จาก โพสต์ทูเดย์
ดีเอสไอโต้ "เจ้าคุณเบอร์ลิน" ยันไม่แทรกแซงศาสนจักร ชี้มหาเถรและพศ.มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามลิขิตพระสังฆราช ไม่ใช่เพียงรับทราบ "ธัมมชโย" ต้องอาบัติปราชิก
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงกรณีพระโสภณพุทธวิเทศ (จิตติก์ ญาณชโย) เจ้าอาวาสพุทธาราม เมืองเบอร์ลินประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือ”เจ้าคุณเบอร์ลิน”โพสต์ข้อความในเฟชบุ๊ก พาดพิงดีเอสไอที่ได้มีหนังสือแจ้งไปยังมหาเถรสมาคม (มส.)ให้รื้อฟื้นอธิกรณ์ ที่คณะสงฆ์ได้วินิจฉัยไปแล้วเพื่อใช้กฎนิคหกรรมปรับอาบัติปาราชิกพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกโดยระบุว่าได้ใช้อำนาจฝ่ายอาณาจักรแทรกแซงศาสนจักร และเข้าข่ายชักนำพระสงฆ์ เข้าอาบัติ ซึ่งเป็นอาบัติสังฆาทิเสสและได้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวต่อสาธารณชน
คณะโฆษกดีเอสไอขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวพระสุวิทย์ ธีรธัมโมหรือพระพุทธอิสระได้ยื่นเรื่องเพื่อขอให้ดีเอสไอตรวจสอบและดำเนินการเรื่องต่างๆวัดพระธรรมกายรวม 17 ประเด็น รวมทั้งขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของพระธัมมชโยและเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาตามพ.ร.บ.สงฆ์ในประเด็นที่พระธัมชโยถูกกองปราบปรามดำเนินคดีในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจัดหาซื้อที่ดินและเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนและต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลในปี49และศาลมีคำสั่งถอนฟ้องในคดีดังกล่าว ด้วยระบุว่าพระธัมชโยได้มอบที่ดินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกายซึ่งในทางอาญาในข้อหาดังกล่าวถือว่าคดีสิ้นสุดลงตามกฎหมาย แต่ต่อมาได้มีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกแล้วแต่คณะผู้ปกครองสงฆ์ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
"การสืบสวนของดีเอสไอพบว่าที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542และมีมติมอบเอกสารพระลิขิตให้เจ้าคณะภาค 1 พิจารณา ซึ่งพระลิขิตดังกล่าวมีการนำเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ 15/2542 เมื่อ 26 เมษายน 2542 และครั้งที่ 16/2542 เมื่อ 10 พฤษภาคม 2542โดยที่ประชุมได้มีมติสนองพระดำริให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม และนอกจากนั้นยังมีมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 193/2542ที่ให้สนองพระดำริโดยตลอดให้ชอบด้วยกฏหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม"
คณะโฆษกดีเอสไอ ชี้แจงว่าในประเด็นนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535)มาตรา 8 กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม และในมาตรา 15 ตรี กำหนดให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงามรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และมาตรา 13กำหนดให้ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง ซึ่งตามกฎหมายสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการรับสนองงานตามบัญชาและพระกรณียกิจของพระสังฆราชและประสานงานกับคณะสงฆ์ในการลงนิคหกรรมและตรวจตราถวายคำแนะนำแก่พระภิกษุสามเณร
เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่พบว่าที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีเพียงมติรับทราบ แต่ยังไม่ได้ตัดสินหรือรับรองว่าพระธัมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ อีกทั้งมหาเถรสมาคมและผู้อำนวยการพ.ศก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพรบ.สงฆ์ให้ครบถ้วนทุกประเด็น ซึ่งดีเอสไอจึงมีหนังสือแจ้งผลการสืบสวนและขอทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวและจะได้แจ้งผลการดำเนินการให้ ผู้ร้องทราบต่อไป ยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจฝ่ายอาณาจักรแทรกแซงศาสนจักร
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เชิญเจ้าหน้าที่ดีเอสไอร่วมฟังการชี้แจงการพิจารณาดำเนินการทางวินัยสงฆ์ตามพระธรรมวินัยเกี่ยวกับประเด็นลิขิตสมเด็จพระสังฆราชในประเด็นการอาบัติปาราชิกของพระธัมชโยและจะทำหนังสือชี้แจงดีเอสไอให้รับทราบผลการพิจารณาต่อไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน