วนรวม
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน